ก.แรงงานถก 3 มาตรการเร่งด่วนช่วย ‘สถานประกอบการ-ลูกจ้าง’ รับผลกระทบโควิด-19

เมื่อวันที่ 23 มีนาคม ที่กระทรวงแรงงาน นายดวงฤทธิ์ เบ็ญจาธิกุล ชัยรุ่งเรือง ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงแรงงาน เป็นประธานการประชุมมาตรการเร่งด่วนในการป้องกันวิกฤตการณ์จากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ของกระทรวงแรงงาน

ทั้งนี้ นายดวงฤทธิ์ กล่าวถึงมาตรการเร่งด่วนในการป้องกันวิกฤตการณ์จากโรคโควิด-19 ของกระทรวงแรงงาน ดังนี้

1.มาตรการป้องกันและสกัดกั้นการนำเชื้อเข้าสู่ประเทศไทย (ด้านต่างประเทศ) สืบเนื่องจากการประกาศยกระดับเตือนภัยการเดินทางหลายประเทศ และภูมิภาคที่มีการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ระดับ 3 ของไต้หวัน ซึ่งเป็นการเตือนระดับสูงสุด กระทรวงแรงงานได้ดำเนินการแจ้งไปยังบริษัทจัดหางานที่จัดส่งคนงานไปยังไต้หวันทราบถึงมาตรการที่กระทรวงแรงงานไต้หวันได้ดำเนินการแล้ว และให้สำนักงานแรงงานไทยในไต้หวัน ทั้งเมืองเกาสง และไทเป ให้แจ้งแรงงานไทยที่ยังคงทำงานอยู่ในไต้หวัน รวมทั้งสิ้น 58,572 คน ได้รับทราบและถือปฏิบัติตามมาตรการนั้น ส่วนกรณีของเกาหลีใต้ ตั้งแต่มีมาตรการผ่อนปรนในวันที่ 11 ธันวาคม 2562 มีคนไทยเดินทางกลับประเทศรวมทั้งสิ้น 6,814 คน โดยหลังมีประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ท้องที่นอกราชอาณาจักรที่เป็นเขตติดโรคติดต่ออันตราย กรณีติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ตั้งแต่วันที่ 3-15 มีนาคม 2563 มีแรงงานไทยเดินทางกลับมาแล้ว จำนวน 2,087 คน ขณะนี้เดินทางเข้ามาเฉลี่ยวันละ 150 คน โดยจะต้องมีใบรับผลการตรวจโควิด-19 ทุกคน

2.มาตรการยับยั้งการระบาดภายในประเทศ (ด้านป้องกัน) ได้จำกัดการเคลื่อนย้ายแรงงานต่างด้าวเร่งรัด โดยให้นายจ้างและสถานประกอบการยื่นความประสงค์ที่จะต่อทะเบียนแรงงานต่างด้าวให้ครบก่อนวันที่ 31 มีนาคม 2563 รวมถึงการดำเนินงานในส่วนอื่นสามารถทำได้จนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2563 นอกจากนี้ การเดินทางกลับประเทศของแรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติ ในช่วงสงกรานต์ กระทรวงแรงงานจะแจ้งไปยังนายจ้างที่มีการจ้างแรงงานต่างด้าวให้ประกาศให้ลูกจ้างต่างด้าวทราบต่อไป และในปีนี้จะไม่มีการยกเว้นค่าธรรมเนียมการเดินทางเข้า-ออกประเทศให้แก่แรงงานกลุ่มนี้ นอกจากนี้ กระทรวงแรงงานมีการประกาศมาตรการทำงานที่บ้าน (Work from Home) เพื่อให้บุคลากรสามารถปฏิบัติงานได้ โดยพร้อมที่จะเดินทางมาปฏิบัติงาน ณ สำนักงานได้ตลอดเวลาหากมีเรื่องเร่งด่วน และให้มีการจัดผลัดการมาปฏิบัติงาน โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 23 มีนาคม 2563 นอกจากนี้ ยังได้ส่งเสริมการผลิตและการใช้หน้ากากผ้าแก่ประชาชน สร้างการรับรู้และประชาสัมพันธ์มาตรการป้องกันโรคโควิด-19 ในสถานประกอบการด้วยการให้ความรู้ลูกจ้าง ผู้ประกันตนในสถานประกอบการ รวมถึงประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างการรับรู้เกี่ยวกับโรคโควิด-19 ผ่านสื่อทุกช่องทางอย่างต่อเนื่อง

3.มาตรการเยียวยา กรณีผู้ประกันตนที่ป่วยได้รับการวินิจฉัยว่าโรคโควิด-19 ไม่ต้องจ่ายค่าตรวจหรือค่ายาใดๆ รวมถึงสามารถเข้ารักษาโรงพยาบาลที่อยู่ใกล้ หรือโรงพยาบาลของรัฐตามระบบประกันสังคม และเบิกจ่ายกรณีฉุกเฉิน ภายใน 72 ชั่วโมง หากผู้ประกันตนลาป่วยโดยได้รับค่าจ้างจากนายจ้างครบ 30 วัน แต่ต้องหยุดงานตามคำสั่งแพทย์ต่อไปอีก สำนักงานประกันสังคม (สปส.) จะจ่ายเงินทดแทนการขาดรายได้ ครั้งละไม่เกิน 90 วัน และไม่เกิน 180 วันต่อปี ด้านการปรับเพิ่มสิทธิประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานนั้น หากลาออกจะได้รับเงินทดแทนทั้ง กรณีการขาดรายได้ กรณีเลิกจ้าง และกรณีเหตุสุดวิสัย ซึ่งครอบคลุมทั้งประกันตนที่ไม่ได้ทำงาน และนายจ้างที่ถูกสั่งให้หยุดประกอบกิจการ

นายดวงฤทธิ์กล่าวว่า นอกจากนี้ ยังมีมาตรการให้ความช่วยเหลือสถานประกอบกิจการที่อยู่ในข่ายบังคับตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน พ.ศ.2545 โครงการสินเชื่อเพื่อส่งเสริมการจ้างงาน การลดอัตราเงินสมทบนายจ้าง และผู้ประกันตน การย้ายกำหนดเวลายื่นแบบรายการแสดงการส่งเงินสมทบและการนำส่งเงินสมทบของนายจ้างและผู้ประกันตน ซึ่งอยู่ในระหว่างการหารือ อีกทั้งมาตรการเพื่อเยียวยาลูกจ้าง กรณีเลิกจ้างและไม่ได้รับเงินตามกฎหมาย มาตรการชะลอการเลิกจ้าง การจัดตั้งศูนย์บริการจัดหางานพาร์ตไทม์ (Part-time) การจ้างงานเร่งด่วนและพัฒนาทักษะฝีมือเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนด้านอาชีพ การจ้างบัณฑิตที่ว่างงานมาเป็นผู้ประสานงานโครงการของกระทรวงแรงงานในระดับพื้นที่ การปรับแผนการฝึกอบรมทักษะฝีมือให้แก่แรงงานรองรับสถานการณ์ว่างงานและวิกฤตเศรษฐกิจ ระยะ 3 เดือน และการจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการรองรับสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 (Hot Line COVID-19) เพื่อให้บริการฮอตไลน์ หมายเลข 0-2956-2513-4 ในวันและเวลาราชการ หรือติดต่อสายด่วน 1506 (ตลอด 24 ชั่วโมง)