เปิด 16 ข้อกำหนดหลังพ.ร.ก.ฉุกเฉิน ทั้งห้าม ให้ ควร เตือน ชี้ถ้าไม่ปฏิบัติอาจยกระดับ

16 ข้อกำหนด หลังประกาศพรก.ฉุกเฉิน มีทั้ง ห้าม-ให้-ควร เตือน ถ้าไม่ปฏิบัติ ข้อกำหนดฉบับที่ 1 นี้จะถูกยกระดับเป็น ฉบับที่ 2 ย้ำ ตอนนี้ ไม่มีเคอฟิว แต่ ถ้าหย่อนยานอาจประกาศได้ ยืนยัน ไม่จำกัดสิทธิเสรีภาพสื่อ ขอสื่อโซเชียลอย่าเฟกนิวส์

เมื่อวันที่ 25 มีนาคม ที่ศูนย์แถลงข่าวโควิด-19 ประจำทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี แถลงถึงข้อกำหนดในการประกาศพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การบริหารราชการในสถานการณ์ ว่า เรื่องนี้สืบเนื่องมาจากมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวานนี้ (24 มีนาคม) ว่าตอนนี้สถานการณ์ถึงขั้นที่จะต้องประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเพื่อจัดการกับปัญหาและสถานการณ์โรคโควิด-19

การประกาศครั้งนี้เป็นการประกาศอาศัยอำนาจ ตามมาตรา 5 แห่งพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 เพราะฉะนั้นกฎหมายแม่บทได้ออกมาเป็นเวลา 10 กว่าปีแล้ว โดยได้เคยประกาศใช้สถานการณ์ฉุกเฉินอย่างนี้ในบางพื้นที่ในประเทศไทยมาแล้ว เช่นในกรุงเทพมหานคร และขณะนี้กำลังประกาศใช้อยู่ในพื้นที่บริเวณสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ จึงไม่ใช่เรื่องใหม่หรือเรื่องแปลก แต่ว่าการประกาศในเวลาที่ผ่านมาเป็นการประกาศเพราะเหตุสถานการณ์ของความไม่สงบเรียบร้อยขึ้นในประเทศ ครั้งนี้เป็นการนำออกมาใช้ในสถานการณ์ที่ต้องต่อสู้กับโรคระบาดเป็นครั้งแรกแต่ก็สามารถทำได้ เพราะว่านิยามของสถานการณ์ฉุกเฉินในกฎหมายนั้นรวมไปถึงภัยสาธารณะและโรคภัยไข้เจ็บทั้งหลายด้วยไม่ใช่แต่เพียงการสู้รบเท่านั้น

ตามกฎหมายดังกล่าวได้กำหนดให้การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินจะต้องกระทำโดยมติคณะรัฐมนตรีซึ่งได้มีมติแล้วเมื่อวานนี้และให้อำนาจนายกรัฐมนตรีเป็นผู้ลงนามในการประกาศซึ่งนายกฯ ก็ได้ลงนามแล้ว และเผยแพร่ประกาศแล้วในวันนี้ แต่จะมีผลจริงในวันที่ 26 มีนาคม นั่นก็คือ จะมีผลเที่ยงคืนของวันนี้เป็นต้นไป ซึ่งการประกาศแต่ละครั้งมีกำหนดเวลาไม่เกินสามเดือนแล้วมาต่อขยายเวลาได้อีกครั้งหนึ่ง ซึ่งการประกาศครั้งนี้ คณะรัฐมนตรีเห็นสมควรให้กำหนดช่วงเวลาไว้ 1 เดือนเศษ คือตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคมจนถึงวันที่ 30 เมษายน 2563 แล้วค่อยประเมินสถานการณ์ต่ออายุเป็นคราวๆ ไป คราวละไม่เกิน 3 เดือน โดยสรุปก็คือเป็นการประกาศใช้ทั่วราชอาณาจักรเป็นครั้งแรก เหตุที่ต้องประกาศใช้ทั่วราชอาณาจักรเพราะเชื้อไวรัสมีการระบาด ตั้งแต่ภาคเหนือจนถึงภาคใต้ จากภาคตะวันออกถึงภาคตะวันตก จึงจำเป็นต้องปิดล้อมสถานการณ์ทั้งหมดเอาไว้

