‘เรืองไกร’ เตรียมส่งข้อมูลปัญหากม. จัดตั้งศาลรธน. ถึงสถานทูตสหรัฐประจำประเทศไทย

เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ อดีตสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) กล่าวว่า จากกรณีสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐประจำประเทศไทยออกแถลงการณ์หลังศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรคอนาคตใหม่ (อนค.) ตอนหนึ่งว่า อาจนำไปสู่การลิดรอนสิทธิผู้ลงคะแนนเสียงกว่า 6 ล้านคนที่เลือกพรรคอนค. ทำให้เกิดคำถามว่าพวกเขาจะยังคงมีสิทธิ์มีเสียงในระบบการเลือกตั้งของไทยหรือไม่นั้น ตนจึงทำหนังสือส่งทางจดหมายอีเอ็มเอส ถึงนายไมเคิล จี ดีซอมบรี เอกอัครราชทูตสหรัฐประจำประเทศไทย ลงวันที่ 24 กุมภาพันธ์เพื่อประกอบการพิจารณาเกี่ยวกับแถลงการณ์ของสถานทูต โดยให้ข้อมูลไปว่าศาลรธน.ของไทยยังไม่มีกฎหมายจัดตั้งเป็นการเฉพาะ ทั้งๆที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้เป็นการเฉพาะอย่างชัดเจน อีกทั้งในหนังสือดังกล่าวตนได้ส่งสำเนาหนังสือสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญที่เคยเสนอให้คณะรัฐมนตรีในยุคคสช.ตราเป็นพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลรัฐธรรมนูญและวิธีพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. … แต่ต่อมาก็ขอถอนร่างพ.ร.บ. นั้นกลับไป จวบจนถึงบัดนี้ ก็ไม่มีพ.ร.บ.จัดตั้งศาลรัฐธรรมนูญบังคับใช้ ทำให้ มีปัญหาว่า เมื่อยังไม่มีพระราชบัญญัติจัดตั้งศาล แล้ว ศาลรธน. ใช้อำนาจใดมาสั่งยุบพรรคอนาคตใหม่รวมทั้งคำวินิจฉัยต่างๆที่กระทำกันมาตั้งแต่ในอดีต จะถือเป็นโมฆะหรือไม่

นายเรืองไกร กล่าวว่า ซึ่งกรณีดังกล่าว รัฐธรรมนูญทั้ง 3 ฉบับคือ 2540 , 2550 และ 2560 ล้วนบัญญัติถ้อยคำไว้ เหมือนกันคือ “บรรดาศาลทั้งหลายจะตั้งขึ้นได้ก็แต่โดยพระราชบัญญัติ” โดย รธน.2540 อยู่ในมาตรา 234 ซึ่งเป็นครั้งแรกให้กำเนิดศาลรัฐธรรมนูญ ต่อมารัฐธรรมนูญ 2550 ปรากฏในมาตรา198 แล้วฉบับปัจจุบันคือ 2560 อยู่ในมาตรา 189 การบัญญัติไว้แค่นี้ก็เพื่อสร้างความชอบธรรมทางกฎหมายว่า องค์กรหรือสถาบันศาล ที่ใช้อำนาจอธิปไตยของปวงชนชาวไทยต้องมีกฏหมายจัดตั้ง โดยหลักแล้วการตรากฎหมายเป็นอำนาจ ของฝ่ายนิติบัญญัติที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน อย่างไรก็ตามศาลยุติธรรม ศาลทหารและศาลปกครองต่างก็เป็นองค์กรที่เกิดขึ้นโดยมีกฎหมายจัดตั้งเป็นการเฉพาะ ยกเว้นศาลรธน.ที่ยังไม่มี เมื่อเป็นดังนี้ การใช้อำนาจใดๆของศาลรัฐธรรมนูญจึงอาจถือได้ว่าไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ

นายเรืองไกร กล่าวอีกว่า ข้อมูลหลักฐานที่ส่งให้สถานทูตสหรัฐมี 2 ชิ้นคือสำเนาหนังสือลงนามโดยนายนุรักษ์ มาประณีตประธานศาลรัฐธรรมนูญ ที่เสนอ ร่างพ.ร.บ. จัดตั้งศาลรธน.และวิธีพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ… ส่งถึงเลขาธิการคณะรัฐมนตรีลงวันที่ 29 กันยายน 2557 หลังพลเอกประยุทธ์ หัวหน้าคสช.ยึดอำนาจ 4 เดือน เพื่อให้ ครม. ส่งให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติตราเป็นกฎหมาย แต่อีก1ปี5เดือนถัดมา นายอนุรักษ์ได้ส่งหนังสือไปถึงเลขาธิการ ครม. ลงวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2559 ขอถอนร่างพ.ร.บ. ฉบับนี้ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาของกฤษฎีกาไปเพื่อยกร่างใหม่ แต่จวบจนถึงปัจจุบันก็ยังไม่มีการดำเนินการแต่อย่างใด

“เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่แล้ว สำคัญชนิดคอขาดบาดตายหากไม่มีกฎหมายจัดตั้งศาล รธน. ดังนั้น การใช้อำนาจที่ผ่านมาอาจก่อให้เกิดผลเสียหายต่อบุคคลและองค์กร มานานหลายปีแล้ว เช่นยุบพรรคไทยรักไทย ยุบพรรคพลังประชาชน ยุบพรรคไทยรักษาชาติ ตัดสิทธิ์นักการเมืองตัดสิทธิ์การเป็นส.ส. ของนายธนาธร ล่าสุด ยุบพรรคอนาคตใหม่ ความเสียหายที่เกิดขึ้นนี้ ใครจะรับผิดชอบ บ้านเมืองปกครองแบบนิติรัฐจริงหรือ ใครจะต้องเป็นผู้ตอบคำถามนี้” นายเรืองไกรกล่าว