บีโอไอชง’บิ๊กตู่เคาะ’แพคเกจพิเศษลงทุนหน้ากาก เผย’ซีพี’ขอส่งเสริมด้วย

‘บีโอไอ’เตรียมออกแพคเกจพิเศษส่งเสริมการลงทุนหน้ากากอนามัย-เครื่องมือและอุปกรณ์ อัดสิทธิประโยชน์จูงใจเพิ่มหวังเร่งเครื่องการผลิตรับมือโควิด-19 กำหนดเงื่อนไขต้องเร่งลงทุนให้เกิดขึ้นโดยเร็ว จ่อชงบอร์ดเคาะ 9 เม.ย. เผย 4 โรงงานหน้ากากจ่อยื่นขอรับส่งเสริมเพิ่ม และอีก 4 แห่งเร่งติดตั้งเครื่องจักรรวม 3 แสนชิ้นต่อวัน คาดผลิตเร็ววันนี้ เผยโครงการผลิตหน้ากากของกลุ่มซีพียื่นขอด้วย

น.ส.ดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(บีโอไอ) เปิดเผยว่า การประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(บอร์ดบีโอ) ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน วันที่ 9 เมษายนนี้ จะเสนอมาตรการส่งเสริมการลงทุนกิจการผลิตหน้ากากอนามัยและอุปกรณ์ทางการแพทย์(แพคเกจพิเศษ) ที่เพิ่มสิทธิพิเศษจูงใจให้เกิดการลงทุนมากขึ้น รองรับความต้องการในช่วงเกิดวิกฤตไวรัสโควิด-19 แต่จะมีเงื่อนไขในการกำหนดระยะเวลาการลงทุนเพื่อเร่งให้เกิดลงทุนที่เร็วขึ้น

“สิทธิประโยชน์ที่จะได้รับเพิ่มนั้นจะมองที่ภาษีเงินได้และมีเงื่อนไข อาทิ ลงทุนเร็ว ผลิตเร็ว จะได้สิทธิประโยชน์สูงขึ้น เพราะแพคเกจนี้เกิดขึ้นเพื่อเร่งรัดให้ผู้กำลังจะลงทุนเร่งก่อสร้างเพื่อให้เกิดการผลิตหน้ากากที่มีความต้องการสูงขึ้นโดยแพคเกจนี้จะปรับทุกระดับจากสิทธิประโยชน์เดิมที่เคยให้ไว้กับกลุ่มนี้ โดยรายละเอียดคงต้องรอบอร์ดเห็นชอบอีกครั้ง”น.ส.ดวงใจกล่าว

น.ส.ดวงใจ กล่าวว่า ปัจจุบันไทยมีผู้ผลิตหน้ากากอนามัย 11 แห่ง มี 5 แห่งได้รับส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอและผลิตแล้ว และจำนวนนี้มี 4 รายที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอและอยู่ระหว่างการติดตั้งเครื่องจักรและก่อสร้างโรงงานมีกำลังผลิตรวมที่ระบุไว้ในบัตรส่งเสริมการลงทุนประมาณ 3 แสนชิ้นต่อวัน ล่าสุดมีผู้มายื่นขอบีโอไอลงทุนกิจการหน้ากากอีก 4 ราย

“สถานการณ์ที่โควิด-19 แพร่ระบาด บีโอไอได้ขอความร่วมมือกับโรงงานที่ก่อสร้างอยู่ ให้เร่งผลิตเร็วขึ้น น่าจะมีบางแห่งทยอยผลิตได้ปลายเดือนหน้า ขณะเดียวกันก็เข้าไปช่วยอำนวยความสะดวกเรื่องใบอนุญาตต่างๆ หรือกฏระเบียบ เพื่อผลิตหน้ากากฯได้เร็วขึ้น เปิดบริการช่องทางพิเศษ เพื่อความคล่องตัวในการดำเนินการจัดตั้งโรงงาน อาทิ โครงการผลิตหน้ากากของกลุ่มซีพี “น.ส.ดวงใจกล่าว

น.ส.ดวงใจ กล่าวว่า สำหรับโรงงานหน้ากากอนามัย 5 แห่งที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอที่มีการผลิตแล้วนั้นส่วนใหญ่ผลิตเพื่อส่งออกตามคำสั่งซื้อ(ออร์เดอร์) มีบางรายเป็นบริษัทต่างชาติที่ใช้ไทยเป็นฐานส่งออก บีโอไอไม่ได้กำหนดเงื่อนไขการส่งออกแต่อย่างใด สิทธิประโยชน์ที่ได้คือยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักร ภาษีเงินได้ไม่เกี่ยวกับการส่งออกแต่อย่างใด โดยการยกเว้นอากรขาเข้าวัตถุดิบเป็นสิทธิประโยชน์เพื่อการส่งออกโดยเฉพาะแต่ไม่ได้หมายความว่าจะขายในประเทศไม่ได้ แค่อย่าไปขอยกเว้นอากรฯก็เท่านั้น และถ้าสมมติเขาไปขอยกเว้นแล้วมีความจำเป็นต้องขายในประเทศก็ต้องไปเสียอากร”น.ส.ดวงใจกล่าว