อธิบดีราชทัณฑ์ โต้ ‘ช่อ’ แฉคดี #1MDB ทำปชช.เข้าใจผิด ยันทำถูกต้อง

เมื่อเวลา 14.00 น. วันที่ 24 ก.พ. พ.ต.อ.ณรัชต์ เศวตนันทน์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ ชี้แจงถึงกรณีน.ส.พรรณิการ์ วานิช อดีตส.ส. และอดีตกรรมการบริหารพรรคอนาคตใหม่ กล่าวหาว่ารัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อาจมีส่วนปกปิดซ่อนเร้นคดีอาชญากรรมทางการเงิน 1MDB (1Malaysia Development Berhad) หรือกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติของมาเลเซีย โดยมีส่วนร่วมจับกุมคนบริสุทธิ์เข้าคุก บิดผันกระบวนการยุติธรรม และทำลายความสัมพันธ์กับหลายประเทศ

พ.ต.อ.ณรัชต์ กล่าวว่า กรมราชทัณฑ์ โดยเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร ได้รับตัวนายจัสโต้ ซาเวียร์ อันเดร ไว้ในการควบคุมเมื่อวันที่ 24 มิ.ย.2558 ตามหมายขังของศาล ต่อมามีคำพิพากษาของศาลอาญากรุงเทพใต้ ลงวันที่ 17 ส.ค. 2558 (ตามคดีหมายเลขดำที่ อ.2657/2558 คดีหมายเลขแดงที่ อ.2737/2558) ตัดสินให้จำคุกผู้ต้องขังรายดังกล่าว ในข้อหารีดเอาทรัพย์ (ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 338, 80)

พฤติการณ์กล่าวคือ จำเลยเคยเป็นลูกจ้างบริษัทปิโตรซาอุดิ อินเตอร์เนชันแนล จำกัด (ผู้เสียหาย) ในตำแหน่งผู้ช่วยผู้บริหาร เมื่อผู้เสียหายเลิกจ้างจำเลยตามกฎหมายแล้ว จำเลยกลับขู่เข็ญว่าจะเปิดเผยความลับของผู้เสียหาย ทั้งจะขายข้อมูลความลับดังกล่าวให้กับบุคคลภายนอก หากผู้เสียหายไม่ยอมจ่ายเงิน จำนวน 2.5 ล้านฟรังก์สวิส (หรือประมาณ 80.6 ล้านบาท)

การกระทำของจำเลยถือว่าเป็นความผิดร้ายแรง และสามารถก่อให้เกิดความเสียหายทางธุรกิจแก่ผู้เสียหายได้ จึงลงโทษจำคุก 6 ปี จำเลยให้การรับสารภาพ จึงลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงเหลือจำคุก 3 ปี ระหว่างถูกคุมขัง กระทรวงต่างประเทศส่งหนังสือคำร้องขอโอนตัวนายจัสโต้ เพื่อกลับไปรับโทษต่อยังประเทศสวิสเซอร์แลนด์ ตามสนธิสัญญาระหว่างราชอาณาจักรไทยกับสวิสเซอร์แลนด์ ว่าด้วยการโอนตัวผู้กระทำผิด ซึ่งคณะกรรมการพิจารณาโอนนักโทษ ครั้งที่ 5/2559

พ.ต.อ.ณรัชต์ กล่าวต่อว่า เมื่อวันที่ 14 ก.ย. 2559 ได้มีมติไม่เห็นชอบให้โอนตัวนายจัสโต้ เนื่องจากมีคุณสมบัติขัดต่อพระราชบัญญัติการปฏิบัติเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศ ในการดำเนินการตามคำพิพากษาคดีอาญา พ.ศ. 2527 มาตรา 25(3) กล่าวคือโทษจำคุกที่นักโทษต่างประเทศจะต้องรับต่อไปในราชอาณาจักรเหลืออยู่น้อยกว่า 1 ปี ของโทษจำคุกทั้งสิ้นตามคำพิพากษาหรือคำสั่ง ทั้งนี้ เป็นไปตามกฎหมายภายในของไทย มิได้มีประเด็นกระทบกระเทือนความสัมพันธ์ระหว่างประเทศแต่อย่างใด

นายจัสโต้ ถูกจำคุกอยู่ประมาณ 1 ปี 6 เดือน ตั้งแต่วันที่ 25 มิ.ย. 2558-20 ธ.ค. 2559 และได้รับการปล่อยตัวไปตามพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ เนื่องในวโรกาสสำคัญของชาติ 2 ฉบับ ในปี พ.ศ.2559 โดยกรมราชทัณฑ์ได้มอบตัวนายจัสโต้ ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองดำเนินการตามระเบียบที่เกี่ยวข้อง โดยมีเจ้าหน้าที่สถานทูตสวิสเซอร์แลนด์เข้าร่วมสังเกตการณ์ นายจัสโต้ ได้เดินทางออกจากประเทศไทยเมื่อวันที่ 22 ธ.ค. 2559 ด้วยเที่ยวบินที่ TG 970

พ.ต.อ.ณรัชต์ กล่าวอีกว่า อนึ่ง ระหว่างการถูกควบคุมตัวเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครได้อนุญาตให้ผู้ต้องขังดังกล่าวเขียนรายชื่อบุคคลในครอบครัวและเพื่อนที่เจ้าตัวประสงค์จะให้เข้าเยี่ยมไว้ ในแบบฟอร์มของทางเรือนจำ จำนวน 10 รายชื่อ การเข้าเยี่ยมของบุคคลนอกเหนือจากรายชื่อดังกล่าว ก็มีเพียงแต่การเข้าสอบสวนปากคำเพิ่มเติมในคดีอื่นที่เกี่ยวข้อง โดยพนักงานสอบสวนกับพวก ซึ่งมีหนังสือราชการขออนุญาตมาด้วยทุกครั้ง

“จากกรณีดังกล่าวอาจมีการทำให้ประชาชนเข้าใจผิดถึงการดำเนินงานของกรมราชทัณฑ์ จึงขอยืนยันว่ากระบวนการควบคุมตัวนายจัสโต้ ไปจนถึงการปล่อยตัว เป็นการดำเนินการตามกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมของไทยอย่างถูกต้อง สอดคล้องกับหลักสากลทุกประการ” พ.ต.อ.ณรัชต์