‘เลขากฤษฎีกา’ เผย ประกาศคำสั่ง คสช. 74/2557 รับรองการประชุมออนไลน์

‘เลขากฤษฎีกา’ เผย ประกาศคำสั่ง คสช. 74/2557 รับรองการประชุมออนไลน์ ครอบคลุมถึงเบิกจ่ายเบี้ยประชุม

เมื่อวันที่ 23 มีนาคม ที่ทำเนียบรัฐบาล นายเทวัญ ลิปพัลลภ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี น.ส.รื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) นายปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ รองอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ร่วมแถลงถึงการดำเนินการจัดการประชุมผู้ถือหุ้นบริษัทจำกัด และบริษัทมหาชน ในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

โดยนายปกรณ์ กล่าวว่า ในเรื่องการประชุมในปัจจุบันนั้นเรามีระเบียบการประชุมอยู่มากมาย มีคำสั่งและประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ฉบับที่ 74 พ.ศ.2557 ที่มีการพูดถึงกันอยู่ โดยกำหนดว่าการประชุมไม่จำเป็นที่จะต้องมานั่งประชุมอยู่ร่วมกันในที่เดียวกันก็ได้ ตามนี้เป็นกฎหมายกลาง ที่กำหนดขึ้นมาเพื่อให้รองรับกับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป ไม่ว่าจะเป็นการประชุมของบริษัทจำกัด บริษัทมหาชนหรือการประชุมอื่นๆ ที่กฎหมายกำหนดให้ต้องมีการประชุมก็สามารถที่จะใช้ประกาศหรือคำสั่งของคสช. ได้ ทั้งนี้มีเงื่อนไขเพียง 2 ประการเท่านั้นคือ ผู้ร่วมประชุมอย่างน้อย 1 ใน 3 ขององค์ประชุมของคณะกรรมการจะต้องมาเข้าร่วมประชุมอยู่ในที่ประชุม ยกตัวอย่างเช่น สมมติคณะกรรมการมีทั้งหมด 14 คนองค์ประชุมต้องมีอย่างน้อยกึ่งหนึ่ง คือ 7 คน ไม่ได้หมายความว่าทั้ง 7 คนนี้ต้องมานั่งรวมกันอยู่ที่เดียว แต่หมายถึง 1 ใน 3 ของ 7 คน ซึ่งก็คือ 2.3 คน หรือ 3 คนนั่นเอง ที่จะต้องอยู่ในที่ประชุมร่วมกัน นอกนั้นสามารถประชุมผ่านโนโลยีออนไลน์ได้ ซึ่งมีหลากหลายระบบ เช่น ซูม ไมโครซอฟท์ทีม เป็นต้น

“ประกาศ คสช.ฉบับนี้ รองรับความชอบด้วยกฎหมายของการประชุมเรียบร้อย ระบุว่า ในการประชุมโดยวิธีทางเทคโนโลยีถือว่าเป็นการประชุมตามกฎหมายนั้นด้วย” นายปกรณ์ กล่าว

และว่า ส่วนข้อกังวลเรื่องการเบิกจ่ายเบี้ยประชุมประกาศ คสช.ฉบับนี้ รองรับไว้ ระบุว่า ในการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์หากต้องมีกรณีการจ่ายเบี้ยประชุมก็ให้จ่ายสำหรับผู้ที่แสดงตนเข้าร่วมประชุม จึงไม่มีปัญหาในการดำเนินการ โดยในข้อ 8 ของคำสั่งนี้ ยังระบุว่า ให้ถือว่าการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ตามประกาศ คสช.นี้ เป็นการประชุมโดยชอบด้วยกฎหมายและห้ามปฏิเสธการรับฟังข้อมูลผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ เป็นพยานหลักฐานในกระบวนการพิจารณากฎหมายในคดีทั้งปวง ทั้งคดีแพ่ง คดีอาญา หรือคดีอื่นใด ดังนั้นการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์นอกจากจะช่วยลดการแพร่เชื้อไวรัสโควิด-19 แล้ว ยังได้รับการรับรองโดยชอบด้วยกฎหมายและสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีด้วย