ครม.ผ่อนปรนแรงงานต่างด้าว อยู่ไทยได้ถึง30มิ.ย.นี้ ขยายเวลาส่งเงินสมทบ 3เดือน

ครม.ผ่อนปรนแรงงานต่างด้าว “กัมพูชา-ลาว-เมียนมา”อยู่ในไทยได้ถึง30มิ.ย.นี้ พร้อมขยายเวลาส่งเงินสมทบ 3เดือน

เมื่อวันที่ 24 มีนาคม ที่ทำเนียบรัฐบาล ศูนย์ข้อมูลมาตรการแก้ไขปัญหาจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19 ) ภายใต้ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 มีนางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงมาตรการช่วยเหลือแรงงาน ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ว่า

ครม.เห็นชอบ ตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ 4 เรื่อง คือ ผ่อนปรนการดำเนินการตามมติครม.เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2562 เกี่ยวกับการแรงงานต่างด้าว สัญชาติ กัมพูชา ลาว เมียนมาโดยเป็นการผ่อนปรนแนวทางบริหารจัดการการทำงานของแรงงานต่างด้าวในปี 2562 – 2563 ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน -วันที่ 30 มิถุนายน 2563 โดยให้คนต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว และ เมียนมา ซึ่งนายจ้างหรือผู้ได้รับอนุญาตให้นำคนต่างด้าวมาทำงานจะต้องยื่นบัญชีรายชื่อความต้องการจ้างแรงงานต่างด้าวกับเจ้าหน้าที่ในสังกัดกระทรวงแรงงาน หรือยื่นผ่านระบบออนไลน์ ภายในวันที่ 31 มีนาคม นี้ และไม่สามารถดำเนินการขอตรวจอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวต่อไปเพื่อการทำงานได้ทันภายในกำหนดเวลา ให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวได้ จนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2563 และให้ยกเว้นค่าเปรียบเทียบปรับการอยู่เกินกำหนด โดยยกเว้นการปฏิบัติตามคำสั่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ที่ 1/2558 เรื่อง การไม่อนุญาตให้คนต่างด้าวบางจำพวกเข้ามาในราชอาณาจักร ขณะที่กระทรวงแรงงานผ่อนผันให้แรงงานต่างด้าวที่การอนุญาตทำงานสิ้นสุดสามารถทำงานไปพลางก่อนได้จนถึงวันที่ 30 มิถุนายนนี้ และใช้บัญชีรายชื่อความต้องการจ้างแรงงานต่างด้าวที่กรมการจัดหางานออกให้และใบอนุญาตทำงานฉบับเดิมไปพลางก่อนได้ โดยไม่ต้องมีใบอนุญาตทำงานตามกฎหมายว่าด้วยการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าวจนกว่าจะไม่ได้รับอนุญาตจากนายทะเบียน หลังสิ้นสุดระยะเวลาดำเนินการ ให้หน่วยงานด้านความมั่นคงดำเนินการตรวจสอบปราบปราม จับกุมดำเนินคดีนายจ้าง แรงงานผิดกฎหมายที่ลักลอบทำงานและผู้ที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด

โฆษกรัฐบาล กล่าวว่า 2.ครม.รับทราบร่างประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่อง ขยายกำหนดเวลาการยื่นแบบรายการแสดงการส่งเงินสมทบและการนำส่งเงินสมทบของนายจ้าง และผู้ประกันตน พ.ศ. …. ตามที่ กระทรวงแรงงาน เสนอโดยให้นายจ้างที่ขึ้นทะเบียนนายจ้างและขึ้นทะเบียนผู้ประกันตนตามมาตรา 33 แห่งพ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ. 2533 ได้รับการขยายกำหนดเวลายื่นแบบรายการแสดงการส่งเงินสมทบและการนำส่งเงินสมทบตามมาตรา 47 แห่งพ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ. 2533 ดังนี้ ค่าจ้างงวดเดือนมีนาคม 2563 ให้ยื่นแบบรายการแสดงการนำส่งเงินสมทบและนำส่งเงินสมทบ ภายในวันที่ 15 กรกฎาคม 2563 ค่าจ้างงวดเดือนเมษายน 2563 ให้ยื่นแบบรายการแสดงการนำส่งเงินสมทบและนำส่งเงินสมทบ ภายในวันที่ 15 สิงหาคม 2563 ค่าจ้างงวดเดือนพฤษภาคม 2563 ให้ยื่นแบบรายการแสดงเงินนำส่งเงินสมทบและนำส่งเงินสมทบ ภายในวันที่ 15 กันยายน 2563 และให้ผู้ประกันตนตามมาตรา 39 ได้รับการขยายกำหนดเวลานำส่งเงินสมทบเข้ากองทุนมาตรา 39 วรรคสาม ดังนี้ เงินสมทบงวดเดือนมีนาคม 2563 ให้นำส่งเงินสมทบเข้ากองทุนภายในวันที่ 15 กรกฏาคม 2563 เงินสมทบงวดเดือนเมษายน 2563 ให้นำส่งเงินสมทบเข้ากองทุน ภายในวันที่ 15 สิงหาคม 2563 เงินสมทบงวดเดือนพฤษภาคม 2563 ให้นำส่งเงินสมทบเข้ากองทุน ภายในวันที่ 15 กันยายน 2563 ซึ่งเป็นการยื่นเวลาทั้งฝ่ายลูกจ้างและนายจ้างออกไป3เดือน นอกจากนั้นครมเห็นชอบอัตราการส่งเงินสมทบของลูกจ้างเหลือเพียง 1% เป็นเวลา3เดือน เช่นกัน

