สหกรณ์คลองจั่นฯ ขอถอนฟ้อง ‘ศุภชัย’ คดียักยอกทรัพย์-อัยการค้าน

เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์คุมตัวนายศุภชัย ศรีศุภอักษร อดีตประธานกรรมการสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น มายังศาลอาญา เพื่อฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ คดีที่อัยการฟ้องฐานยักยอกทรัพย์ผู้อื่น และจัดการทรัพย์สินผู้อื่นโดยทุจริตฯ

(21 มี.ค.) ที่ห้องพิจารณา 912 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ศาลนัดสอบถามคู่ความ คดียักยอกทรัพย์สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น หมายเลขดำ อ.1739/2558 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีพิเศษ 4 เป็นโจทก์ ยื่นฟ้องนายศุภชัย ศรีศุภอักษร อายุ 60 ปี อดีตประธานกรรมการสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น เป็นจำเลย เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 58 ในความผิดฐานยักยอกทรัพย์ผู้อื่น และจัดการทรัพย์สินผู้อื่นโดยทุจริตในฐานะเป็นผู้มีอาชีพหรือธุรกิจอันย่อมเป็นที่ไว้วางใจของประชาชน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 353 และ 354

จากกรณีวันที่ 10 เมษายน – 8 ตุลาคม 56 จำเลยให้เจ้าหน้าที่บัญชี เบิกเงินสดของสหกรณ์ ผู้เสียหาย หลายครั้งหลายหนรวม 8 ครั้งๆ ละระหว่าง 184,000 บาท – 6 ล้านบาท รวม 22,132,000 บาทเข้าบัญชีของจำเลยหรือบุคคลที่ 3 โดยทุจริต ซึ่งชั้นพิจารณานายศุภชัย จำเลย ได้ให้การรับสารภาพ ศาลอาญา จึงมีพิพากษาเมื่อวันที่ 8 มีนาคม59 ให้จำคุก 8 กระทงรวม 14 ปี 24 เดือน

โดยระหว่างที่มีการอุทธรณ์คดี ปรากฏว่า นายศุภชัย จำเลยได้นำเงิน 34,752,150 บาท มาชดใช้เป็นค่าเสียหายให้กับสหกรณ์ฯ โดยสหกรณ์ ในฐานะผู้เสียหาย จึงได้ยื่นคำร้องเพื่อขอถอนฟ้องคดี ศาลอุทธรณ์จึงมีคำสั่งให้ศาลอาญา สอบถามข้อเท็จจริงจากคู่ความที่ได้นัดสอบถามกันในวันนี้

ซึ่งวันนี้ศาลได้เบิกตัวนายศุภชัย อดีต ปธ.สหกรณ์ฯ มาจากเรือนจำ โดยอัยการโจทก์, นายวันชัย บุนนาค ทนายความนายศุภชัย เดินทางมาศาล ส่วนสหกรณ์ฯ ผู้เสียหายมีหนึ่งในผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ ผู้รับมอบอำนาจศาล ขณะที่นายธรรมนูญ อัตโชติ ประธานชมรมฟื้นฟู สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน คลองจั่นก้าวหน้า พร้อมด้วยสมาชิกสหกรณ์ฯ 3-4 คน ก็ได้เดินมาศาลเพื่อจะแถลงคัดค้านด้วย

ภายหลังศาลได้สอบถามอัยการ, ผู้รับมอบอำนาจสหกรณ์, จำเลยและทนายความแล้ว จึงมีคำสั่งให้ส่งสำนวนและข้อเท็จจริงที่ทุกฝ่ายแถลง กลับให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาเพื่อมีคำสั่งต่อไป

ทั้งนี้ นายวันชัย บุนนาค ทนายความนายศุภชัย เปิดเผยว่า ตนได้แจ้งให้ศาลทราบว่า เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 59 ได้รับมอบอำนาจจากนายศุภชัย ไปชี้แจงต่อที่ประชุมสหกรณ์ในการนำเงิน 34 ล้านบาทพร้อมดอกเบี้ย ไปชดใช้คืนแก่สหกรณ์ฯ ผู้เสียหาย โดยมีรายงานการประชุมของสหกรณ์มาแสดงต่อศาลว่า สหกรณ์มีการรับเงินที่เป็นแคชเชียร์เช็คหลายฉบับไปแล้ว และการประชุมมีทั้งผู้บริหารแผนฟื้นฟูฯ 5 คน และกรรมการร่วมประชุมครบองค์ประชุมเซ็นรับทราบ ขณะที่ก่อนจะนำเงินชดใช้ได้ให้สหกรณ์นำแคชเชียร์ที่รวบรวมมาได้หลายฉบับไปตรวจสอบด้วยว่าเป็นของจริงหรือไม่ซึ่งสหกรณ์ฯ ตรวจสอบแล้ว โดยความผิดยักยอกทรัพย์นี้เป็นคดียอมความได้

