เกาะติด เกมส์การเมืองมาเลเซีย “มหาธีร์” เดินหมากตั้งรัฐบาลใหม่ สกัด “อันวาร์” นั่งนายกฯ

รอยเตอร์สรายงานว่า นายมหาธีร์ โมฮัมหมัดได้กลับมาปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่ง “นายกรัฐมนตรีรักษาการณ์” ของมาเลเซียในวันนี้ (25 กุมภาพันธ์) หลังจากที่ได้ยื่นหนังสือลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อกษัตริย์ของมาเลเซียไปเมื่อวานนี้ สร้างความปั่นป่วนครั้งใหญ่ให้กับการเมืองมาเลเซีย โดยจะมีการเจรจาระหว่างกลุ่มพันธมิตรพรรครัฐบาลในวันนี้ด้วย

ทั้งนี้ นายมหาธีร์ได้ประกาศยุบคณะรัฐมนตรีในช่วงกลางดึกที่ผ่านมา แต่เขาจะยังคงดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีรักษาการณ์ไป จนกว่าจะมีผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนต่อไปตามข้อตกลงกับกษัตริย์ โดยในช่วงเช้าของวันนี้ (25 กุมภาพันธ์) นายมหาธีร์ได้เดินทางไปปฏิบัติภารกิจที่สำนักนายกรัฐมนตรีในกรุงปุตราจายาตามปกติ แต่ไม่แสดงความคิดเห็นใด ๆ ต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

การลาออกของนายมหาธีร์เป็นการทำลายความเป็นพันธมิตรระหว่างเขากับนายอันวาร์ อิบราฮิม หัวหน้าพรรคเคดิลัน รักยัต (พีเคอาร์) ที่ก่อนหน้านี้ได้ร่วมกันจัดตั้งกลุ่มพันธมิตร “ปากาตัน ฮาราปัน” จนสามารถคว้าชัยเหนือพรรคอัมโนของอดีตนายกรัฐมนตรีนาจิบ ราซัก ในการเลือกตั้งในปี 2018 ได้สำเร็จ โดยมีข้อตกลงว่านายมหาธีร์จะส่งไม้ต่อตำแหน่งนายกรัฐมนตรีให้นายอันวาร์ต่อไป ในช่วงการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 5 ปีจนถึงปี 2023

แต่การลาออกอย่างกะทันหันของนายมหาธีร์ครั้งนี้ เป็นการสะท้อนให้เห็นถึงความสัมพันธ์อันเปราะบางระหว่างเขาและนายอันวาร์ ซึ่งทั้งสองฝ่ายนับได้ว่าเป็นศัตรูทางการเมืองกันมาโดยตลอดก่อนหน้าที่จะจับมือกันตั้งกลุ่มปากาตัน ฮาราปัน ท่ามกลางความประหลาดของคนทั้งประเทศ การลาออกครั้งนี้ทำให้หลายฝ่ายมองไปที่การหักหลัง ซึ่งเป็นเกมการเมืองที่ต้องการสกัดกั้นการขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของนายอันวาร์

แต่ยังคงไม่มีความชัดเจนว่า นายมหาธีร์จะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีรักษาการณ์ยาวนานเท่าใด และจะมีการจัดตั้งรัฐบาลผสมโดยการเจรจากับพรรคเบอร์ซาตูของมหาธีร์กับพรรคฝ่ายค้าน เพื่อกำจัดพรรคพีเคอาร์ของนายอันวาร์ออกไปหรือไม่ หรือจะเป็นการยุบสภาเพื่อจัดการเลือกตั้งครั้งใหม่ในมาเลเซีย

ทั้งนี้ผู้นำของกลุ่มพันธมิตรปากาตัน ฮาราปันกำหนดการพบปะหารือกันในวันนี้ แต่ยังไม่แน่ชัดว่านายมหาธีร์จะเข้าร่วมการหารือหรือไม่ แม้ว่านายอันวาร์จะมั่นใจว่า นายมหาธีร์ไม่มีส่วนรู้เห็นในแผนการพลิกขั้วรัฐบาลครั้งนี้ และยังเชื่อว่านายมหาธีร์จะเข้าร่วมหารือกับกลุ่มปากาตัน ฮาราปัน

ด้านนายทอมมี โทมัส อัยการสูงสุดของมาเลเซียเปิดเผยว่า ไม่มีกฎหมายจำกัดกรอบเวลาสำหรับการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีชั่วคราว ซึ่งผู้ดำรงตำแหน่งยังคงมีอำนาจเต็มและสามารถแต่งตั้งคณะรัฐมนตรีของตนเองได้ แต่ตามรัฐธรรมนูญมาเลเซียได้บัญญัติให้อำนาจแก่ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเสียงข้างมากในการจัดตั้งรัฐบาลได้

อย่างไรก็ตาม ความวุ่นวายทางการเมืองของมาเลเซียครั้งนี้ เกิดขึ้นในช่วงที่เศรษฐกิจของประเทศกำลังประสบปัญหาทั้งการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ โดยอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของมาเลเซียในไตรมาส 4/2019 ลดลงต่ำสุดในรอบ 10 ปี และยังต้องเผชิญหน้าการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ส่งผลให้นายกรัฐมนตรีมหาธีร์ต้องประกาศใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา