‘สมชัย’โพสต์กรณีเงินกู้พรรคอนาคตใหม่ เป็นประโยชน์อื่นใดหรือไม่

เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ นายสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตกรรมการการเลือกตั้ง โพสต์แสดงความเห็นผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวระบุว่า ความเห็นกรณีเงินกู้พรรคอนาคตใหม่ (ตอนที่ 3) เงินกู้เป็นประโยชน์อื่นใดหรือไม่ใน 2 ตอนแรก ผมได้ให้ความเห็นและแสดงหลักฐานจากข้อความตามกฎหมายใน พ.ร.ป.พรรคการเมือง 2560 และ หลักฐานงบการเงินของพรรคการเมืองปี 2557-2561 ที่ กกต.เผยแพร่ต่อสาธารณะว่า เงินกู้ไม่ใช่ “เงินบริจาค” และเงินกู้ไม่ใช่ “เงินรายได้” ไปแล้วนั้น ในตอนนี้จะได้นำเสนอแนวคิดและการพิสูจน์ว่าเงินกู้ไม่ใช่ “ประโยชน์อื่นใด”

ตามมาตรา 4 ของ พ.ร.ป.พรรคการเมือง 2560 ระบุว่า “ประโยชน์อื่นใดหมายความรวมถึง การให้ใช้ทรัพย์สิน การให้บริการ หรือการให้ส่วนลด โดยไม่มีค่าตอบแทน หรือมีค่าตอบแทนที่ไม่เป็นไปตามปกติการค้า และการทำให้หนี้ที่พรรคการเมืองเป็นลูกหนี้ลดลงหรือระงับสิ้นไปด้วย”

ดังนั้น คำถามพื้นฐาน คือ เงินกู้ ให้กู้แล้ว ทำให้หนี้สินลดลง หรือเพิ่มขึ้น ซึ่งคนปกติสามัญย่อมตอบได้ทันทีว่า การกู้ ย่อมทำให้หนี้สินเพิ่มขึ้น ไม่ลดลงหรือระงับสิ้นไป

แต่หากการให้กู้ดังกล่าว ไม่กำหนดเวลาใช้คืน หรือคิดอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าที่คิดกันในท้องตลาดมาก หรือ ไม่คิดดอกเบี้ยเลย เฉพาะส่วนที่เป็นดอกเบี้ยที่สมควรจะได้แต่หายไปต่างหาก คือประโยชน์อื่นใด

ดังนั้น หากอยากจะเล่นงานพรรคการเมืองหนึ่งว่า ให้กู้แล้วเป็นรายการ “ประโยชน์อื่นใด” คงต้องตรวจสอบสัญญาเงินกู้ของทุกพรรคว่า คิดอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าที่ควรจะเป็นหรือไม่ และต้องนับว่านอกเหนือจากพรรคที่ปรากฏรายการเงินกู้ในงบการเงินปี 2561 ถึง 16 พรรคแล้ว พรรคการเมืองอีก 16 พรรคที่ปรากฏรายการ “เงินยืม” ในงบการเงินปี 2561 ยิ่งสมควรจัดเป็น “ประโยชน์อื่นใด” ยิ่งกว่า เพราะเงินกู้ มี ดอกเบี้ย แต่เงินยืม ไม่มีดอกเบี้ย (เพราะดอกเบี้ยที่หายไป คือ ประโยชน์อื่นใดที่พรรคควรต้องจ่ายตามปกติการค้า)

ความเห็นของผม จึงเห็นว่า เงินกู้ ไม่ใช่ ประโยชน์อื่นใด ยกเว้น หากไม่คิดดอกเบี้ยเงินกู้ หรือ ไม่มีสัญญาการใช้เงินคืนที่แน่นอน

สำหรับความเห็นกรณีเงินกู้อนาคตใหม่ (ตอนที่ 4) การกู้เงิน เป็น “นิติกรรมอำพราง” หรือไม่ แปลแบบภาษาชาวบ้าน “นิติกรรม” คือการกระทำที่มีผลผูกพันทางกฎหมาย เช่น การทำสัญญาเงินกู้ จะระหว่างใครก็ตาม เมื่อทำกับพรรคการเมือง การทำสัญญานั้น เรียกว่า การทำนิติกรรม

ส่วน “อำพราง” คือ ซ่อนเร้น ปกปิด ไม่ให้เห็นถึงเจตนาที่แท้

นิติกรรมอำพราง จึงหมายถึง การทำสัญญาที่เป็นทางการแบบหนึ่ง แต่แท้จริงแล้วมีเจตนาซ่อนเร้นแบบหนึ่ง ทั้งนี้ เพื่อต้องการหลีกเลี่ยงกฎหมาย เช่น กฎหมายบอกว่า บุคคลบริจาคให้พรรคการเมืองได้ ไม่เกินปีละ 10 ล้านบาท หากใครอยากจะบริจาคมากกว่านั้น ก็อาจไปหานอมินี ตัวแทน ที่ฐานะตัวเองอาจจะเลี้ยงตัวไม่รอด แต่เอาหน้ามาบริจาคแทน อย่างนี้น่าจะเข้าข่ายได้

การให้พรรคยืมเงิน แบบไม่ข้อจำกัดเรื่องเวลา ไม่คิดดอกเบี้ย ให้ยืมแล้วไม่รู้ชาตินี้หรือชาติไหนจะคืนไม่มีกำหนด นานไปก็คล้ายเงินบริจาค ก็น่าจะเข้าข่ายนิติกรรมอำพรางได้

พวกบริษัทห้างร้าน จะสนับสนุนโต๊ะจีนพรรคการเมือง แต่ไม่อยากออกหน้าหรือกลัวจะเกินวงเงิน ก็ไปหาบริษัทตั้งใหม่ มาบริจาคเงินแทน อันนี้ก็น่าจะเข้าข่าย

พอมาถึง การกู้เงิน พอจะเป็นนิติกรรมอำพรางได้หรือไม่ คงต้องต้องดูองค์ประกอบต่างๆ

หนึ่ง กู้แบบพร้อมให้ชักดาบ คือไม่ใส่ใจเขียนสัญญาให้รัดกุม ไม่มีกำหนดเวลาใช้คืน ให้กู้ก็จะเหมือนให้บริจาค อันนี้น่าจะเข้าข่าย

สอง กู้แบบใจดี ไม่คิดดอกเบี้ย หรือคิดดอกเบี้ยต่ำมาก กำหนดเวลาใช้คืนยาวนานมาก เป็นสิบปียี่สิบปี ไม่รู้ว่าถึงเวลานั้น กรรมการบริหารพรรคจะล้มหายตายจากเหลือสักกี่คน อันนี้ก็น่าจะเข้าข่าย

สาม ให้กู้ไปแล้ว ผู้กู้ไม่มีพฤติกรรมในการใช้คืน เหมือนยืมของเพื่อน เพื่อนตายไปแล้วยังทำเฉย แทนที่จะรีบส่งคืนให้ทายาท อันนี้ ก็น่าจะเข้าข่าย

แต่หากเขามีสัญญา มีดอกเบี้ย มีกำหนดใช้คืน และกระตือรือร้นในการใช้คืน จะไปกล่าวหาว่าเขาทำนิติกรรมอำพราง คงเป็นเรื่องอำพรางซ้อนอำพราง ที่ต้องใช้ความสามารถและจินตนาการอย่างสูงส่งจึงมองการอำพรางดังกล่าวออกได้

อย่าประมาทครับ คนเก่งที่จะมองเห็นลึกซึ้งแบบนี้มีจริงในบ้านเมือง