รองโฆษกอัยการ ยกข้อกฎหมายแจงคดี”จ่านิว” ชี้ ตำรวจหาคนร้ายไม่ได้เเล้วจึงเสนอมาตาม ป.วิอาญา 140

“รองโฆษกอัยการ”เเจงข้อกฎหมายก่อนมีคำสั่งคดีตีจ่านิวเป็นสำนวนมุมดำ ชี้ ตำรวจหาคนร้ายไม่ได้เเล้วจึงเสนอมาตาม ป.วิอาญา 140

เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ นายประยุทธ เพชรคุณ รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด กล่าวถึงกรณีที่มีการเผยเเพร่เอกสารจากทางพนักงานสอบสวน สน.มีนบุรี มีเนื้อหากล่าวถึงพนักงานอัยการคดีอาญามีนบุรีมีคำสั่งว่าให้งดการสอบสวน ในคดีมีคนร้ายชายฉกรรจ์ 4 คน รุมทำร้าย นายสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ หรือจ่านิว จนร่างกายได้บาดเจ็บ ที่ปากซอยรามอินทรา109 แขวงบางชัน เขตคลองสามวา กรุงเทพฯ เหตุเกิดเมื่อช่วงเที่ยงของวันที่ 28 มิถุนายน 2562 เนื่องจากพยานหลักฐานที่รวบรวมได้ไม่สามารถบ่งชี้ได้ว่าเป็นผู้ใด เนื่องจากสภาพกล้องวงจรปิดไม่เห็นหน้าคนร้ายชัดเจนเพียงพอในการออกหมายจับและหลักฐานการไล่กล้องไม่สามารถทราบได้ว่าคนร้ายมีที่อยู่หรือหลบหนีอยู่ที่ได้ แต่ถ้าเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ทำการสืบสวนสอบสวน แล้วมีหลักฐานบ่งชี้ได้ว่า ผู้ใดกระทำผิดก็จะทำการออกหมายจับคนร้ายและดำเนินคดีต่อไป ว่า ในข้อเท็จจริงเกิดคดีอาญาขึ้นคนที่มีหน้าที่ในการสืบสวนสอบสวน เอาตัวผู้ก่อเหตุมาลงโทษตามกฏหมายเป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ซึ่งถ้ามีคดีอาญาเกิดขึ้นจะแบ่งออกเป็น2ประเภท คือ รู้ตัวผู้กระทำความผิดและไม่รู้ตัวผู้กระทำความผิด (สำนวนมุมดำ)ในประเด็นที่ไม่รู้ตัวผู้กระทำความผิด นั้นกรณีของจ่านิวถูกทำร้าย เเละได้ไปเเจ้งความกับตำรวจ หน้าที่สืบสวนคนทำร้ายย่อมต้องเป็นของตำรวจที่จะต้องไปหาตัวคนทำมาให้ได้ เเต่กฎหมายยังระบุอีกว่าหากมีการสืบสวนสอบสวนเป็นเวลาพอสมควรเเล้ว ยังไม่ทราบว่าใครเป็นคนร้ายสำนวนจะไม่ได้อยู่กับตำรวจไปตลอด ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 140 บัญญัติไว้ว่า ในจำนวนที่ไม่รู้ตัวผู้กระทำถ้าพนักงานสอบสวนทำการสอบสวนไปแล้วชั่วระยะเวลาหนึ่งแล้วเห็นว่ายังไม่ทราบว่าใครเป็นคนร้ายก็ให้เสนองดการสอบสวนไปยังอัยการ ถ้าอัยการพิจารณาแล้วเห็นว่าพนักงานสอบสวนทำการสอบสวนแล้วยังไม่ทราบว่าใครเป็นผู้กระทำแต่ได้พยายามเต็มที่แล้วและยังไม่มีจุดเชื่อมต่อในการหาคนร้ายอัยการก็จะมีคำสั่งให้งดการสอบสวน ซึ่งก็คือหยุดการสอบสวนไม่ชั่วคราว ซึ่งในชั้นนี้ยังไม่ได้เป็นการมีคำสั่งว่าใครผิดหรือใครถูก แต่ภายในอายุความตามกฏหมายถ้ารู้ว่าใครเป็นผู้กระทำ หรือมีผู้เเจ้งเบาะเเส ตำรวจก็จะต้องหยิบยกสำนวนขึ้นมาทำ เเละกลายเป็นสำนวนรู้ตัวผู้กระทำผิดโดยในสำนวนรู้ตัวผู้กระทำผิดก็จะมี2กรณี คือรู้ตัวเเต่ยังไม่สามารถตามเอาตัวมาได้อย่างคดี นายวรยุทธ อยู่วิทยา หรือลูกกระทิงเเดง ก็จะมีการส่งสำนวนมาให้อัยการสั่งฟ้อง เเละออกหมายจับ ซึ่งตำรวจก็มีหน้าที่ไปตามจับกุมตัวในอายุความ ส่วนอย่างที่สองคือคดี ที่รู้ตัวผู้กระทำผิดเเละไปตามจับกุมตัวมาได้จะเห็นอย่างคดี นายประสิทธิชัย หรือกอล์ฟ เขาแก้ว ฆ่าชิงทอง ที่เรารู้ตัวคนร้ายก็สามารถทำสำนวนตามปกติ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าสำหรับประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 140 บัญญัติไว้ว่าเมื่อพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบในการสอบสวน เห็นว่าการสอบสวนเสร็จแล้ว ให้จัดการอย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้
(1) ถ้าไม่ปรากฏว่าผู้ใดเป็นผู้กระทำความผิดและความผิดนั้นมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงไม่เกินสามปี ให้พนักงานสอบสวนงดการสอบสวน และบันทึกเหตุที่งดนั้นไว้ แล้วให้ส่งบันทึกพร้อมกับสำนวนไปยังพนักงานอัยการ
ถ้าอัตราโทษอย่างสูงเกินกว่าสามปี ให้พนักงานสอบสวนส่งสำนวนไปยังพนักงานอัยการพร้อมทั้งความเห็นที่ควรให้งดการสอบสวน
ถ้าพนักงานอัยการสั่งให้งด หรือให้ทำการสอบสวนต่อไป ให้พนักงานสอบสวนปฏิบัติตามนั้น