“หมอมิ้ง” แนะทางรับมือ “โควิด-19” ผู้นำต้อง “ฟังให้ชัด-คิดให้เป็น-สั่งให้ครบ-สื่อสารให้เข้าใจ”

วันที่ 22 มีนาคม 2563 นายแพทย์พรหมินทร์ เลิศสุรีย์เดช อดีตรองนายกรัฐมนตรียุครัฐบาลไทยรักไทย ได้โพสต์ข้อความเสนอแนวทางรับมือการระบาดของ “โควิด-19” ที่ต้องทำมาตรการอื่นควบคู่กันด้วย ในขณะที่วันนี้เป็นวันแรกที่คำสั่งปิดสถานที่และห้างสรรพสินค้าในกรุงเทพฯและจังหวัดอื่นๆ มีผลบังคับใช้ อันเป็นมาตรการที่ยับยั้งการแพร่ระบาดในขณะที่ไทยมีจำนวนผู้ติดเชื้อแล้วกว่า 500 คน

โดยนายแพทย์พรหมินทร์ระบุว่า วันนี้เป็นวันแรกของการเริ่มใช้มาตรการ”ปิดกรุงเทพ”และจังหวัดข้างเคียง เพื่อลดอุบัติการณ์ การติดต่อ COOVID19 ด้วยกระบวนการ SOCIAL DISTANCING ให้ได้ผล แต่มาตรการดังกล่าว ไม่ใช่มาตรการเดียว หากแต่ต้องดำเนินควบคู่มาตรการอื่นๆอีกหลายเรื่อง การปิด กรุงเทพ 21 วันจึงจะได้ผล

1. ปิดทางเข้าของผู้นำเชื้อรายใหม่ๆเข้ามาในสังคม คนต่างชาติไม่มีเหตุจำเป็นต้องเข้ามาช่วงนี้ให้ใช้วิธีติดต่อทางอื่น คนไทยผู้ที่กลับจากต่างประเทศ ในที่นี้มิใช่ห้าม แต่ใช้มาตรการที่เหมาะสม คนไทยกลับจากอิตาลี เยอรมัน อังกฤษ อเมริกา ล้วนแต่เป็นประเทศที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อ สูงกว่าไทยมาก เมื่อจะย่างเข้ามาไทย จะต้องถูกตรวจแยกแยะ กักกัน ติดตามอย่างไร ผู้มีอาการก็แยกเข้ารักษา ไม่มีอาการจะต้องให้ติดตามอย่างไร กลไกของสาธารณสุขมีถึงระดับหมู่บ้าน ทั้งยังมีสมาชิกสังคม จะช่วยแบ่งเบางานให้เจ้าหน้าที่อย่างไร ใช้เครื่องมือสื่อสารสมัยใหม่ช่วยอย่างไร กระทรวงดิจิตอลฯ ต้องเข้ามาช่วยอย่างแม่นยำอย่างไร

2. เร่งติดตามกลุ่มเสี่ยงติดและแพร่เชื้อรายเก่าที่ปะปนในสังคม 3 กลุ่มใหญ่ (นี่ยังไม่รวม กล่มนักเรียน นักศึกษากลุ่มใหญ่จากโลกตะวันตกที่กำลังทะยอยกลับเข้ามา)คือกลุ่มสนามมวย ไม่ยอมมารายงานตัว อีกหลายร้อยคน กลุ่มทองหล่อ และกล่มที่กลับจากมาเลเซีย นี่ภายใน 2 อาทิตย์ ต้องหาตัวให้พบ ขณะนี้ไม่ต้องปืดบังกันแล้ว กิจกรรมหากิน และสังคมหยุดหมด ทุกคนต้องเหินห่างกันเพื่อขจัดเชื้อร้ายนี้ ใช้3 สัปดาห์นี้ให้คุ้มเป็นประโยชน์ มิฉะนั้นจะสูญเปล่า และต้องใช้กลไกประชาชนร่วมด้วย

