สภาฯเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.กสทช. ตั้ง กมธ.ศึกษา 49 คน

‘สภาฯ’ เห็นชอบร่าง พ.ร.บ.กสทช. ตั้ง กมธ.ศึกษา 49 คน

เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นประธานการประชุมพิจารณาร่างพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. … (ร่าง พ.ร.บ.กสทช.) ที่รัฐบาลเสนอ โดยมี นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ กล่าวชี้แจงถึงหลักการและเหตุผลในการเสนอร่างกฎหมายดังกล่าวว่า เป็นการแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2553 ด้วยการเพิ่มองค์ประกอบคณะกรรมการ กสทช. เพิ่มเติมลักษณะต้องห้ามกรรมการ กสทช. กรณีเคยถูกจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดรวมทั้งปรับปรุงอำนาจของคณะกรรมการสรรหา ลักษณะผู้มีสิทธิเข้ารับการสรรหากระบวนการสรรหา คัดเลือก และแต่งตั้งกรรมการ กสทช. ก่อนหน้านี้กฎหมายดังกล่าวได้รับการปรับปรุงแก้ไขเป็นฉบับที่ 2 เมื่อ พ.ศ.2560 แต่พบว่าเกิดปัญหาในทางปฏิบัติ ทำให้การสรรหาและคัดเลือกบุคคลไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย อีกทั้งมีผู้ร้องเรียนเกี่ยวกับคุณสมบัติผู้ได้รับการคัดเลือกจึงต้องมีการแก้ไขข้อขัดข้องในการสรรหาคัดเลือกบุคคลเพื่อดำรงตำแหน่งดังกล่าว

ทั้งนี้ มี ส.ส.จากพรรคการเมืองต่างอภิปรายตั้งข้อสังเกตและเสนอแนะเกี่ยวกับการปรับแก้ไขร่างกฎหมายดังกล่าวและการดำเนินงานของ กสทช. อาทิ นายวรภพ วิริยะโรจน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ นายขจิตร ชัยนิคม ส.ส.อุดรธานี พรรคเพื่อไทย ตั้งข้อสังเกตถึงการให้ความเห็นชอบกรรมการ กสทช.ที่เป็นอำนาจของ ส.ว.จึงมองได้ว่ามีความยึดโยงกับ คสช.ในฐานะผู้แต่งตั้ง ส.ว. นายนิคม บุญวิเศษ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังปวงชนไทย และนายไกลก้อง ไวทยาการ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ ตั้งข้อสังเกตถึงการกำหนดคุณสมบัติกรรมการ กสทช.ในแต่ละด้านให้อยู่ในวงงานนั้นๆ เป็นระยะเวลายาวนานถึง 20 ปี เข้าข่ายล็อกสเปก

ขณะที่นายไกลก้องกล่าวถึงความสำคัญของกรรมการ กสทช.ด้านการคุ้มครองผู้บริโภคที่ควรให้คงอยู่ นายชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย ไม่เห็นด้วยเกี่ยวกับการให้อำนาจกรรมการสรรหาในการกำหนดคุณสมบัติเฉพาะของกรรมการ กสทช.แต่ละด้าน ซึ่งกำหนดไว้กว้างจนเกินไป นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย ส.ส.ตรัง พรรคประชาธิปัตย์ เน้นย้ำถึงความสำคัญของ กสทช.ในการดูแลประโยชน์สาธารณะ และตั้งข้อสังเกตถึงรายละเอียดองค์ประกอบและคุณสมบัติของกรรมการสรรหาที่ยังขาดความชัดเจน

ทั้งนี้ หลังอภิปรายแล้ว ที่ประชุมมีมติเห็นชอบรับหลักการร่าง พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. … ด้วยเสียง 339 เสียง ไม่เห็นด้วย 11 เสียง งดออกเสียง 9 เสียง จากจำนวนผู้เข้าร่วมประชุม 359 คน และกำหนดตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ขึ้นมาทำหน้าที่พิจารณาร่างกฎหมายดังกล่าวจำนวน 49 คน ให้กรอบเวลายื่นแปรญัตติใน 7 วัน