เมื่อประกาศแล้วเราจะอยู่ในระหว่างการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินซึ่งจะไม่เหมือนในสถานการณ์ปกติ เหตุผลที่ต้องรอมีผลใช้ในวันพฤหัสบดีที่ 26 มีนาคม ดูเสมือนจะไม่ฉุกเฉินจริง เหตุผลก็คือภายหลังมีมติจากคณะรัฐมนตรีแล้ว เราจะประกาศปุบปับทันทีไม่ได้ แม้ว่ารัฐจะได้เตรียมในส่วนของเอกสารต่างๆ เอาไว้แล้ว เราก็ต้องให้ประชาชนได้เข้าใจและเจ้าหน้าที่ที่จะต้องปฏิบัติงานต้องรับรู้ เพราะมีทั้งตำรวจ ทหาร ข้าราชการ พลเรือนลงไปถึงท้องถิ่นและประชาชนเองก็ต้องเตรียมตัว จึงต้องเตือนและประกาศบอกให้รู้ พอถึงเวลาแล้วค่อยบังคับใช้จริง นี่เป็นการเตือนให้รู้ล่วงหน้ามากกว่า 24 ชั่วโมง

นายวิษณุ กล่าวว่า ในการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินนั้นกฎหมายได้กำหนดเบื้องต้นไปว่าสามารถที่จะโอนอำนาจของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงตามกฎหมายใดก็ได้มาเป็นของนายกรัฐมนตรี ซึ่งขณะนี้นายกรัฐมนตรีก็ได้รับข้อเสนอจากกระทรวงต่างๆ และก็จะได้มีการออกคำสั่งให้โอนอำนาจของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงตามพระราชบัญญัติ 40 ฉบับในเบื้องต้นมาเป็นของนายกรัฐมนตรี เป็นการโอนอำนาจในการสั่งการเสมือนว่านายกรัฐมนตรีเป็นเจ้ากระทรวง แต่ในความเป็นจริงรัฐมนตรีแต่ละท่านก็ยังเป็นเจ้ากระทรวงอยู่อย่างเดิมไม่ได้หมายความว่าปลดรัฐมนตรีหรือให้รัฐมนตรีพ้นจากตำแหน่งหรือไม่ต้องให้รับผิดชอบ เพราะรัฐมนตรียังต้องรับผิดชอบในกระทรวงและตามพระราชบัญญัติ ตามรัฐธรรมนูญเพียงแต่อำนาจโอนมาเป็นของนายกฯ บางมาตรา หรือบางมาตรการ ซึ่งการโอนอำนาจนี้ก็ได้มีข้อความเขียนไว้ท้ายคำสั่งแล้วว่า ในระหว่างที่นายกรัฐมนตรียังไม่ได้เข้าไปสวมอำนาจและสั่งการเป็นอย่างอื่น รัฐมนตรีที่มีอำนาจอย่างเดิมก็ยังคงปฏิบัติหน้าที่และเจ้าหน้าที่ทั้งหลายยังปฏิบัติตามคำสั่งเดิมทุกอย่าง เพียงแต่นายกรัฐมนตรีจะเข้าไปสวมอำนาจนั้นเมื่อไหร่ก็ได้ตั้งแต่นี้เป็นต้นไปเท่านั้นเอง

คำสั่งฉบับที่สองที่จะออกตามมาก็คือคำสั่งที่เกี่ยวกับการแต่งตั้งผู้รักษาสถานการณ์ กฎหมายกำหนดว่านายกรัฐมนตรีจะเป็นผู้อำนวยการสถานการณ์ทั่วประเทศ และนายกรัฐมนตรีจะตั้งรองนายกฯ ทุกคนเป็นผู้ช่วยในการรักษาราชการแทนนายกฯ เรียงตามลำดับ คือพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ นายสมคิด จาตุสีพิทักษ์ ตน นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รายชื่อเหล่านี้จะเป็นผู้ช่วยนายกฯ ในการเป็นผู้อำนวยการทั่วประเทศ

