“สุดารัตน์” ห่วงการออกมาตรการครึ่งๆกลางๆไม่รอบด้านของรบ. ส่งผลกระทบต่อปชช.

“สุดารัตน์” ห่วงการออกมาตรการครึ่งๆกลางๆไม่รอบด้านของรบ. ส่งผลกระทบต่อปชช. -ไร้การเยียวยาช่วงต้องหยุดงาน ย้ำ มาตรการ 21 วันสยบโรคที่เสนอไม่อยากให้มองว่าเป็นฝ้ายค้านเสนอ

เมื่อวันที่ 23 มีนาคม ที่พรรคเพื่อไทย (พท.) คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรค พท. กล่าวว่า จากมาตรการเมื่อวันที่ 21 มีนาคมที่ผ่านมา ระหว่างรัฐบาลและ กทม.ที่มีความสับสนตั้งแต่ช่วงเช้าถึงบ่าย กระทั่งบ่ายแก่ๆ ผู้ว่าฯ กทม.จึงออกประกาศสั่งปิดสถานประกอบการ 28 ประเภท สุดท้ายประชาชนก็พากันแห่ไปซื้อของที่ซุปเปอร์มาร์เก็ต ทั้งนี้ เรามีความห่วงใยมาตรการของรัฐบาล ที่ออกมาโดยไม่คำนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับประชาชน ทำกันแบบครึ่งๆกลางๆ ไม่คิดให้รอบด้าน ปล่อยให้หน่วยงานว่ากันเองแบบนี้ไม่ได้ เพราะจะยิ่งสร้างความเสี่ยงให้ประชาชนเพิ่มขึ้น ขณะนี้ประชาชนที่เป็นกลุ่มลูกจ้างแห่กลับบ้านต่างจังหวัดโดยรัฐไม่สั่งห้าม เพราะธุรกิจส่วนใหญ่ไม่จ่ายเงินค่าจ้างให้ลูกจ้าง ขณะที่รัฐก็ไม่ออกมาตรการเยียวยาช่วงที่ต้องหยุดงาน ถือเป็นความบกพร่องอย่างมากของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ ที่ไม่นั่งหัวโต๊ะดูปัญหาให้รอบด้าน เชื่อว่าประชาชนไหลออกต่างจังหวัดร่วมแสนคน ยิ่งเกิดการเคลื่อนไหวของคนจำนวนมาก เท่ากับว่าเหมือนเป็นการเลื่อนวันหยุดสงกรานต์ให้เร็วขึ้น ขณะที่จังหวัดอาจตั้งรับไม่ทัน จะยิ่งสร้างความโกลาหลในต่าจังหวัดเพิ่มขึ้นอีก ดังนั้นต้องปิดสถานประกอบการ 28 ประเภทในระยะสั้น รัฐต้งสั่งห้ามคนออกจาก กทม.และจ่ายเงินยังชีพให้กลุ่มที่ต้องหยุดงานอยู่กับบ้าน

“นายกฯ ต้องเป็นผู้นำ ฟังความให้รอบด้าน ใช้ความรู้ของทุกฝ่ายกลั่นกรองเป็นมาตรการที่ดีที่สุด แต่วันนี้เป็นความผิดพลาดอย่างมหันต์ที่ไม่ห้ามคนออกจาก กทม. ดังนั้นต้องขอร้องนายกฯ ว่าหากไม่เปลี่ยนแนวคิด ปล่อยให้เป็นเรื่องของหน่วยงานจัดการกันเอง ใครทำไม่ไก้ก็จะสั่งย้ายผู้ว่าฯ แบบนี้ไม่ใช่ ถือเป็นการผลักภาระให้ข้าราชการรวมทั้งประชาชนในต่างจังหวัด” คุณหญิงสุดารัตน์ กล่าว

คุณหญิงสุดารัตน์ กล่าวอีกว่า สำหรับมาตรการ 21 วันสยบโรคที่เราเสนอไปยังรัฐบาลนั้น ไม่อยากให้รัฐบาลคิดว่าเป็นฝ่ายค้านที่เสนอหรือเป็นเรื่องการเมือง แต่เป็นการระดมความคิดเห็นจากแพทย์ รวมทั้งจากประสบการณ์ในช่วงที่เกิดโรคซาร์สแลละไข้หวัดนกสมัยรัฐบาลนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ โดยขอให้ 1.ป้องกันเชื้อใหม่ไม่ให้เข้าประเทศ โดยจะปิดไม่ให้มีการเดินทาง หรือจัดโรงแรมให้ประชาชนกักตัวเอง 14 วันตาม พ.ร.บ.ควบคุมโรคฯและ 2.ต้องปูพรมเอ๊กซเรย์หาผู้ติดเชื้อที่ติดอยู่ในประเทศให้เข้าระบบโดยเร็วที่สุด แต่รัฐบาลยังไม่ดำเนินการ แถมยังมีคอขวดทั้งเรื่องการจัดหามาสก์ น้ำยาตรวจหาเชื้อหรือสกรีนนิ่ง เทสต์ก็ยังไม่เพียงพอ หากการจัดการยังยุ่งเหยิงอยู่แบบนี้ เชื่อว่าผู้ติดเชื้ออาจถึงหลักพันแน่ๆ ถึงตอนนั้นหน่วยงานด้านสาธารณสุขจะรับไม่ไหว