“อนุสรณ์”เผยศก.ไทยเข้าสู่ภาวะถดถอย แนะลดดอกเบี้ยแรงๆ แก้รัฐธรรมนูญดึงเชื่อมั่นต่างชาติ

ผศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตรองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยรังสิต และอดีตกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) กล่าวถึงผลกระทบจาก Covic-19 ว่า ธปท.ควรเรียกประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) และ คณะกรรมการชุดต่างๆเป็นกรณีพิเศษเพื่อลดอัตราดอกเบี้ยแรงๆและมีมาตรการผ่อนคลายทางการเงินเพิ่มเติม ช่วงก่อนหน้านี้นานแล้ว เป็นการคาดการณ์เศรษฐกิจล่วงหน้าว่าเศรษฐกิจไทยมีความเสี่ยงเกิดภาวะถดถอยและดำเนินการป้องกันหรือบรรเทาผลกระทบไว้ก่อน หากรัฐบาลเร่งรัดให้เกิดการจ้างงานและสร้างรายได้เพิ่มขึ้นในระบบเศรษฐกิจและทำงานเชิงรุกก่อนนี้แล้ว ก็จะช่วยรับมือกับผลกระทบจาก Covic-19 และปัจจัยเสี่ยงต่างๆได้ดีกว่านี้

ผศ.ดร.อนุสรณ์ กล่าวต่อว่า เศรษฐกิจไทยเวลานี้น่าจะเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยในเชิงเทคนิคแล้วในช่วงครึ่งปีแรกของปีนี้ คือ อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจติดลบสองไตรมาสติดต่อกัน โดยคาดว่าเศรษฐกิจไตรมาสแรกอาจหดตัวเกือบ 2% การลดลงของภาคการผลิต การใช้จ่ายอุปโภคบริโภค การลงทุน และการส่งออกสินค้าและบริการ และการนำไปสู่การลดลงของการจ้างงาน ในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา ไทยเคยประสบภาวะเศรษฐกิจถดถอยเชิงเทคนิคจำนวน 4 ครั้งในปี 2540-2541 (เกิดวิกฤตการณ์การเงิน) ,ปี 2551-2552 ,ปี 2556 และ ปี 2557 โดยในปี พ.ศ. 2540-2541 เกิดภาวะถดถอยรุนแรงสุดจนถึงขั้นเป็นวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ เศรษฐกิจติดลบสี่ไตรมาสติดต่อกัน

ผศ.ดร.อนุสรณ์ กล่าวต่อว่า มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและบรรเทาผลกระทบจาก Covic19 ของรัฐบาลกำลังออกมาจะช่วยบรรเทาความยากลำบากทางเศรษฐกิจของประชาชนและสถานประกอบการขนาดกลางขนาดเล็กได้บ้าง แต่มาตรการส่วนใหญ่ยังเป็นแก้ปัญหาเฉพาะหน้าระยะสั้นเป็นหลัก บรรเทาปัญหามากกว่า เป็นมาตรการลดค่าใช้จ่าย ลดต้นทุนทางการเงิน อาจจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจให้ขยายตัวเพิ่มขึ้นมาได้ประมาณ 0.015-0.030% ซึ่งเป็นการเพียงช่วยไม่ให้ทรุดตัวหรือติดลบเกิน 2%

ทั้งนี้การแจกเงินไปที่กลุ่มผู้รายได้น้อยโดยตรงอาจมีความจำเป็นต้องทำในสถานการณ์ที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจหดตัวอย่างเฉียบพลันโดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยว ภาคธุรกิจค้าปลีก แต่ให้ระวังฐานะการเงินการคลังหากใช้มาตรการแบบนี้บ่อยและประชาชนจะเสพติดประชานิยม ไม่ได้ทำให้ประชาชนเข้มแข็งทางเศรษฐกิจในระยะยาวแต่อย่างใด เป็นการช่วยแบบสังคมสงเคราะห์ ไม่ได้สร้างระบบหลักประกันทางสังคม

“ผมจึงไม่เห็นด้วยกับมาตรการลดการจ่ายเงินสมทบกองทุนประกันสังคมของนายจ้าง หากต้องการลดค่าใช้จ่ายของผู้ประกอบการควรเลือกใช้แนวทางอื่น เพราะการลดการจ่ายสมทบจะทำให้สถานะทางการเงินของระบบประกันสังคมอ่อนแอลงในระยะต่อไป” ผศ.ดร.อนุสรณ์ กล่าว

ผศ.ดร.อนุสรณ์ กล่าวต่อว่า มาตรการหรือแนวทางที่สำคัญในช่วงนี้ คือ รัฐบาลต้องทำให้เกิดความเชื่อมั่นต่อระบบการควบคุมการแพร่ระบาดของไทย และ การเดินทางไปร่วมกิจกรรมต่างๆมีความปลอดภัย หากทำให้เกิดความมั่นใจและความเชื่อมั่นเช่นนั้น ปัญหา Covic19 จะกระทบต่อเศรษฐกิจและชีวิตของผู้คนลดลง รัฐบาลต้องโปร่งใสและไม่ปิดบังข้อเท็จจริง สิ่งเหล่านี้จะเป็นพื้นฐานเบื้องต้น มาตรการกระตุ้นการบริโภค หรือ มาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการจะไม่มีประสิทธิภาพเลยหากไม่มีความเชื่อมั่นเรื่องความปลอดภัยต่อชีวิตและมีความรู้สึกว่าเสี่ยงต่อการติดเชื้อ

นอกจากนี้ ต้องทำให้ประเทศนี้มี Rule of Law(หลักนิติธรรม) เพราะหากไม่มีสิ่งนี้ ยากที่การลงทุนภาคเอกชนที่เป็นโครงการขนาดใหญ่จะกลับมาแม้นเราจะลดแหลกแจกแถมด้วยสิทธิประโยชน์ต่างๆให้กับนักลงทุนต่างชาติก็ตาม และ ควรแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตยเพราะจะทำให้นักลงทุนเกิดความเชื่อมั่น การเคลื่อนย้ายของเงินทุนจำนวนมากออกนอกประเทศของกลุ่มทุนใหญ่สัญชาติไทยมีเหตุผลอะไรมากกว่าปัจจัยทางด้านเศรษฐกิจหรือความจำเป็นทางธุรกิจในระบบโลกาภิวัฒน์ไร้พรมแดนหรือไม่เป็นสิ่งที่ผู้บริหารประเทศต้องไปศึกษาวิจัยดูจะได้แก้ปัญหาให้ตรงจุด