3. การเตรียมการบริการทางการแพทย์ ด้านการตรวจหาผู้ป่วย การบริการรักษาพยาบาล อุปกรณ์ป้องกันโรคของเจ้าหน้าที่ สถานที่ อุปกรณ์แพทย์ช่วยชีวิตในรายอาการหนักโดยเฉพาะ เครื่องช่วยหายใจ ต้องปรับเตรียมให้เพียงพอ เจ้าหน้าที่อาจต้องถูกระดมจัดสรร จากที่อื่น เช่นกรณีอูฮั่น ที่รัฐบาลระดมมาจากทั่วประเทศ โดยเฉพาะ เจ้าหน้าที่แพทย์และพยาบาลทหาร นักเรียนแพทย์ นักเรียนพยาบาล เหตุการณ์จะเร่งหนักขึ้นในอัตราเร่งตั้งแต่สัปดาห์นี้ เป็นต้นไป ถ้าดูจากตัวเลขทางสถิติ

4. สื่อสารให้สังคมเข้าใจ รัฐบาลต้องระดมสมองจากผู้รู้และเรียนรู้ประสบการณ์จากต่างประเทศที่ประสบความสำเร็จ และที่กำลังเผชิญปัญหา วิเคราะห์ให้ชัด เลือก”ตัดสินใจ”ในสิ่งที่”คาดว่า”ได้ผลดีที่สุด สื่อสารอย่างชัดเจน ว่าจะ”ให้ประชาชนทำอะไร เพราะอะไร” ในทางตรงข้ามถ้าการสั่งการสับสน สั่งการขัดแย้ง “ประชาชนก็ขาดความเชื่อมั่น” ไม่ให้ความร่วมมือ ตระหนกตกใจ แย่งกันเราตัวรอด

5. มาตรการเยียวยา ชดเชยได้ ทั้งภาครัฐและเอกชน โดยเฉพาะเอกชนรายเล็กและลูกจ้าง การหยุดงานหยุดเศรษฐกิจ ก็หยุดรายได้ไปด้วย จะมีมาตรการใดบ้าง ถ้า3 สัปดาห์แล้วจบก็พอทำเนา แต่ที่จริงนี่เป็นเพียงบทเบื้องต้น ซึ่งอาจทอดยาวเป็นปี หากการจัดการใน 3 สัปดาห์นี้ ทำได้ไม่ดีพอ

นี่เป็นความท้าทายที่ยิ่งใหญ่ กับการเป็นผู้นำประเทศ ผู้นำรัฐบาล ที่จะต้องสร้าง”ความเชื่อมั่น”ให้ประชาชนชาวไทย ร่วมกันระดมสรรพกำลัง ทรัพยากรทั้งมวลเดินหน้าฝ่าวิกฤตไปด้วยกัน เป็นบทพิสูจน์ความเป็นผู้นำโดยแท้

COVID19 : วิกฤตพิสูจน์ผู้นำไทย
ผู้นำที่รับฟังความเห็นผู้เชี่ยวชาญให้ชัด ได้อย่างเข้าใจดี คิดเลือกตัดสินใจให้เป็น เลือกหนทางที่คาดว่าดีที่สุด กล้าสั่งการให้รอบด้านและสื่อสารสร้างความเชื่อมั่นระดมความร่วมมือจากประชาชนอย่างกว้างขวางก็สามารถนำฝ่าวิกฤตไปด้วยกัน

เตือน ‘รัฐบาลอย่าล้าหลังประชาชน อย่าล้าหลังสถานการณ์’

