ศก.ดิ่ง ‘ธปท.’ ลดจีดีพีปีนี้ติดลบ 5.3% ด้านกนง.มีมติ 4/2 เสียง คงดอกเบี้ยไว้ที่ 0.75%

ธปท. หั่นจีดีพี -5.3% กนง. ยังคงดอกเบี้ย 0.75%

นายดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค สายนโยบายการเงิน เปิดเผยว่า สถานการณ์โรคระบาดไวรัส COVID-19 กระทบต่อประเทศต่างๆ ทั่วโลกรวมถึงไทย ทั้งด้านตลาดการเงิน เศรษฐกิจ และสังคม ภายใต้สถานการณ์ข้างต้น กนง. คาดว่าเศรษฐกิจจะหดตัว -5.3% ในปี 2563 ก่อนจะกลับมาขยายตัวเป็นบวกที่ 3% ในปี 2564 โดยปัจจัยหลักที่มีผลต่อการหดตัวของเศรษฐกิจไทยในปีนี้มาจากสถานการณ์ของโรค COVID-19 ที่ส่งผลต่อภาคการส่งออกและการท่องเที่ยว โดยคาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะหดตัวราว 60% ในปีนี้นอกจากนี้เศรษฐกิจประเทศคู่ค้าทั่วโลกจะชะลอตัวแรง หรืออาจถึงขั้นหดตัวในหลายประเทศ หาก COVID-19 ระบาดรุนแรงและยาวนาน ซึ่งจะกระทบต่อรายได้ ความเชื่อมั่น และกิจกรรมทางเศรษฐกิจของประชาชนและภาคธุรกิจในวงกว้าง อย่างไรก็ดี แนวโน้มของเศรษฐกิจในระยะถัดไปจะขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ได้แก่ มาตรการช่วยเหลือของภาครัฐในด้านต่างๆ การปรับตัวของภาคธุรกิจและประชาชน และความยาวนานของสถานการณ์โรค COVID-19

นายทิตนันทิ์ มัลลิกะมาส เลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เปิดเผยว่า จากการประชุมกนง. ครั้งที่ 2 ของปี 2563 ผลการประชุมออกมาชัดเจนว่า คณะกรรมการกนง. มีมติ 4 ต่อ 2 เสียง ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่0.75% ต่อปี ขณะที่ 2 เสียง เห็นควรให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25 ต่อปี ซึ่งในการประชุมครั้งนี้ได้มีกรรมการ 1 ท่านลาประชุม อย่างไรก็ตาม การระบาดของไวรัสโควิด-19 จะส่งผลให้เศรษฐกิจไทยในปี 2563 มีแนวโน้มหดตัวแรงจากปี 2562 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มติดลบ แต่เนื่องจากระบบการเงินโดยรวมของไทยมีเสถียรภาพ ตลาดการเงินได้เริ่มกลับมาทำงานปกติ โดยคณะกรรมการเห็นว่าการระบาดของโควิด-19 ในระยะต่อจากนี้จะยังมีความรุนแรงต่อเนื่อง รวมถึงจะใช้เวลาอีกระยะหนึ่งกว่าที่จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ ซึ่งในภาวะเช่นนี้ คณะกรรมการได้สนับสนุนมาตรการดูแลผู้ได้รับผลกระทบอย่างตรงจุดของรัฐบาลที่ได้ประกาศไปแล้วในช่วงที่ผ่านมา รวมถึงจะต้องดำเนินการช่วยบรรเทาปัญหาสภาพคล่อง และเร่งปรับปรุงโครงสร้างหนี้ของลูกหนี้ โดยเฉพาะครัวเรือนและธุรกิจขนาดเล็กและกลาง (เอสเอ็มอี) ให้เกิดผลชัดเจนเป็นรูปธรรมมากขึ้น จากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมนัดพิเศษที่ผ่านมา