แต่ความสำคัญจะอยู่ตรงที่ผู้ที่ทำหน้าที่เป็นหัวหน้ารับผิดชอบด้านต่างๆ ในอดีตเรามีหัวหน้าผู้รับผิดชอบเพียงคนเดียว เพราะมีด้านเดียวและจำกัดพื้นที่ แต่ครั้งนี้เราได้ประกาศใช้ทั่วราชอาณาจักร จึงต้องมีแยกหัวหน้าผู้รับผิดชอบ

โดยกำหนดให้ปลัดกระทรวงสาธารณสุขเป็นผู้รับผิดชอบด้านสาธารณสุขทั่วราชอาณาจักร ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นหัวหน้าผู้รับผิดชอบด้านการปกครองเกี่ยวกับผู้ว่าราชการจังหวัด และผู้ว่ากรุงเทพมหานคร ปลัดกระทรวงพาณิชย์เป็นหัวหน้าผู้รับผิดชอบด้านการควบคุมสินค้าไม่ให้เกิดความขาดแคลน ไม่ให้เกิดการขายเกินราคา หรือปลอมแปลง ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เป็นหัวหน้าผู้รับผิดชอบด้านการสื่อสารมวลชนและเทคโนโลยีสารสนเทศ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด เป็นหัวหน้าผู้รับผิดชอบด้านความมั่นคง ดูแลทหาร ตำรวจ กอ.รมน. นอกจากนั้นยังมีหัวหน้าผู้รับผิดชอบในส่วนที่เกี่ยวกับด้านการประสานงานคือ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นโครงสร้างที่อยู่ในคำสั่งฉบับที่สอง นอกจากนี้ยังมีเจ้าหน้าที่ต่างๆ

เหตุที่ตั้งปลัดกระทรวงมาเป็นหัวหน้า เพราะในพระราชกำหนดฉุกเฉิน กำหนดว่า จะต้องมีหัวหน้าผู้รับผิดชอบโดยแต่งตั้งจากข้าราชการประจำ ซึ่งมีตำแหน่งไม่ต่ำกว่าอธิบดี เพื่อประสานงานบูรณาการกับข้าราชการทั่วประเทศ และสามารถสั่งการข้ามกระทรวงได้ อย่างไรก็ตามรัฐมนตรีประจำกระทรวงยังมีหน้าที่รับผิดชอบอยู่ทุกประการ

คำสั่งฉบับที่สามจะเป็นการตั้งศูนย์หรือหน่วยบริหาร คือ ศูนย์บริหารสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาหรือโควิด-19 ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ซึ่งได้มีการยกระดับสูงขึ้นมาเป็น ศอฉ. การตั้งศูนย์นี้ได้กำหนดไว้ว่า ในกรณีจำเป็นเร่งด่วนนายกรัฐมนตรีอาจสั่งการในนามศอฉ. ได้โดยไม่ต้องรอเรียกประชุมคณะกรรมการ และสามารถออกเป็นมติได้เลย ทั้งนี้ภายในศูนย์จะมีการตั้งศูนย์ปฏิบัติการย่อยอีก 5-6 ศูนย์ ในส่วนนี้เป็นเรื่องที่สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติกลับไปดำเนินการ ส่วนนี้เป็นเรื่องของโครงสร้างการจัดการ

รองนายกฯ กล่าวว่า คำสั่งฉบับสุดท้ายซึ่งมีความสำคัญมากที่สุด ที่เรียกว่า ข้อกำหนด พระราชกำหนดฉุกเฉินให้นายกรัฐมนตรีออกข้อกำหนดต่างๆ ได้และข้อกำหนดเหล่านี้จะกระทบกับวิถีชีวิตของประชาชน ข้อกำหนดนี้จะมีข้อย่อยประมาณ 17 ข้อ ซึ่งจะต้องประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา ก่อนเผยแพร่ต่อไปให้ประชาชนทราบ

