รัฐทุ่มแจกเงินช่วยลูกจ้างตกงาน ชงครม. 24 มี.ค.นี้ แย้มตัวเลขสูงกว่า 2 พันบาท

นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง กล่าวว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรีวันที่ 24 มีนาคม กระทรวงการคลังนำเสนอมาตรการด้านเศรษฐกิจช่วยลดผลกระทบโควิด-19 ระยะที่ 2 เข้าสู่การพิจารณาของครม.เน้นการช่วยเหลือประชาชนให้มีสภาพคล่อง หรือนำเงินใส่เข้าไปในกระเป๋าให้กับประชาชน เช่น ในกลุ่มลูกจ้างที่ถูกเลิกจ้าง อาชีพอิสระ หาบเร่ แผงลอย ส่วนจะเป็นเรื่องการแจกเงินหรือไม่ให้ติดตามดู ซึ่งก่อนหน้านี้มาตรการระยะที่ 1 เคยมีแนวคิดแจกเงิน 2,000 บาทต่อคน แต่ถูกต่อต้านมาก แต่ขณะนี้ไวรัสโควิด-19 สร้างผลกระทบต่อประชาชนและลูกจ้างมากจน 2,000 บาทอาจไม่เพียงพอ ดังนั้นเมื่อผลกระทบมากขึ้น การช่วยเหลือต้องมากขึ้น

นายกอบศักดิ์ กล่าวว่า นอกจากนี้จะนำเรื่องของการเช่าซื้อ โดยเฉพาะลูกค้าเงินกู้ เพื่อซื้อรถยนต์ที่อาจได้รับผลกระทบจากโควิด-19 จนไม่มีรายได้ ทำให้ไม่สามารถชำระหนี้ได้ ดังนั้นจะหารือกับนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เพื่อหามาตรการช่วยเหลือ และเตรียมเรียกบริษัทเช่าซื้อเข้าหารือ เพื่อผ่อนปรนเงื่อนไข ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลได้หารือไปแล้ว แต่เหมือนจะมีปัญหาอยู่มาก แม้บริษัทเช่าซื้อรถยนต์ผ่อนปรนเงื่อนไขไปบ้าง ตามที่รัฐบาลขอความร่วมมือ และมีบางบริษัทพักเงินต้นแต่ยังเก็บดอกเบี้ย ดังนั้นดูว่าควรไปข่วยอย่างไร คาดว่าเสนอเข้าครม.ในสัปดาห์สุดท้ายของเดือนมีนาคม

แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า ขณะนี้กระทรวงการคลังกำลังพิจารณามาตรการดูแลกลุ่มลูกจ้างที่ถูกรัฐสั่งปิดสถานประกอบการ เช่น ห้าง ผับ โรงหนัง ร้านอาหาร สนามมวย สนามกีฬา ตลาด(ยกเว้นตลาดสด) เพื่อนำเสนอต่อครม.ในวันที่ 24 มีนาคมนี้ ซึ่งเป็นการช่วยเหลือเพิ่มเติม จากการช่วยเหลือของสำนักงานประกันสังคมที่จ่ายเงินให้กับลูกจ้างที่รัฐมีคำสั่งให้หยุดกิจการ 50% เป็นระยะเวลาไม่เกิน 60 วันมีผล ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2563

“แม้ประกันสังคมเข้ามาช่วยแล้วต้องยอมรับว่ามีกลุ่มลูกจ้างที่อยู่นอกระบบประกันสังคม เช่น ลูกจ้างในร้านอาหาร ร้านขายของในตลาด หรือร้านขายของในห้างในลักษณของการเช่าพื้นที่ ซึ่งจำเป็นที่รัฐต้องมีมาตรการมาช่วยเหลือลูกจ้างในกลุ่มนี้ทันที เนื่องจากเมื่อห้างปิดลง ร้านอาหารปิดลง ตลาดห้ามขาย ส่วนใหญ่นายจ้างหยุดการจ่ายเงินเดือน ดังนั้นเมื่อลูกจ้างบางคนที่ไม่ได้อยู่ในกลุ่มประกันสังคม จะไปขอรับการชดเชยจากประกันสังคมคงไม่ได้”แหล่งข่าวกล่าว

แหล่งข่าวกล่าวต่อว่า แนวทางหนึ่งมองไว้ว่าจะช่วยเหลือกลุ่มลูกจ้างที่รัฐสั่งให้ปิดกิจการคือ แจกเงิน แต่ต้องมีระบบหาตัวตนของกลุ่มคนดังกล่าว แต่การช่วยเหลือไทยคงทำได้ไม่เท่ากับในอังกฤษ ที่รัฐบาลอังกฤษจ่ายเงินให้แก่ผู้ว่างงานในสัดส่วน 80% ของเงินเดือนที่เคยได้ หรือวงเงินไม่เกิน 2,500 ปอนด์ หรือคิดเป็นเงินประมาณ 1 แสนบาท เป็นเวลา 3 เดือน ซึ่งไทยไม่ได้มีเงินมากเท่ากับอังกฤษ ดังนั้นการช่วยเหลือคงอยู่ในวงจำกัด และคงต้องดูวงเงินว่าจะมีแค่ไหน

แหล่งข่าวกล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตามมาตรการหนึ่งที่กระทรวงการคลังเตรียมไว้แล้วและนำเสนอต่อครม.คือ ให้เงินกู้สำหรับลูกจ้างที่เดือดร้อนจากภาวะเศรษฐกิจและตกงานในช่วงนี้ ให้กู้คนละ 1-2 หมื่นบาท รัฐคิดดอกเบี้ยต่ำมาก เช่น 0.1% ต่อปี ถ้ากู้ 1 หมื่นบาทเสียดอกเบี้ยเพียง 10 บาทต่อปี ถ้ากู้ 2 หมื่นบาท เสียดอกเบี้ยเพียง 20 บาทต่อปี ถือว่าถูกมาก และรัฐบาลมีระยะเวลาปลอดชำระเงินต้นและดอกเบี้ยระยะเวลา 6 เดือน โดยกำหนดให้ผ่อนชำระหนี้ 2 ปี ตรงนี้น่าจะช่วยต่อชีวิตของกลุ่มลูกจ้างตกงานและต้องการเงินมาดำรงชีวิต เพราะมีระยะเวลาไม่ต้องชำระหนี้ถึง 6 เดือน หลังจากเศรษฐกิจฟื้นและหางานใหม่ได้ ผ่อนชำระเพียง 400-500 บาทต่อเดือน โดยการปล่อยกู้ดังกล่าวดำเนินการผ่านธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ วงเงิน 4-5 หมื่นล้านบาท

“มาตรการเงินกู้น่าจะเสนอเข้าครม. ในอังคารนี้ เป็นมาตรการช่วยเหลือลูกจ้างทุกกลุ่ม แต่เรื่องการแจกเงินคงต้องหารือกันให้รอบคอบ เพราะก่อนหน้านี้เคยมีแนวคิดแจกเงินให้ลูกจ้างได้รับผลกระบจากเศรษฐกิจคนละ 2 พันบาท มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ค่อนข้างมาก อย่างไรก็ตามพอสถานการณ์โควิด-19 รุนแรงขึ้น รัฐบาลอยากช่วยเรื่องแจกเงินอีกครั้ง คาดว่าจะมากกว่าที่เคยคิดจะให้ 2 พันบาทก่อนหน้านี้ โดยกำลังดูว่าจะแจกได้มากน้อยแค่ไหน  เพราะต้องดูเงินในกระเป๋ารัฐบาลด้วย”แหล่งข่าวกล่าว