“บิ๊กตู่”เริ่มทำงานเหลื่อมเวลา จ่อถกมาตรการช่วยคนหยุดงาน-ยังไม่ประกาศ พรก.ฉุกเฉิน

“บิ๊กตู่”เริ่มทำงานเหลื่อมเวลา เตรียมประชุมบ่าย 2 นี้ หามาตรการรองรับ หลังคนแห่กลับภูมิลำเนา รวมทั้งปัญหาคนว่างงาน ยังไม่ประกาศ พรก.ฉุกเฉิน

ความเคลื่อนไหวของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม เมื่อวันที่ 23 มี.ค.ว่า นายกรัฐมนตรี เดินทางเจ้าปฏิบัติหน้าที่ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อเวลา 10.40 น. ซึ่งเป็นวันที่สองแล้วที่นายกฯเข้าปฎิบัติหน้าที่ที่ทำเนียบรัฐบาลในช่วงสาย ซึ่งคาดว่าเป็นการเหลื่อมเวลาทำงานของตัวเอง เพื่อไม่ให้เจ้าหน้าที่ต้องมาปฎิบัติหน้าที่ตั้งแต่ช่วงเช้าหรือผลัดเวลาการทำงาน ทั้งนี้ ในเวลา 14.00 น.พล.อ.ประยุทธ์ เป็นประธานการประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 ที่ตึกสันติไมตรีทำเนียบรัฐบาล ซึ่งคาดว่าจะมีการหารือถึงมาตรการต่างๆในช่วงที่มีการแพร่ระบาดเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องของไวรัสโควิด-19 โดยเฉพาะมาตรการการช่วยเหลือประชาชนที่ต้องหยุดหรือพักงานในช่วงที่มีมาตรการเข้ม อีกทั้งแรงงานนอกระบบที่ขณะนี้มีความตื่นตระหนกอย่างมาก ส่วนกระแสข่าวที่จะมีการประกาศใช้พระราชกำหนดฉุกเฉิน (พ.ร.ก.) จะยังไม่มีการประกาศใช้แต่อย่างใด ขนาดนี้รัฐบาลจะใช้มาตรการเบาไปหาหนัก ซึ่งขณะนี้นี้สถานการณ์ยังไม่ถึงระดับที่จะมีการประกาศใช้

ทั้งนี้ในช่วงเวลา 14.00 น. ที่ศูนย์ข้อมูลรัฐบาลโควิด-19 จะมีการแถลงข่าวของศูนย์ประจำวัน โดยประเด็นที่น่าสนใจได้แก่มาตรการการจัดการอีกครั้ง เมื่อมีคนเดินทางออกต่างจังหวัดไปยังภูมิลำเนาของตัวเองจำนวนมาก โดยกระทรวงมหาดไทย รวมถึงการดูแลผลกระทบร้านอาหารข้างทางจากมาตรการล็อคดาวท์กรุงเทพฯ โดยกรุงเทพมหานคร ขณะที่สมาคมธนาคารไทย จะชี้แจงแผนรองรับการให้บริการประชาชนเช่นการใช้งานตู้เอทีเอ็มความพร้อมของธนาคารในการช่วยเหลือลูกค้าเช่นการพักชำระหนี้ เป็นต้น

ทั้งนี้ ทางศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาด ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 หรือ ศูนย์โควิด 19 ทำเนียบรัฐบาล ได้สรุปผลดำเนินการตามมาตรการทั้ง 6 ด้าน โดยเฉพาะการรับข้อคิดเห็นจากประชาชน เกี่ยวกับมาตรการการป้องกันการแพร่ระบาด ทางสายด่วน 1111 โดยยังคงติดต่อเข้ามาเพื่อสอบถามข้อมูล เรื่องแนวทางการปฎิบัติการป้องกันโรค มากที่สุด รองลงมาคือ การสอบถามมาตรการช่วยเหลือด้านต่างๆ เช่น การช่วยเหลือด้านการเงิน สิทธิในการตรวจรักษา การกระจายหน้ากากอนามัย และสถานการณ์ของโลก พร้อมส่งเรื่องไปยังหน่วยงานเกี่ยวข้องรับ และยังมีประชาชน เสนอข้อเกี่ยวเห็นเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดโควิด เช่นเดียวกับการรับเรื่องร้องเรียนที่ส่วนใหญ่เป็นการร้องเรียนเกี่ยวกับกิจกรรมที่อาจส่งผลกระทบ รองลงมา คือ ข้อร้องเรียนเกี่ยวกับการกำหนดมาตรการดูแลการเยียวยาการให้ความช่วยเหลือ มาตรการการคัดกรอง ขณะเดียวกัน ยังรับการแจ้งเหตุการพบเห็นสถานประกอบการบางแห่ง ไม่ปิดให้บริการตามประกาศ หรือการพบเห็นบุคคลที่เข้าข่ายไม่ทำตามมาตรหารกักกัน ซึ่งส่วนนี้ได้ประสานข้อมูลกับ กทม. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินแก้ปัญหา

ทั้งนี้ ข้อมูลตั้งแต่วันที่ 5-22 มี.ค. ได้รับเรื่องร้องทุกข์ และข้อคิดเห็นประชาชนทั้งสิ้น 17,897 เรื่อง ยุติแล้ว 17,629 เรื่อง อยู่ระหว่างดำเนินการของหน่วยงาน 268 เรื่อง ทั้งนี้ประชาชนสามารถแจ้งข้อมูลสอบถามรายละเอียดต่างๆเข้ามาได้ ที่ 02-2886070 -4 และ สายด่วน 1111