“ดีอีเอส”หนุนใช้แอพ สแกนปชช.กลับจากประเทศกลุ่มเสี่ยง ชี้ ง่ายต่อการตามตัว

“ดีอีเอส” หนุนใช้แอพ “SydeKick “ช่วยส่งข้อมูลกรมควบคุมโรค สแกนปชช.หลังกลับจากประเทศกลุ่มเสี่ยงที่บ้าน14วัน ง่ายต่อการตามตัว

ที่ทำเนียบรัฐบาล ศูนย์ข้อมูลมาตรการแก้ไขปัญหาจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (COVID-19 ) แถลงการดำเนินงานของหน่วยงานต่างๆต่อสถานการณ์แพร่ระบาด มีพล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม นายเทวัญ ลิปตพัลลภ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะผอ.ศูนย์ ร่วมแถลง

นพ.รุ่งเรือง กิจผาติ โฆษกกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า การดูแลประชาชนที่มาจากประเทศกลุ่มเสี่ยง เมื่อกลับไปอยู่ภูมิลำเนาแล้ว เรามีขั้นตอนควบคุมดูแลและติดตามตัวได้ทุกวัน โดยทำตามหลักวิชาการอย่างถูกต้องในการเฝ้าระวังติดตามอาการ มีเจ้าหน้าที่สาธารณสุขให้ข้อมูลในการปฎิบัติตัวในช่วงเวลา 14 วัน และเชื่อว่าด้วยวัฒนธรรมของสังคมไทย เมื่อเข้าไปพูดคุยขอความร่วมมือให้กักตัวในที่พักเพื่อความปลอดภัยก็คิดว่าน่าจะดูแลได้

นายพุทธิพงษ์ กล่าวว่า ทางกระทรวงดีอีเอส ได้จัดทำแอพพลิเคชั่น “SydeKick” เพื่อติดตามและเฝ้าระวังผู้ที่ไปกักตัวที่ภูมิลำเนา เพื่ออำนวยความสะดวกให้เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน สามารถตรวจสอบบุคคลที่เดินทางกลับจากประเทศกลุ่มเสี่ยง โดยจะรวบรวมข้อมูลเพื่อให้กรมควบคุมโรค รวมทั้งกระทรวงมหาดไทย สามารถตรวจสอบและคัดแยกว่าจะต้องถูกส่งไปโรงพยาบาลหรือกักตัวสังเกตอาการ และยืนยันว่าตลอดช่วงเวลา 14 วัน ไม่ได้เดินทางไปไหน โดยแอพฯดังกล่าวรองรับการใช้งานโทรศัพท์ทุกระบบ เมื่อโหลดมาจะมีบาร์โค้ดให้สแกนเพื่อยืนยันตัวตน เช่น อยู่ที่กทม.หรือในต่างจังหวัด เจ้าหน้าที่ที่สาธารณสุข จะเห็นว่ามีใครอยู่ในจังหวัดใดบ้าง และหากมีการปิดโทรศัพท์ ก็จะมีเจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจสอบอีกชั้นหนึ่ง และอยู่ในพื้นที่เพื่อให้เกิดความมั่นใจในพื้นที่

นอกจากนั้นจะขอให้นักท่องเที่ยวต่างชาติและคนไทยที่เดินทางเข้ามาประเทศไทยและคนไทยที่กลับจากประเทศกลุ่มเสี่ยง โหลดแอพพลิเคชัน “AOT Airports” สำหรับติดตามข้อมูล โดยเริ่มตั้งแต่การเข้าไปกรอกข้อมูลที่ช่องCOVID ที่จำเป็นเพื่อเก็บไว้ใช้ในการตรวจสอบ โดยข้อมูลที่ใส่ไว้ในแอพฯทั้งสอง จะเก็บไว้เป็นเวลา 14 วัน หลังจากนั้นข้อมูลจะถูกลบเพื่อให้เป็นไปตามระบบสากลในเรื่องของข้อมูลส่วนบุคคล อย่างไรก็ตามสำหรับผู้ที่เดินทางกลับจากต่างประเทศทั้งคนไทยและต่างชาติ ที่ยังไม่มีเบอร์โทรศัพท์ไทย ก็มีบริการจำหน่ายหมายเลขเพื่อใช้สำหรับติดต่อในช่วงเวลา 14 วัน ราคา 49 บาท ไว้รองรับตั้งแต่ท่าอากาศยาน ทั้งนี้ระบบการใช้งานของแอพฯดังกล่าวจะต่างจากการใช้จีพีเอส ที่สามารถตั้งค่าแสดงโลเคชั่นที่ใดก็ได้ เพราะจะแสดงที่ตั้งจริงให้ทันทีเมื่อผู้ถูกกักตัวพูดคุยกับเจ้าหน้าที่จะเห็นทันทีว่าอยู่ที่บ้านจริงหรือไม่

นายเทวัญ กล่าวว่า จากการที่การอนามัยโลก(WHO)ประกาศให้เป็นภาวะฉุกเฉินเมื่อวันที่ 30 ม.ค.และยกระดับให้เป็นปัญหาสาธารณสุขระดับโลก ไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะมีการยกระดับรัฐบาลจึงได้เตรียมการไว้แล้ว และขอให้มีสำนึกความรับผิดชอบในการป้องกันตัวเอง บุคคลในครอบครัวและประชาชนทั่วไป โดยกักตัวไว้เฝ้าระวัง 14 วัน ส่วนการใช้แอพพลิเคชั่นติดตามตัวมาที่โหลดมาใช้แล้วฝากโทรศัพท์ไว้กับเพื่อนเพื่อหลีกเลี่ยงการตรวจสอบ ก็ถือว่ามีความผิดเช่นกัน