ปชป.ให้กำลังใจจนท. แนะรัฐรวมศูนย์สื่อสาร สร้างความเชื่อมั่น หวั่นปชช.สับสน เฟกนิวส์พุ่ง

ทีมโฆษกปชป. ให้กำลังใจ จนท. แพทย์ พยาบาล คนไทยทุกคนสู้ภัยโควิด-19 แนะ “บิ๊กตู่”พูดคนเดียว ป้องกันความสับสน และสร้างความเชื่อมั่น ไม่เช่นนั้น ปชช.จะหาข่าวเอง จนเจอ Fake News

เมื่อวันที่ 23 มี.ค.นายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการรับมือต่อสถานการณ์ไวรัสโควิด -19 ว่า ขอเป็นกำลังใจให้ เจ้าหน้าที่สาธารณสุข แพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทุกคน ที่ทุ่มเททำงานเพื่อประชาชนและประเทศ ขณะนี้ไม่มีสิ่งใดสำคัญไปกว่าความสามัคคี มีวินัย ปฏิบัติตามมาตรการของทางภาครัฐอย่างเคร่งครัด การให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ การศึกษาข้อมูลเพื่อป้องกันอย่างถูกวิธี สิ่งสำคัญคือทุกคนต้องช่วยกันเพื่อหยุดยั้งการแพร่ระบาด และต้องยอมรับว่าเหตุการณ์นี้มีผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เมื่อรัฐบาลมีความจำเป็นตัดสินใจเพื่อประโยชน์ส่วนรวม ก็จะต้องมีแผนรองรับเช่นกัน การปิดกิจการ การเลิกจ้าง การหยุดงาน มีผลกระทบต่อวิถีชีวิตของประชาชนอย่าง ได้ แต่เชื่อว่ารัฐบาลจะมีมาตรการต่างๆ ตามมา สำหรับเรื่องสำคัญอีกประการคือ อาหารการกิน ยารักษาโรค รัฐบาลควรมีการใช้เทคโนโลยีให้เกิดประโยชน์ ทำแอพพลิเคชั่นเพื่อเป็นแผนที่บอกพิกัดร้านอาหาร ร้านขายยา ว่ามีที่ใดบ้างให้เป็นระบบ เพื่อป้องกันความตื่นตระหนกของประชาชน อีกทั้งรัฐบาลต้องรวมศูนย์การสื่อสารให้ไปอยู่ที่ศูนย์บัญชาการที่ทำเนียบฯเพียงที่เดียว ทุกหน่วยงานควรส่งข้อมูลมาส่วนกลางเพื่อไม่ให้เกิดความสับสนในการสื่อสารข้อมูล เพราะการสื่อสารกับประชาชนในสถานการณ์เช่นนี้ความรวดเร็ว และแม่นยำ

ด้านนางดรุณวรรณ ชาญพิพัฒนชัย รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่าจากการสื่อสารของภาครัฐ เกี่ยวกับสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ขณะนี้ประชาชนมีความสับสนเรื่องข้อมูลข่าวสารมาก โดยเฉพาะเหตุการณ์การสั่งปิดสถานที่ (เป็นการชั่วคราว) ของกทม. เมื่อวันที่ 21 มี.ค.ที่ผ่านมา เป็นตัวอย่างที่ทำให้สังคมเกิดความตื่นตระหนก จนแห่ไปซื้อสินค้าเพื่อนำมากักตุนในหลายพื้นที่ทั่วกทม. ดังนั้น ในภาวะวิกฤตข้อมูลที่ใช้สื่อสารจะมีความเชื่อมโยงกันจากหลายภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ซึ่งมีหน่วยงานที่ตั้งขึ้นมาเป็นกรณีพิเศษคือ ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานฯ ภาคประชาสังคม และประชาชนทั่วไป โดยเฉพาะประชาชนที่จำเป็นต้องได้รับข้อมูลข่าวสารที่ชัดเจน ครบถ้วน ถูกต้อง รวดเร็ว ทันท่วงที การให้ข้อมูลจากภาครัฐจึงต้องมีความแม่นยำ ถูกต้องและทันท่วงที รัฐจึงต้องมีการบูรณาการข้อมูลจากหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องให้เป็นเอกภาพ หากรัฐสื่อสารข้อมูลที่ขาดความน่าเชื่อถือ ประชาชนจะหันไปแสวงหาข้อมูลข่าวสารด้วยตัวเอง ที่อาจเจอ Fake News หรือข่าวปลอมที่บิดเบือน หลอกลวง

นางดรุณวรรณ กล่าวต่อว่า การสารสื่อสารในภาวะวิกฤตที่มีประสิทธิภาพ จึงมีข้อเสนอแนะต่อผู้ที่เกี่ยวข้อง โดยบทบาทของภาครัฐ ตั้งจัดให้มีคณะทำงานด้านการสื่อสาร กำหนดตัวผู้มีอำนาจสูงสุดในการตัดสินใจในรูปแบบรวมศูนย์ ในสถานการณ์วิกฤตระดับประเทศ บทบาทนี้มีความสำคัญมาก เพราะจะเป็นผู้กำหนดทิศทางทางในการสื่อสารไปยังสาธารณชนอย่างเป็นระบบ รวมไปถึงกำหนดตัวผู้ให้ข่าวที่ชัดเจนว่าเป็นใครและแจ้งให้สาธารณชนทราบ อาจมีมากกว่าหนึ่งคนได้โดยแยกเป็นรายประเด็นเช่นด้านสถานการณ์การระบาด รายงานอุบัติการณ์ มาตรการทางการแพทย์และสาธารณสุข มาตรการการให้ความช่วยเหลือด้านต่าง ๆ ซึ่งคุณสมบัติที่ของผู้ให้ข่าวต้องมีความน่าเชื่อถือ มีความรู้ความเข้าใจในประเด็น สั้น กระชับ ชัดเจน เรียบง่าย ไม่สับสน ทั้งนี้ผู้ให้ข่าวที่สำคัญสุดคือนายกรัฐมนตรี ต้องออกมาพูดในประเด็นที่เกี่ยวกับทิศทางการแก้ไขปัญหา การให้ขวัญและกำลังใจ การสร้างความเชื่อมั่น ในฐานะผู้นำสูงสุดของประเทศ รวมถึงการให้ข่าวอย่างเป็นทางการ แบบถูกที่ถูกทาง ถูกจังหวะเวลา ด้วยข้อมูลที่ถูกต้อง สำหรับสถานการณ์การที่สังคมอยู่ในภาวะตื่นตระหนก การให้ข่าวเป็นรายวันจึงมีความเหมาะสมกับสถานการณ์ที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา

“ที่ผ่านมา ได้เห็นความตั้งใจของรัฐบาลในการทำงานด้านการสื่อสาร แต่ต้องยอมรับว่ายังมีจุดที่ต้องปรับปรุง เพื่อให้ดีขึ้นกว่าเดิม ส่วนตัวขอให้กำลังใจทุกฝ่ายที่กำลังทำงานอย่างหนัก รวมถึงพี่น้องประชาชนคนไทยทุกคน บางทีในวิกฤตอาจมีโอกาส สามารถนำมาถอดบทเรียนเพื่อสร้างมาตรฐานในการทำงานนอกเหนือไปจากการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพแล้ว หน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ต้องมีบทบาทในการจัดการการปล่อยข่าวลวง ควบคู่กันไปด้วยอย่างเด็ดขา ” นางดรุณวรรณ กล่าว