‘หมอยง’ ชี้ศึกนี้ใหญ่นัก! สู้ “โควิด-19” ยาวแน่ ลั่นต้องสูญเสียน้อยที่สุด

วันที่ 20 มีนาคม 2563 เมื่อเวลา 14.00 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล ศูนย์ข้อมูลมาตรการแก้ไขปัญหาจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ภายใต้ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 แถลงประจำวัน โดยมี นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะด้านไวรัสวิทยา คลินิกภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย นายคมสัน ขวัญใจธันยา รักษาการประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย นายเทวัญ ลิปตพัลลภ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นพ.รุ่งเรือง กิจผาติ ที่ปรึกษาระดับกระทรวงและโฆษกกระทรวงสาธารณสุข นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เข้าร่วม

นพ.ยง กล่าวว่า เมื่อเชื้อกระจายไปทั่วโลกแล้ว ต้องยอมรับว่ายากที่จะกวาดล้างให้หมดในระยะเวลาอันสั้นและต้องใช้เวลาในการรักษา เราต้องวางกลยุทธ์ต่อสู้ในระยะยาว มากกว่าในระยะสั้นที่อาจจะทำให้เกิดความสูญเสียเยอะ เพราะระบบรับไม่ทัน จึงต้องมีมาตรการลดความสูญเสีย ด้วยการชะลอการติดโรคหรือการติดโรคให้ช้าที่สุด เพื่อรอมาตรการต่างๆ และความรู้ที่จะนำมาป้องกัน รวมถึงยาที่จะใช้ในการรักษา ยืนยันว่ามียาที่พอรักษาได้ถึงแม้จะไม่ 100 % แต่จะลดโอกาสปอดบวมหรืออัตราเสียชีวิตได้

นพ.ยง กล่าวว่า ในระยะแรกซื้อ 10,000 เม็ด และได้เพิ่มขึ้นมา 1 แสนเม็ด และจะได้มาเติมอีก 2 แสนเม็ด และผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่ 80 % มีอาการน้อย ไม่หนักหรืออาจหายไปได้เอง ส่วน 15-16 % มีอาการมาก และมี 4 % วิกฤตซึ่งกลุ่มนี้มีความจำเป็นที่ต้องการใช้ยาเฉพาะ ซึ่งคนไข้ 1,000 คนจะมีผู้ที่ต้องการใช้จริงประมาณ 200 คน โดยอยู่ระหว่างประสานซื้อยาจากทางจีน เมื่อยาใกล้จะหมดสต็อกก็จะมียาล็อตใหม่เข้ามา ยืนยันยามีเพียงพอที่จะใช้ในการรักษา

นพ.ยง กล่าวว่า สำหรับห้องและเตียงที่จะรองรับผู้ป่วยต้องมีการคัดกรองตามอาการที่มีอาการหนัก และผู้ป่วยทั้งหมดไม่มีความจำเป็นต้องอยู่ห้องความดันลบ แต่ต้องอยู่ห้องที่แยกออกจากป่วยปกติ เพื่อไม่ให้แพร่ไปสู่คนอื่น และหากอาการไม่มากเชื่อว่าหมอทุกคนสามารถดูแลได้ยกเว้นเฉพาะอาการวิกฤต และหากถึงเวลานั้นเชื่อว่ารัฐบาลจะมีมาตรการไปหาโรงพยาบาลเสริม หากมีผู้ป่วยจำนวนมาก

“การทำศึกสงครามถ้าบอกว่าไม่สูญเสีย ไม่มี แต่การสูญเสียต้องมีกลยุทธ์ที่จะทำให้สูญเสียน้อยที่สุด ศึกครั้งนี้ใหญ่หลวงและยาวนาน แต่เราต้องทำให้สูญเสียน้อยที่สุด จะชนะหรือไม่ขึ้นอยู่กับทุกคน เมื่อเรามีทุกอย่างพร้อมแล้วกำลังใจก็จะมาแล้วทุกอย่างจะเข้าสู่ภาวะปกติ”นพ.ยงกล่าว