ภายในข้อกำหนดนี้จะกำหนดพฤติกรรมต่างๆ เอาไว้เป็น 3 ประเภท คือประเภทห้ามทำ ประเภทให้ทำ และประเภทควรทำ มาตรการประเภทห้ามทำ เช่น การห้ามเข้าเขตพื้นที่ที่กำหนด เช่น คำสั่งของผู้ว่ากรุงเทพมหานคร หรือคำสั่งผู้ว่าราชการจังหวัดที่เพิ่งประกาศมาเมื่อไม่นานนี้ การปิดสนามกีฬา สถานบริการ สถานบันเทิง ซึ่งจะถูกยกนำมากล่าวซ้ำในข้อกำหนดนี้อีก ห้ามอย่างไรก็ทำอย่างนั้น ซึ่งได้ทิ้งท้ายไว้ว่า ในจังหวัดใดที่ผู้ว่าราชการจังหวัดยังไม่ได้ออกคำสั่งห้ามหรือปิด ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดนั้นดำเนินการสั่งห้ามหรือปิดในลักษณะอย่างเดียวกัน เพราะที่แล้วมาอาจจะชะล่าใจว่าจังหวัดตัวเองเพราะยังไม่มีสถานการณ์ไม่ดี แต่ในวันนี้จะมีหรือไม่มีเรื่อง ท่านต้องสั่งปิดทั้งหมดเพราะเป็นเรื่องของการป้องกันแต่ไม่จำเป็นต้องให้สั่งปิดเหมือนกันหมดเพราะแต่ละแห่งจะมีสิ่งที่แตกต่างกันออกไป

ขณะเดียวกันก็มีการเตือนผู้ว่ากรุงเทพมหานครหรือผู้ว่าราชการจังหวัดว่า สถานที่บางอย่างที่ยังไม่ได้ห้าม ให้พิจารณาตามความเหมาะสม เช่นแหล่งท่องเที่ยวสาธารณะในธรรมชาติ เช่น ชายหาดบางแสน หัวหิน พัทยา สัตหีบ หรือแหลมสมิหลา ซึ่งอาจจะยังไม่ได้อยู่ในคำสั่งของผู้ว่าฯ ก็สามารถพิจารณาตามความเหมาะสม ทั้งนี้ก็รวมไปถึงศาสนสถานต่างๆ ด้วย

ส่วนที่มีการตั้งข้อสงสัยในช่วงที่ผ่านมาว่ารัฐบาลไม่แน่จริงหรืออย่างไรใจไม่กล้าหรืออย่างไร เพราะผู้ว่ากรุงเทพมหานคร หรือผู้ว่าราชการจังหวัดสั่งปิดไปแล้ว คำตอบก็คือในเวลาที่ผ่านมารัฐบาลไม่มีอำนาจสั่งเพราะว่าอำนาจในการสั่งปิดสถานที่นั้น ถูกเขียนไว้ในมาตรา 35 ของพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 ว่าให้ผู้ว่าราชการจังหวัดและผู้ว่ากรุงเทพมหานคร โดยคำแนะนำของคณะกรรมการโรคติดต่อประจำจังหวัดเป็นผู้พิจารณาสั่งปิดสนามกีฬา สถานบันเทิง สถานบริการ หรือสถานที่อื่นๆเป็นการชั่วคราว เราจึงต้องอาศัยยืมมือผู้ว่าจังหวัดต่างๆ ทั้งผู้ว่าฯ บุรีรัมย์ หรือผู้ว่าฯ อุทัยธานีจะปิด ก็ปิดไปตามคำแนะนำของรัฐบาลทั้งนั้น

นายวิษณุ กล่าวว่า วันนี้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินแล้ว ในข้อกำหนดนั้นจึงได้ประกาศว่าพื้นที่ที่ผู้ว่าฯ ได้สั่งปิดไว้แล้วทั้งหมดนั้นเป็นการสั่งปิดตามข้อกำหนดฉบับนี้ นั่นหมายความว่าคนฝ่าฝืนจะยกระดับความรับผิดและโทษ มาเป็นโทษตามพระราชกำหนดซึ่งหนักกว่าโทษตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ ซึ่งปลัดกระทรวงมหาดไทยได้รายงานว่าเวลานี้ได้สั่งปิดไปเกือบหมดทุกจังหวัดแล้ว เพียงแต่สถานที่อย่างลักลั่นแตกต่างกันอยู่ก็ขอให้ไปปฏิบัติตามคำแนะนำของกระทรวงมหาดไทย วันนี้ก็ได้สั่งปิดไปแล้วกว่า 20,000 แห่งทั่วประเทศ