ดังนั้น เมื่อสหกรณ์ฯ ในฐานะผู้เสียหาย มีมติที่ประชุมรับทราบเป็นทางการและรับเงินไปแล้วตั้งแต่ ช่วง ธันวาคม 59 ที่ผ่านมา จึงต้องดำเนินการตามประมวลวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 35 วรรคสอง และ 39 (2) ระบุว่า คำร้องขอถอนฟ้องหรือยอมความคดีอาญาความผิดต่อส่วนตัวนั้น จะยื่นเวลาใดก็ได้แต่ต้องก่อนคดีถึงที่สุด โดยสิทธินำคดีอาญาต่อความผิดส่วนตัวมาฟ้องนั้นจะระงับไปเมื่อได้ถอนคำร้องทุกข์ หรือถอนฟ้อง หรือยอมความกันโดยถูกต้องตามกฎหมายแล้ว โดยคดีนี้ได้ชดใช้เงินไปแล้ว 27 ล้านบาท

นายวันชัย ทนายความนายศุภชัย กล่าวอีกว่า ส่วนที่วันนี้อัยการโจทก์ แถลงคัดค้านว่า เรื่องอำนาจการดำเนินการแทนนั้น ก็เป็นดุลยพินิจของศาลจะวินิจฉัยต่อไป โดยคดีนี้ต้องรอให้ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งอีกครั้ง

ด้านนายธรรมนูญ อัตโชติ ประธานชมรมฟื้นฟูสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่นก้าวหน้า กล่าวา วันนี้เรามาขอให้อัยการ และกรมส่งเสริมสหกรณ์ ในฐานะนายทะเบียนสหกรณ์ คัดค้านเรื่องนี้ เนื่องจากนายศุภชัยยังมีคดีอีกหลายคดีซึ่งให้การภาคเสธอยู่ เช่น คดีฉ้อโกงประชาชนและคดีฟอกเงิน ซึ่งแม้ขณะนี้ได้อายัดตัวอยู่ทั้งสองคดี แต่เกรงว่าหากถอนคดีไปแล้วก็ต้องมีหมายปล่อย แล้วถ้านายศุภชัยขอประกันและได้ปล่อยตัว ในอนาคตอัยการ , กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) จะอายัดตัวไม่ทันซึ่งหากหลบหนีไปก็จะสร้างความเสียหาย เพราะคดีอีกสองคดีมีมูลค่าทรัพย์สินนับหมื่นล้านบาท

เมื่อถามถึงเงินที่นายศุภชัย ได้ชดใช้แล้ว และความคืบหน้าของแผนฟื้นฟูสหกรณ์ นายธรรมนูญ กล่าวว่า เงินที่ได้รับมูลค่า 27 ล้านบาท รวมดอกเบี้ยประมาณ 34 ล้านบาท โดยกฎหมายทั่วไปเมื่อโจทก์จำเลยไม่เอาความต่อกัน เป็นคดีธรรมดาถอนฟ้องได้ แต่กรณีนี้ถ้าถอนไปแล้วได้เงิน 34 ล้านบาท แต่พัวพันคดีอีกเป็นหมื่นล้านบาท สหกรณ์ฯผู้เสียหายต้องตระหนักให้มากกว่านี้

ส่วนแผนฟื้นฟูนั้น หลังจากที่ศาลอนุมัติแผนมาแล้ว ฝ่ายผู้บริหารแผนจ่ายแล้ว 2 งวด งวดละประมาณกว่า 10 % เชื่อว่าการจ่ายงวดที่สามและงวดต่อๆ ไปจะมีปัญหา เนื่องจากไม่มีเม็ดเงิน สุ่มเสี่ยงต่อการล้มละลายของสหกรณ์ได้ เราต้องดำเนินการใช้ทรัพย์ที่เราฟ้องคดีฟอกเงินเอาไว้ เพื่อจะได้เงินจากการฉ้อโกงพร้อมดอกเบี้ยทั้งหมดกลับคืนสู่ผู้เสียหาย ถ้าใช้คดีอาญาธรรมดาได้แค่เงินต้นบวกดอกเบี้ยนิดเดียว แต่ถ้าได้คดีฟอกเงินไปกี่ทอดตามเอามาได้หมดให้เป็นของผู้เสียหาย ส่วนที่เหลือก็ตกเป็นของแผ่นดิน