ด้านนายคมสัน กล่าวว่า ขอย้ำว่าเรามีข้าวสารที่สามารถบริโภคได้ทั้งปี รวมถึงอาหารชนิดอื่นๆก็มีเพียงพอ ส่วนที่เห็นว่ามีการไปซื้อของตุนเอาไว้ อาจเป็นพฤติกรรมที่เกิดขึ้นจากการเลียนแบบจากต่างประเทศ พฤติกรรมการบริโภคหรือชีวิตประจำวันนั้นต่างจากเรา ซึ่งต่างจากเหตุเมื่อปี 2554 ที่เกิดน้ำท่วมและขนส่งไม่สามารถกระจายสินค้าได้ แต่ครั้งนี้ยืนยันว่าในช่วงสุดสัปดาห์นี้จะกระจายสินค้าในกทม.ได้ทั่วถึง ขณะที่ต่างจังหวัดก็มีสินค้าไปเติมได้แน่นอน

นางนฤมล กล่าวว่า หลายฝ่ายเรียกร้องให้ปิดเมืองปิดประเทศ ซึ่งไม่อยากให้ไปยึดติดว่าให้รัฐบาลทำอย่างนั้น แต่ขอให้ดูที่ผลลัพธ์ของราชการ ป้องกันเชื้อที่มาจากต่างประเทศ และการแพร่ระบาดในประเทศว่าเราควบคุมได้มากแค่ไหน ซึ่งมาตรการต่างๆ ที่เรากำหนดขั้นตอนมากขึ้นก็เป็นการคัดกรองผู้ที่จะมาจากต่างประเทศมากขึ้น การควบคุมเชื่อในกทม.คือการเปลี่ยนสถานที่ต่างๆ เพื่อไม่ให้มีการกระจายแพร่เชื้อไปที่ต่างๆ จึงขอความร่วมมือให้อยู่กับบ้านมากที่สุด เพื่อให้แพทย์สามารถรับมือที่ด่านหน้าได้อย่างเต็มที่

สำหรับสถานการณ์แพร่ระบาดเชื้อโควิด-19 ประเทศไทยมีผู้ป่วยรายใหม่อีก 50 คน ยอดป่วยสะสม 322 ราย กระทรวงสาธารณสุข ได้แจกแจงอาชีพ พื้นที่ และสถานการณ์ที่ผู้ป่วยติดเชื้อ พร้อมระบุว่า ยังมีผู้ที่เข้าไปสัมผัสกับสถานที่เสี่ยงอีกจำนวนมากที่ยังค้นไม่พบ และไม่รายงานตัว คาดว่าจะมีถึง 500 ราย โดยย้ำว่า ผู้ที่เดินทางไปยังสนามมวย สถานบันเทิง ให้กักตัว งดการเดินทาง งดการร่วมกิจกรรมทางสังคม ทั้งนี้มีข้อเสนอจากหลายฝ่ายว่าควรยกระดับสถานการณ์โดยการปิดเมือง

ทั้งนี้ รัฐบาลได้เชิญ คณบดีแพทย์ศาสตร์จากมหาวิทยาลัยต่างๆ ได้เข้าร่วมประชุมที่ทำเนียบรัฐบาลเมื่อวันที่ 18 มี.ค. เพื่อขอรับทราบแนวทางการรับมือการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยพบว่า ข้อมูลที่คณะแพทย์ฯ เสนอนายกฯเมื่อวานนี้ ถึงความจำเป็นในการล็อคดาวน์ประชาชน ให้ “อยู่ในบ้าน”

“อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ” กับภาพอนาคต 30 วัน
หากใช้มาตรการล็อกดาวน์ให้ประชาชนอยู่ในบ้าน
• ตัวเลขคาดการณ์จำนวนผู้ป่วยติดเชื้อ จะอยู่แค่ 24,269 คน
• นอนโรงพยาบาล 3,640 คน
• ไอซียู 1,213 คน
• เสียชีวิต 485 คน

ถ้ายังทำแบบเดิมไม่หยุดการเคลื่อนย้ายของประชากร (ภายใน 30 วัน)

• คาดการณ์ว่าจำนวนผู้ป่วยติดเชื้อ จะสูงถึง 351,948 คน
• นอนพักรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาล 52,792 คน
• อยู่ไอซียู 17,597 คน
• เสียชีวิต 7,039 คน