ก่อนหน้านี้ นายแพทย์พรหมินทร์ก็ออกมาเตือนรัฐบาลเมื่อวานนี้ (21 มีนาคม 2563) ด้วยว่า ผมได้เฝ้าติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค COVID19 ของโลกและของไทย ในฐานะประชาชนไทยและในฐานะแพทย์วัยเกษียณ ที่มีเพื่อนวัยเดียวกันเคยเป็นทั้งฝ่ายนโยบาย ฝ่ายบริหาร ตลอดจนฝ่ายปฏิบัติในสถานการณ์ฝ่าวิกฤตไข้หวัดนก และ โรค SARS มาแล้ว ก็ได้แต่เป็นกำลังใจและด้วยความเชื่อมั่นว่าทีมแพทย์กระทรวงสาธารณสุขจะแนะนำรัฐบาลดำเนินการฟันฝ่าวิกฤต COVID19 ได้ดี แต่นับวันผมและประชาชนเริ่มสูญเสียความเชื่อมั่นรัฐบาลในฐานะผู้นำประชาชนให้พ้นวิกฤตได้ โดยเฉพาะเหตุการณ์ วันนี้ มีข่าวช่วงใกล้เที่ยงผ่านสื่อทุกสำนักว่า กทม.ประกาศใช้มาตรการ เด็ดขาดสั่งปิดห้างสรรพสินค้า และตลาด 21 วัน แต่ไม่ทันถึง ชม. ประมาณเที่ยงก็ได้รับแจ้งจากสำนักประชาสัมพันธ์ กทม.ยกเลิกข่าว พร้อมกับ โฆษกรัฐบาล เปิดเผยผ่านไลน์สื่อทำเนียบฯว่า “หน่วยงานที่มีอำนาจสั่งการคือมหาดไทย และผู้ว่าราชการจังหวัด กำลังหารือกันอยู่……ขอให้หยุดแพร่ข่าวที่ไม่มีที่มาที่ไป ไม่ตรงกับความจริง”

อ้าว! โฆษกรัฐบาล หาว่าสำนักประชาสัมพันธ์กทม. เสนอ”ข่าวไม่จริง” ในเรื่องใหญ่ขนาดเกี่ยวข้องกับชาวกรุงเทพ นับ 10 ล้านคน แต่ต่อมา ประมาณ 13.00 น. ผู้ว่า กทม.พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ก็ออก ประกาศทางการลงนามถูกต้อง ยืนยันมาตรการ ที่ประกาศไว้ก่อนหน้านี้แล้ว ตามด้วย วิดีโอถ่ายทอดประกาศดังนี้
https://www.facebook.com/219158378492326/posts/779636019111223/ ซึ่งเป็นมาตรการเพื่อให้เกิด SOCIAL DISTANCING เพิ่มระยะห่างทางสังคม เพื่อลดโอกาสติดต่อจากเชื้อ COVID19 ระหว่างกันและกัน ที่เป็นมาตรการที่หลายประเทศเลือกใช้ได้ผลมาแล้ว ทั้งนี้รัฐบาลได้รับทราบข้อเสนอนี้โดยผู้เชี่ยวชาญมาโดยตลอด ดังที่เป็นเสียงเรียกร้องอย่างกว้างขวางมาระยะหนึ่งแล้ว รอแต่จะสั่งการเมื่อไร