ข้อห้ามต่อมาที่เป็นเรื่องสำคัญ ที่เกี่ยวกับคนทั้งหลายที่เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร ทั้งเดินทางผ่านมาทางบก ทางเรือ หรือทางอากาศ ห้ามเข้ามาในประเทศ ยกเว้นประชาชนไทยที่ตกค้างอยู่ต่างประเทศที่ต้องการเดินทางเข้ามา ซึ่งมีสิทธิตามรัฐธรรมนูญมาตรา 39 แต่จะต้องมีเอกสารสำคัญคือใบรับรองแพทย์ หากไม่สามารถหาใบรับรองแพทย์ได้ ก็หาใบแทนอย่างอื่นโดยการติดต่อกับสถานทูต อย่างไรก็ตามปัจจุบันสายการบินส่วนใหญ่ให้บริการ ส่วนนี้คนที่จะกลับเข้ามาก็ต้องจัดการกันเอง ข้อยกเว้นอื่นก็มีอีกเช่นบุคคลในคณะทูตต่างประเทศที่มาอยู่ในประเทศไทย โดยก่อนหน้านี้ได้กลับไปประเทศเขาและต้องการกับเข้ามาในประเทศไทย ซึ่งต้องมีเอกสาร fit to fly อีกกลุ่มที่ได้รับการยกเว้นคือ ผู้ขนส่งสินค้าที่มาส่งและกลับออกไปโดยเร็ว อีกกลุ่มคือผู้ที่มากับยานพาหนะเช่น คนขับรถที่มาจากต่างประเทศ นักบินพนักงานบริการบนเครื่องบิน กลุ่มสุดท้ายที่ได้รับการยกเว้นจากนายกรัฐมนตรีหรือหัวหน้าผู้รับผิดชอบซึ่งต้องมีเงื่อนไขเงื่อนเวลาและหลักฐานเอกสาร

นอกจากนี้ยังมีการห้ามชุมนุม เพราะไวรัสโควิด-19 ติดต่อได้ผ่านการชุมนุม เราจึงต้องระวังเรื่อง Social Distancing หรือการเว้นระยะห่างการชุมนุมกับจำนวนคนมากๆ ไม่ว่าจะเรื่องใดก็ตาม เว้นแต่ปฏิบัติตามมาตรการในการป้องกันตามหลักการแพทย์

อีกทั้งยังห้ามแพร่ข่าวปลอม หรือเฟกนิวส์ ที่จะทำให้คนตื่นตระหนกเกี่ยวกับไวรัสโควิด-19 ฉะนั้นจึงย้อนกลับมาว่ารัฐฉวยโอกาสในการออกข้อกำหนดตามพระราชกำหนดฉุกเฉิน เพื่อจำกัดสิทธิเสรีภาพในการรวมกลุ่มหรือชุมนุมในการแสดงความคิดเห็นผ่านสื่อโดยใช้การเซ็นเซอร์หรืออย่างไร เรียนว่าไม่ใช่เช่นนั้นแต่เป็นความจำเป็นที่จะต้องระมัดระวังในเรื่องการแพร่ข่าวเกี่ยวกับโควิด เพื่อไม่ให้เกิดความตื่นตระหนกหรือความเสียหายขึ้น

