วัฒนา จวกปมไล่บี้ภาษีหุ้นชินฯ ถาม เป็น“อภินิหาร”หรือ“อภิมหาอันธพาล”กันแน่

(19 มี.ค.) นายวัฒนา เมืองสุข อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวถึงกรณีการเก็บภาษีการขายหุ้น บริษัท ชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ SHIN (ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท อินทัช จำกัด (มหาชน) หรือ INTUCH) ให้แก่กองทุนเเทมาเส็ก ประเทศสิงคโปร์ ตั้งแต่วันที่ 23 ม.ค.2549 และกรมสรรพากร (ในยุคนั้น) ประเมินว่าต้องเสียภาษีพร้อมเบี้ยปรับรวมเป็นเงิน 11,300 ล้านบาท (ตัวเลขตั้งแต่ประมาณกลางปี 2550) ในหัวข้อ “อภินิหารหรืออภิมหาอันธพาล” ความว่า

รัฐบาลสั่งให้กรมสรรพากรใช้มาตรา 61 แห่งประมวลรัษฎากรประเมินเรียกเก็บภาษีจากนายกทักษิณ โดยเห็นว่าหุ้นชินคอร์ปจำนวน 329.2 ล้านหุ้น ที่โอ๊ค-เอมขายให้กับกองทุนเทมาเส็กในตลาดหลักทรัพย์ในราคาหุ้นละ 49.25 บาท นั้น เป็นของนายกทักษิณทั้งหมด แต่การจะใช้มาตรา 61 ประเมินเรียกเก็บภาษีจากผู้มีชื่อในหนังสือสำคัญ กรณีนี้คือใบหุ้นที่อยู่ในชื่อของโอ๊ค-เอม ที่ศาลฎีกาเห็นว่าถือไว้แทนนายกทักษิณ จะต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขว่าทรัพย์สินดังกล่าวก่อให้เกิดเงินได้พึงประเมิน แต่ธุรกรรมเกี่ยวกับหุ้นชินคอร์ปไม่เคยก่อให้เกิดเงินได้พึงประเมิน กล่าวคือ

ครั้งแรกแอมเพิลริชได้ขายหุ้นดังกล่าวให้กับโอ๊ค-เอมในราคาหุ้นละ 1 บาท ที่หลายฝ่ายเห็นว่าเป็นการขายต่ำกว่าราคาตลาดจึงสามารถเรียกเก็บภาษีได้ซึ่งคลาดเคลื่อน เพราะหากจะถือว่าหุ้นเป็นสินค้าหรือบริการซึ่งกรมสรรพากรอาจใช้มาตรา 65 ทวิ (4) แห่งประมวลรัษฎากรประเมินภาษีได้ นั้น จะต้องประเมินและเรียกเก็บจากผู้ขาย ส่วนโอ๊ค-เอมที่เป็นผู้ซื้อไม่มีหน้าที่ต้องเสียภาษี ต่อมาหุ้นดังกล่าวถูกขายให้กับกองทุนเทมาเส็ก แต่เป็นการขายในตลาดหลักทรัพย์จึงได้รับยกเว้นภาษีอีกเช่นกัน ดังนั้น ธุรกรรมทั้งสองครั้งไม่ว่า โอ๊ค-เอม จะกระทำฐานะส่วนตัวหรือในฐานะตัวแทนของนายกทักษิณก็ไม่ต่างกัน เพราะไม่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีทั้งสองธุรกรรม

หากพิจารณาเรื่องนี้ตามกฎหมายบนหลักนิติธรรม ไม่ว่าจะใช้อภินิหารขนาดใหนก็ไม่อาจใช้มาตรา 61 มาประเมินภาษีได้เพราะไม่มีภาระภาษีเกิดขึ้น เนื่องจากการซื้อขายหุ้นชินคอร์ปทั้งสองครั้งไม่ก่อให้เกิดเงินได้พึงประเมิน วิธีเดียวที่จะทำได้ใช้อำนาจเผด็จการแก้ไขกฎหมายเพื่อเรียกเก็บภาษีจากนายกทักษิณ แต่ไม่ใช่อภินิหารของกฎหมายและไม่จำเป็นต้องข้ามน้ำข้ามทะเลไปเรียนถึงเมืองนอกเพราะสำนักทรงเจ้าเข้าทรงก็สอนได้