3.ครม.เห็นชอบร่างกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และอัตราการได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงแรงงาน เสนอ มีสาระสำคัญ ดังนี้ ให้ใช้บังคับสำหรับการรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2563 -28 ก.พ.2565 และเพิ่มอัตราเงินทดแทนกรณีว่างงานร้อยละ70 ของค่าจ้างรายวัน สำหรับการว่างงานเพราะเหตุถูกเลิกจ้างโดยให้ได้รับครั้งละไม่เกิน200วัน รวมทั้งเพิ่มอัตราเงินทดแทนกรณีว่างงานร้อยละ45 ของค่าจ้างรายวันสำหรับการว่างงาน เพราะเหตุลาออกจากงานหรือเหตุสิ้นสุดสัญญาจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอน และเลิกจ้างตามกำหนดระยะเวลานั้นโดยให้ได้รับครั้งละไม่เกิน90 วัน

และ4 ครม.เห็นชอบร่างกฎกระทรวงการได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานเนื่องจากมีเหตุสุดวิสัย พ.ศ. …. ให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2563 ถึงวันที่ 31 สิงหาคม 2563 โดยแก้ไข คำนิยาม “เหตุสุดวิสัย” หมายความว่า อัคคีภัย วาตภัย อุทกภัย ธรณีพิบิติภัย หรือภัยอันเกิดจากโรคที่แพร่หรือระบาดในมนุษย์ซึ่งเป็นโรคติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ ซึ่งรวมถึงโควิด-19 ตลอดจนภัยอื่นไม่ว่าเกิดจากธรรมชาติหรือมีผู้ทำให้เกิดขึ้น ซี่งมีผลกระทบต่อสาธารณชนและถึงขนาดผู้ประกันตนไม่สามารถทำงานได้หรือนายจ้างไม่สามาถประกอบกิจการได้ตามปกติ โดยให้ลูกจ้างซึ่งเป็นผู้ประกันตนที่มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานตามมาตรา 79/1 มีสิทธิได้รับเงินทดแทนในกรณีว่างงานในอัตราเต็มจำนวนของค่าจ้างรายวัน ตลอดระยะเวลาที่ผู้ประกันตนไม่ได้ทำงานเนื่องจากเหตุสุดวิสัยที่นายจ้างรับรอง หรือนายจ้างไม่ให้ทำงานเนื่องจากมีเหตุสุดวิสัย ทำให้ไม่สามารถประกอบกิจการได้ตามปกติ แต่ไม่เกิน180 วัน ส่วนกรณีหน่วยงานภาครัฐมีคำสั่งให้นายจ้างหยุดประกอบกิจการ เพื่อป้องกันความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรค ให้ลูกจ้างซึ่งเป็นผู้ประกันตนที่ไม่ได้รับค่าจ้างมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานตามมาตรา 79/1 ในอัตราเต็มจำนวนของค่าจ้างรายวัน โดยให้ได้รับตลอดระยะเวลาที่นายจ้างหยุดประกอบกิจการตามคำสั่ง ไม่เกิน60วัน ทั้งนี้เพื่อเป็นการชดเชยกำลังซื้อที่ลดลงจากการไม่ได้รับค่าจ้างระหว่างการหยุดการประกอบกิจการ