ดังนั้น เมื่อตอนแรกมีข่าว ว่ากทม. ประกาศสั่งการเด็ดขาด เกี่ยวข้องกับชีวิตคนกว้างขวางเช่นนั้น ทำให้ผู้เชี่ยวชาญและประชาชนส่วนใหญ่โล่งใจทันที เพราะเชื่อว่าอย่างไรเสียก็หลีกไม่พ้นต้องใช้มาตรการนี้ เกรงแต่จะช้าเกินไป แต่พอโฆษกรัฐบาลออกมายับยั้งเช่นนี้ จึงสร้างความสับสนอลหม่านออกไปกว้างขวาง เพราะโดยหลักการ โฆษกรัฐบาลไหนก็ต้องทำงานใกล้ชิดกับผู้นำรัฐบาลนั้น ประชาชนจึงอาจคาดเดาไปได้ว่า รัฐบาลยังไม่อยากให้ประกาศ แต่ผู้ว่ากทม. ฝืนดำเนินการไปเลย หรือไม่ก็คือรัฐบาลขาดเอกภาพในการสั่งการ และดำเนินการ เหตุการณ์นี้จึงตอกย้ำภาพซ้ำๆ นับครั้งไม่ถ้วนตามที่ผ่านๆมา ระหว่างการบริหารของรัฐบาลในช่วงวิกฤต COVID19 ที่ขาดเอกถาพ ขาดความเด็ดขาด แก่งแย่งบทบาทกัน ตลอดจนมีผู้แอบหาผลประโยชน์โดยกลไกราชการท่ามกลางวิกฤตนี้. ดังนั้น ประกาศนี้ แทนที่รัฐบาลจะได้คะแนนนิยมด้านการจัดการคืนมา กลับยิ่งเสียความเชื่อมั่นจากประชาชนลงไปอีก

ย้ำให้คิดได้ว่า รัฐบาลบริหารล้าหลังสถานการณ์ ล้าหลังมาตรการของประชาชนหรือไม่ เหตุการณ์ที่ชวนให้คิดเช่นนี้ ได้แก่

1) แมททิว ศิลปิน เปิดเผยว่าเป็นผู้ติดเชื้อ COVID19 ต่อสาธารณะ ด้วยตัวเอง เพื่อให้ผู้สัมผัสและใกล้ชิดไปตรวจและกักตัวเอง ในขณะที่รัฐบาลเกือบเอาผิด กฎหมายด้วยข้อหาว่า fake news และนี่ล่าสุด ศิลปิน แพรวา ก็ดำเนินการเช่นกัน เพื่อประโยชน์สาธารณะ ให้เจ้าหน้าที่ตรวจค้นหาผู้สงสัยและจำกัดผู้ติดเชื้อให้เร็วที่สุด
2)ผู้ว่าบุรีรัมย์, อุทัยธานี ประกาศปิดจังหวัด ก่อนรัฐบาลมีคำสั่ง หรือนโยบาย ทำเป็นตัวอย่างให้อีกหลายจังหวัดกล้าดำเนินการตามเช่นกัน
3)ผู้ว่ากทม.สั่งปิดห้าง 21 วัน ในขณะทีโฆษกรัฐบาลให้ข่าวพาสับสน
4)รัฐมนตรี ดิจิตอลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม มัวไล่จับประชาชน ตัวเล็กตัวน้อย ว่าให้ข่าวปลอม(FAKE NEWS) https://www.brighttv.co.th/news/social/fake-news-covid-19https://www.one31.net/news/detail/18327 , ทั้งที่รัฐบาลเองเสียอีก ดังเช่นการทำงานของโฆษกรัฐบาลในวันนี้ที่สร้างความสับสน โกลาหล แก่ประชาชนกว่าหลายสิบเท่า สะท้อนการขาดเอกภาพ ขาดการสื่อสารที่ให้ทิศทางชัดเจน สื่อสารสาระกลับไปกลับมา ไม่เป็นผู้กำหนดแนวทางมาตรการล่วงหน้าแก่ประชาชน จึงขาดความน่าเชื่อถือ บางครั้งสร้างความสับสนแตกตื่น ซ้ำเติมการกลัวภัยโรคร้ายเข้าไปอีก.

ที่กล่าวเช่นนี้ เพราะ นายทหารชั้นดี เป็นผู้ที่ฝึกฝนมาเพื่อแก้วิกฤต (Crisis Management)โดยตรง นายกรัฐมนตรีเป็นอดีตผบ.ทบ.เป็นถึงผู้นำสูงสุดของกองทัพมาก่อน น่าจะเป็นที่พึ่งที่หวังของประชาชนได้ ขออย่าให้รัฐบาลล้าหลังประชาชน ล้าหลังสถานการณ์เสียเอง