กสทช.เสนอหลักการ 5 ข้อ ขอสื่อร่วมมือเสนอข่าวการระบาด “โควิด-19”

วันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2563 มีการหารือระหว่าง ตัวแทนสื่อ สถานีโทรทัศน์ กับ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เกี่ยวกับการเสนอข่าวสถานการณ์ Covid- 19

โดยสรุปว่า ปัจจุบันมีผู้ติดเชื้อทั่วโลก ประมาณ 8 หมื่นคน เป็นผู้ป่วยหนักร้อยละ 10 และมีอัตราการตาย ประมาณร้อยละ 1

สถานการณ์การแพร่ระบาดของ Covid- 19 ในประเทศไทยขณะนี้ ยังอยู่ระดับ 2 คือยังสามารถตรวจหาต้นต้อที่มาของการติดเชื้อได้ เช่น ผู้ติดเชื้อมีประวัติการเดินทางในประเทศกลุ่มเสี่ยง หรือ สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ที่เดินทางมาจากประเทศที่มีการแพร่ระบาด อย่างไรก็ตาม กสทช.และกระทรวงสาธารณสุข จะร่วมหารือเพื่อกำหนดทิศทางการนำเสนอข่าวอีกครั้ง หากสถานการณ์เข้าสู่ ระดับ 3 คือ การแพร่ระบาดที่ไม่สามารถระบุต้นตอได้

จึงขอความร่วมมือ และหลักการในการนำเสนอข่าว Covid – 19 ต้องคำนึงถึง 5 ข้อ ดังนี้

1 . นำเสนอแต่ข้อเท็จจริงจากแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้ การนำเสนอข่าว Covid- 19 ต้องเป็นข้อมูลจริง ที่ผ่านการตรวจสอบ ไม่ใช่แค่การอ้างอิงจากโซเชียลมีเดีย หรือเว็บไซต์ต่างประเทศ เพื่อป้องกันข่าวลวงหรือความเข้าใจผิด

2 นำเสนอข้อมูลด้วยความสุภาพ งดการโจมตีบุคคลในข่าว ต้องคำนึงถึงความละเอียดอ่อน ผลกระทบต่อบุคคลในข่าวและครอบครัว อย่านำเสนอภาพผู้ป่วย-ผู้ติดเชื้อเป็นผู้ร้าย งดการวิจารณ์โจมตี หรือ ประณามเนื่องจากจะทำให้ ผู้ที่เข้าข่ายต้องสงสัยรายอื่น ไม่กล้าแสดงตัว และเข้ารับการตรวจโรค

3 นำเสนอโดยคำนึงถึงประโยชน์ของคนดู สังคม และผลกระทบที่ตามมา การนำเสนอสถานการณ์แพร่ระบาด ต้องไม่เหมารวม เช่น การนำเสนอข่าวการติดเชื้อของปู่กับย่า และหลานเมื่อวานนี้ (26กพ) หากโรงพยาบาลกับโรงเรียนออกแถลงการณ์ยอมรับแล้ว ก็ควรเอ่ยชื่อสถานที่ไปตามจริง ไม่ใช่ ย่านดอนเมือง ที่จะทำให้คนละแวกนั้นหวาดกลัว แต่ถ้ายังไม่มีการเปิดชื่ออย่างเป็นทางการ และมีความจำเป็นต้องเอ่ยถึงย่าน ต้องมีข้อมูลอื่นเสริม เพื่อให้เข้าใจสถานการณ์ในภาพรวม เช่น โรงเรียนเอกชนย่านดอนเมือง ซึ่งล่าสุด มีการประกาศปิดเรียน และ สำนักงานเขตจะเข้าทำความสะอาด

4 นำเสนอในเชิงบวก เพื่อสร้างความตระหนัก งดเสนอให้เกิดความรู้สึกดรามา นำเสนอข้อมูลที่ประชาชนจะได้รู้ถึงข้อเท็จจริงของสถานการณ์การแพร่ระบาด แต่ไม่ใช่การคาดการณ์ที่ทำให้เกิดการตื่นกลัว ขณะเดียวกันต้องไม่นำเสนอในเชิงอารมณ์ หรือ เอามัน ไม่สัมภาษณ์บุคคลใกล้ชิดผู้ป่วย หรือคนนอกถึงความรู้สึก เช่น กลัวหรือไม่ที่รู้ว่าบริเวณนั้นมีผู้ป่วยติดเชื้อ รวมถึงต้องระมัดระวังในมิติของการเล่าข่าว สถานีโทรทัศน์ ต้องพิจารณาบุคลิกของผู้ประกาศข่าวที่จะถ่ายทอด ไม่ควรเป็นคนเร้าอารมณ์ หรือมีภาพจำการวิพากษ์วิจารณ์

5.นำเสนอในจังหวะเวลาที่เหมาะสม รอการยืนยันข้อมูลจากหน่วยงาน เนื่องจากการตรวจเชื้อ หรือข้อมูลพบผู้ป่วย มีกระบวนการพิสูจน์ที่ซับซ้อน และต้องใช้เวลา จึงขอความร่วมมือ รอข้อมูลทางการจากกระทรวงสาธารณสุขที่ จะแถลงทุกวันเวลา 11.00 นาฬิกา หรือ มีรอบบ่ายเพิ่มเติมกรณีมีความคืบหน้าของเหตุด่วน

ทั้งนี้ สามารถสอบถามข้อมูลตรงจาก นพ.รุ่งเรือง กิจผาติ โฆษกกรมควบคุมโรค รวมถึงสามารถใช่ข้อมูลจาก เฟซบุ๊ก ของโฆษกมาใช้เสนอข่าวได้เช่นกัน