ส่วนเรื่องของการ ”ให้” ซึ่งเป็นการบังคับนั้น แต่ไม่มีตรงไหนบังคับประชาชน แต่เป็นการบังคับส่วนราชการ เช่น ให้ กระทรวงทบวงกรมหน่วยงานของรัฐเตรียมมาตรการช่วยเหลือประชาชน ให้ส่วนราชการ หน่วยงานต่างๆ เตรียมโรงพยาบาลสนาม เตรียมเตียง เตรียมหาเวชภัณฑ์ หายา หาหมอที่เกษียณไปแล้วมาขึ้นทะเบียนเผื่อจะระดมสรรพกำลัง ซึ่งในข้อกำหนดเขียนไว้แล้วทั้งหมดโดยคิดเลยไปถึง การจะเช่าโรงแรมเพื่อนำมาเป็นที่พักรักษาผู้ป่วย การจะนำศาลาวัดเพื่อมาเป็นที่พักรักษากักกันตัวผู้ป่วย เตรียมไปดูเรื่องการใช้หอประชุม เตรียมดูแลการใช้อาคารเอกชนหรือสถานที่ต่างๆ เพื่อใช้เป็นเตียงหรือโรงพยาบาลสนามซึ่งวันนี้หลายแห่งได้เตรียมการไปแล้ว เช่น โรงพยาบาลในมหาวิทยาลัย โรงพยาบาลทหาร โรงพยาบาลตำรวจ โรงพยาบาลเอกชนหลายแห่ง ซึ่งมีบางแห่งรายงานเข้ามายังรัฐบาล แล้วว่าได้เตรียมนำที่จอดรถเปลี่ยนแปลงไปเป็นโรงพยาบาลสนาม

อีกประเภทหนึ่งคือ ”ควร” ซึ่งเป็นคำแนะนำประชาชน เพราะวันนี้เรายังไปไม่ถึงการบังคับประชาชน ข้อกำหนดฉบับที่1นี้ จึงใช้คำว่าควรหรือคำว่าแนะนำ แต่ก็ต้องระวังว่าหากไปถึงข้อกำหนดฉบับที่2หรือ3 สิ่งที่ควรจะถูกยกขึ้นมาเป็นการ ห้าม หรือ ให้ ทันที ดังนั้นในส่วนของคำว่าควรจึงมีคำว่า ควรอยู่บ้าน ควรที่จะไม่ออกนอกบ้าน เพราะถ้าจะสั่งห้ามทันทีคงไม่ได้ในเวลานี้ แต่ก็จวนแล้ว จึงเตือนไว้ก่อน

อย่างไรก็ตามขณะเดียวกันคำแนะนำได้บอกว่าบุคคลสามประเภท ต่อไปนี้ ทางการแพทย์ระบุว่ามีความเสี่ยงสูงมากจึงขอให้อยู่ที่บ้านเว้นแต่จะออกไปทำธุรกิจทุรกรรมบางอย่างที่จำเป็น 1. บุคคลที่สูงอายุเกินกว่า 70 ปี 2. บุคคลอายุใดก็ตามแต่เป็นโรคประจำตัวบางอย่างตามที่ระบุ เช่น เบาหวาน ความดันสูง ทางเดินหายใจ โรคปอด 3. เด็กอายุตั้งแต่ห้าขวบลงมา ซึ่งวันนี้เขียนอยู่ในประเภทของควร แต่วันหนึ่งอาจจะยกระดับไปอยู่ในประเภทของบังคับหรือเป็นการห้ามหรือเป็นการสั่งให้ทำได้

ส่วนเรื่องการสัญจรเดินทางข้ามจังหวัดนั้นอยู่ในประเภทควร คือยัง สามารถเดินทางได้ อยู่กรุงเทพไปเชียงใหม่ได้ อยู่เชียงใหม่มากรุงเทพได้ แต่จะมีมาตรการเข้าไปเกี่ยวข้องจนทำให้การเดินทางเป็นไปด้วยความยากลำบาก เว้นแต่คนที่มีความจำเป็นจริงๆ โดยฝ่ายความมั่นคงจะจัดเจ้าหน้าที่ ไปตั้งจุดสกัดหรือตั้งด่าน บริเวณรอยต่อระหว่างจังหวัด เพื่อดูว่ายานพาหนะนั้นมีการเว้นระยะนั่งหรือยืน อย่างน้อย 1 เมตร จริงหรือไม่ ผู้โดยสารทุกคนสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าหรือไม่ มีการเรียกลงมาตรวจวัดอุณหภูมิหรืออาจจะให้ใช้เจลแอลกอฮอล์ล้างมือทำความสะอาด ตรวจดูว่ามีการดื่มแอลกอฮอล์มาตลอดเส้นทางการเดินทางหรือไม่ซึ่งถ้าพบเห็นก็ต้องถูกดำเนินคดี

