วัฒนา ชี้“ปมธรรมกาย”ถูกบิดเบือนทางก.ม.-มีเจตนาแฝง จี้ ยกเลิกข้อกล่าวหาเจ้าอาวาส

(3 มี.ค.) นายวัฒนา เมืองสุข อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวถึงสถานการณ์ตรวจค้นวัดพระธรรมกายโดยกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เป็นผู้รับผิดชอบปฏิบัติการนำตัว “พระธัมมชโย” อดีตเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย ผู้ต้องหาตามหมายจับในคดีร่วมกันฟอกเงินและรับของโจรจากสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น 1,400 ล้านบาท มาเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม หลังอัยการสั่งฟ้องไปแล้ว

นายวัฒนา ระบุว่า คดีนี้ พนักงานสอบสวนคดีพิเศษเห็นว่า การที่พระธัมมชโยรับบริจาคเงินจากผู้บริหารสหกรณ์คลองจั่น เป็นความผิดฐานร่วมกันฟอกเงินหรือรับของโจร จึงเรียกให้มารับทราบข้อกล่าวหา แต่ผู้ต้องหาอ้างความเจ็บป่วยไม่มาพบพนักงานสอบสวนตามหมายเรียกจึงถูกออกหมายจับ ทั้งที่ตามกฎหมายการแจ้งข้อกล่าวหาสามารถทำได้ทุกที่ เช่น แจ้งในเรือนจำกรณีผู้ถูกกล่าวหาถูกจำคุก ดังนั้น หากดีเอสไอไม่ตั้งแง่ยอมไปพบพระธัมมชโยตามที่ถูกร้องขอ แล้วแจ้งข้อกล่าวหาในวัดที่พบตัวทุกอย่างก็จะจบลงโดยไม่ต้องออกหมายเรียก รวมทั้งไม่เกิดความสูญเสียอย่างที่เห็น

คดีของพระธัมมชโยจึงต้องถือว่ายังไม่มีการแจ้งข้อกล่าวหา ส่วนการที่ผู้ต้องหาไม่ไปพบพนักงานสอบสวนตามหมายเรียกก็ไม่เป็นความผิด ทางแก้คือให้ออกหมายจับได้ซึ่งถือเป็นการลงโทษอยู่แล้ว (คำพิพากษาฎีกาที่ 1341/2509) ดังนั้น การที่หัวหน้า คสช. ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราวออกคำสั่งปิดล้อมวัดพระธรรมกาย ห้ามประชาชนและพระสงฆ์เข้าออกวัด ยึดอาหารพระ ตัดสัญญาณการสื่อสาร สูญเสียงบประมาณ สังเวยชีวิตประชาชนผู้บริสุทธิ์ไป 2 ราย พระสงฆ์และประชาชนถูกจับกุมเป็นจำนวนมาก เพียงเพื่อนำตัวผู้ต้องหามารับทราบข้อกล่าวหาจึงเกินความจำเป็น ทำให้ไม่อาจคิดเป็นอย่างอื่นนอกจากรัฐบาลมีเจตนาแอบแฝง

บัดนี้ เหตุที่เป็นข้ออ้างจบสิ้นลงแล้ว รัฐบาลจึงต้องยกเลิกคำสั่ง ถอนกำลังเจ้าหน้าที่กลับและคืนพื้นที่ให้ชาวธรรมกาย แม้การเข้าวัดปฏิบัติธรรมจะมีข้อครหาว่าเป็นไปตามแนวทางพุทธหรือไม่ ก็ยังดีกว่าการยกพวกไปปิดบ้านเมืองอย่างแน่นอน

อีกทั้งการที่ไม่พบผู้ต้องหาก็จะต้องยกเลิกข้อกล่าวหาเจ้าอาวาสที่หาว่าวัดให้ที่หลบซ่อนแก่ผู้ต้องหาด้วย สำหรับการวินิจฉัยให้พระธัมมชโยต้องสละสมณเพศหรือไม่จะต้องปฏิบัติตามกฎ มส. ฉบับที่ 11 ว่าด้วยการลงนิคหกรรม อันเป็นวิธีกล่าวหาพระซึ่งพระพุทธเจ้าทรงมอบอำนาจให้แก่สงฆ์เป็นผู้พิจารณาชี้ขาดในรูปแบบสังฆกรรม ส่วนตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติก็ต้องคืนให้ผู้เหมาะสม เพราะไม่มีความชอบธรรมที่ฝ่ายปราบปรามจะไปควบคุมดูแลงานของศาสนจักร