คลังชงมาตรการช่วยโควิด-19 เข้า ครม.ศก.ศุกร์นี้ เล็งอัดฉีดไม่อั้นพยุงเศรษฐกิจไม่ให้แย่กว่า 2%

นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค) เปิดเผยว่า ขณะนี้กระทรวงการคลังกำลังเร่งสรุปมาตรการช่วยเหลือกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจจากไวรัสโควิด-19 เพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรี(ครม.)เศรษฐกิจที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในวันศุกร์ที่ 6 มีนาคมนี้ เนื่องจากมีมาตรการเกี่ยวข้องกับกระทรวงอื่นด้วย ดังนั้นจำเป็นต้องหารือระหว่างรัฐมนตรีเศรษฐกิจให้แล้วเสร็จก่อนที่จะเสนอครม.เห็นชอบ ประเด็นสำคัญของการช่วยเหลือคือ ทำอย่างไรให้ผู้ที่ได้รับผลกระทบไม่ว่าจะเป็นกลุ่มผู้ประกอบการในธุรกิจท่องเที่ยว กลุ่มลูกจ้าง และกลุ่มเกี่ยวข้องกับธุรกิจท่องเที่ยวให้สามารถอยู่รอดได้

“ในการช่วยเหลือต้องไปดูว่าทำอย่างไรให้ธุรกิจสามารถอยู่รอดได้ เพื่อรักษาแรงงานในภาคท่องเที่ยวไว้ ส่วนกลุ่มลูกจ้างในภาคท่องเที่ยวมีรายได้ลดลง รัฐบาลเตรียมแนวทางเข้าไปดูแล เพื่อให้สามารถดำรงชีพในภาวะอย่างนี้ ซึ่งการช่วยเหลือนอกเหนือจากเรื่องการเงินแล้ว ต้องมีแนวทางอื่นๆ จากกระทรวงเกี่ยวข้องร่วมด้วย โดยในการช่วยเหลือนั้น ต้องให้คลอบคลุมทุกกลุ่ม และทุกคนที่ได้รับผลกระทบ มาตรการที่ออกมาจึงจะมีขนาดใหญ่พอสมควร ”นายลวรณ กล่าว

นายลวรณ กล่าวว่า ผลกระทบโควิด-19 ต่อเศรษฐกิจไทยน่าจะยาวนานกว่า 3 เดือน นานกว่าที่กระทรวงการคลังเคยประเมินไว้เมื่อต้นปี  ดังนั้นจำเป็นที่รัฐบาลจะต้องใช้มาตรการเข้าไปดูแล โดยปีนี้การใช้มาตรการเพื่อดูแลเศรษฐกิจสามารถทำได้เต็มที่ เนื่องจากพ.ร.บ.งบประมาณ 2563 มีผลบังคับใช้แล้ว และไทยไม่ได้มีข้อจำกัดด้านเสถียรภาพ ไม่ต้องกังวลเงินเฟ้อ หนี้สาธารณะยังอยู่ในระดับต่ำ ดังนั้นจึงสามารถออกแบบนโยบายช่วยเศรษฐกิจได้เต็มที่ ซึ่งจะแตกต่างจากวิกฤตเศรษฐกิจในช่วงอื่น ที่มีปัญหาด้านเสถียรภาพทำให้ต้องระมัดระวังในการดำเนินนโยบาย

“เรื่องเงินไม่ใช่ปัญหา เงินมีมาก ขอให้ใช้ให้ทัน เฉพาะแค่งบประมาณ 2563 ต้องเร่งเบิกให้ได้ภายใน 6-7 เดือน ดังนั้นการดำเนินนโยบายดูแลเศรษฐกิจจึงสามารถทำได้อีกมาก และคาดว่าจะดูแลเศรษฐกิจให้เติบโตในระดับ 2% ถือว่าไม่ได้เป็นปีที่แย่ที่สุด เพราะไทยเองเคยมีเศรษฐกิจโตเพียง 1% จากนี้ ทุกฝ่ายและกระทรวงต้องมาช่วยออกมาตรการเพื่อดูแลเศรฐกิจ”นายลวรณ กล่าว