นายทิตนันทิ์กล่าวต่อว่า คณะกรรมการจึงเห็นพ้องว่าต้องให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาสภาพคล่องให้ตรงจุดกรรมการส่วนใหญ่จึงเห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในครั้งนี้ โดยมีกรรมการ 2 ท่านเห็นว่าควรปรับลดอัตราดอกเบี้ยเพิ่มเติมอีก 0.25% เนื่องจากเศรษฐกิจมีแนวโน้มหดตัวแรงในปี 2563 โดยมีสาเหตุมาจากภาคการท่องเที่ยวและการส่งออกไทย ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากการระบาดของโควิด-19 การชะลอตัวของเศรษฐกิจในประเทศคู่ค้า และการหยุดชะงักของห่วงโซ่การผลิตในหลายประเทศ ส่งผลให้รายได้ของธุรกิจและครัวเรือนได้รับผลกระทบเป็นวงกว้างขึ้น เป็นผลให้อุปสงค์ภายในประเทศทั้งการลงทุนและการบริโภคภาคเอกชนมีแนวโน้มหดตัว ในสถานการณ์เช่นนี้ มาตรการด้านการคลังจะต้องเป็นกลไกหลักในการบรรเทาผลกระทบต่อเศรษฐกิจและดูแลผู้ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 รวมถึงมาตรการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ของสถาบันการเงินจะช่วยบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้นกับลูกหนี้ และช่วยให้เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มกลับมาขยายตัวในปี 2564 หากสถานการณ์การระบาดคลี่คลายลงสำหรับอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยทั้งปี 2563 มีแนวโน้มติดลบตามราคาพลังงานที่ลดลง และเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มหดตัวโดยคณะกรรมการจะติดตามความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจต่างประเทศ ผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ประสิทธิผลของมาตรการดูแลและเยียวยาของภาครัฐ รวมถึงการช่วยเหลือลูกหนี้ของสถาบันการเงินแต่ละแห่งอย่างใกล้ชิดต่อไป

เสถียรภาพของตลาดการเงินไทย โดยเฉพาะตลาดตราสารหนี้ปรับดีขึ้นหลัง ธปท. ออกมาตรการสนับสนุนสภาพคล่องในตลาดการเงิน แต่ยังต้องติดตามพัฒนาการอย่างใกล้ชิด ด้านอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ธนาคารพาณิชย์ปรับลดลงหลังการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ผ่านมา ซึ่งมีส่วนช่วยลดภาระดอกเบี้ยของลูกหนี้ ด้านอัตราแลกเปลี่ยน เงินบาทอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับประเทศคู่ค้าคู่แข่ง โดยเฉพาะสกุลเงินหลักและมีแนวโน้มผันผวน โดยคณะกรรมการเห็นว่า เสถียรภาพด้านต่างประเทศของไทยยังอยู่ในเกณฑ์เข้มแข็ง สะท้อนจากเงินสำรองระหว่างประเทศที่อยู่ในระดับสูงและเห็นควรให้ติดตามสถานการณ์ตลาดการเงิน และตลาดอัตราแลกเปลี่ยนอย่างต่อเนื่องและใกล้ชิด ท่ามกลางความไม่แน่นอนที่มีอยู่ในระดับสูงนายทิตนันทิ์กล่าวต่อ

นายทิตนันทิ์กล่าวต่อว่า ระบบการเงินโดยรวมมีเสถียรภาพ ธนาคารพาณิชย์ (ธพ.) มีระดับเงินกองทุนและเงินสำรองที่เข้มแข็ง แต่ระบบการเงินก็มีความเปราะบางมากขึ้นในบางจุด โดยเฉพาะความสามารถในการชำระหนี้ของภาคครัวเรือนและธุรกิจเอสเอ็มอี ที่อาจด้อยลงในช่วงที่เศรษฐกิจหดตัวแรง ในสถานการณ์เช่นนี้จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องประสานมาตรการทั้งทางการเงินและการคลังเพื่อดูแลครัวเรือนและธุรกิจเอสเอ็มอี โดยหากมองไปข้างหน้า คณะกรรมการจะติดตามพัฒนาการของการขยายตัวทางเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อ และเสถียรภาพระบบการเงิน รวมทั้งปัจจัยเสี่ยงต่างๆ โดยเฉพาะผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 เพื่อประกอบการดำเนินนโยบายการเงินในระยะต่อไป โดยพร้อมใช้เครื่องมือเชิงนโยบายเพิ่มเติม ทั้งอัตราดอกเบี้ยนโยบายและมาตรการการเงินอื่น ที่จะช่วยเสริมกลไกการส่งผ่านอัตราดอกเบี้ย และการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงิน ให้ตรงกลุ่มเป้าหมายได้อย่างเหมาะสมและทันการณ์