และบางกรณีในข้อกำหนดอนุญาตให้ทำได้ เป็นมาตรการที่กระทรวงมหาดไทยกำลังร่วมกับกระทรวงคมนาคม สำนักงานตำรวจแห่งชาติเพื่อหาทางติดตั้งแอพพลิเคชั่นติดตามตัวแก่ผู้โดยสารทั้งหลาย ดังนั้นต้องเตรียมมือถือพร้อมกับเตรียมบัตรประชาชน ติดตัวไปด้วย และต้องกรอกแบบฟอร์มอย่างละเอียด ที่เป็นเช่นนั้นเพราะถ้ารถโดยสารคันนั้นนั่งไป 20 คน วันหนึ่งตรวจพบว่าหนึ่งหรือสองคนในนั้นเป็นโควิด-19 ก็ต้องเรียนทั้ง 20 คนมาพบทันที และอาจต้องกักกันทั้ง 20 คนนั้น นั่นหมายความว่าทางรัฐบาลจะต้องมีข้อมูล สรุปโดยหลักคือจะต้องสามารถ เดินทางได้แต่จะยากลำบาก

ขณะนี้ให้ดูจากข้อกำหนดฉบับที่หนึ่ง ที่ได้เผยแพร่ในราชกิจจานุเบกษา เพียงแต่ฉบับที่สองและสามเตรียมพร้อมที่จะออกแต่ยังไม่ออกซึ่งจะมีข้อกำหนดที่เข้มข้นขึ้นตามสถานการณ์

หลายคนยังตั้งคำถามว่านี่คือการปิดประเทศหรือยังปิดเมืองหรือยัง ปิดบ้านแล้วหรือยัง ซึ่งมีคำตอบสรุปได้ว่า ยังไม่ปิดประเทศ เพราะยังให้คนไทยกลับเข้ามาได้ ยังไม่ปิดเมืองเพราะยังให้มีการเดินทางข้ามจังหวัดได้ แต่จะยุ่งยากลำบากในการเดินทาง เพราะรัฐบาลไม่สนับสนุนให้มีการเดินทาง ยังไม่ปิดบ้าน เพียงแต่กึ่งๆปิดสำหรับคน3 ประเภท ที่ได้ระบุไปแล้ว นอกจากนั้นก็ยังสามารถไปทำงานได้ตามปกติ ทั้งขรก. ลูกจ้าง ห้างร้าน บริษัท

ทั้งนี้ในข้อกำหนดมีการเขียนไว้ข้อหนึ่งว่าสถานที่หรือกิจการรัฐบาลมีนโยบายสนับสนุนให้เปิด และขอร้องว่าอย่าปิด เช่น ธุรกิจหลักทรัพย์ ธุรกิจสถาบันการเงิน สถานที่ราชการ สถานีตำรวจ โรงงาน ธนาคาร ตู้เอทีเอ็ม ร้านอาหารซื้อบริโภคที่บ้าน ห้างสรรพสินค้าเปิดเฉพาะแผนกซุปเปอร์มาร์เก็ต แผนกอาหาร แผนกยา และแผนกสินค้าจำเป็นในชีวิตประจำวัน การบริการขนส่งสินค้า เหล่านี้ยังซื้อได้ตามปกติแต่ห้ามกักตุนสินค้า นอกจากนี้ธุรกิจเดลิเวอร์รี่ออนไลน์ สั่งมาส่งบ้านยังทำได้ตามปกติ

และคำถามยังมีด้วยว่าวันนี้ รัฐบาลประกาศเคอร์ฟิวหรือยัง ซึ่งเคอร์ฟิวคือการห้ามออกจากสถานที่ในเวลาที่กำหนด แต่ขณะนี้ยังไม่ประกาศเคอร์ฟิว ยังออกจากบ้านได้ตามปกติ เพียงแต่บุคคลสามประเภทที่ได้กล่าวไปไม่แนะนำให้ออกจากบ้าน