ธปท.รับเห็นแบงก์เร่งปรับโครงสร้างหนี้เร็วขึ้น เตรียมถกคลายเกณฑ์ช่วยลูกค้า-ธนาคารเพิ่ม

ธปท. ชี้ เห็นสัญญาณแบงก์เร่งปรับโครงสร้างหนี้เพิ่มขึ้น-ตั้งคณะทำงานติดตามใกล้ชิด ส่งอาร์เอ็มแก้หนี้เชิงรุกผู้ประกอบการ-ลูกจ้าง เผยเร่งพูดคุยคลายเกณฑ์ช่วยเพิ่มเติม หลังผ่อนคลายเกณฑ์จัดหนี้-ปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ลั่น อย่ามองลดดอกเบี้ยเพียงพอหรือไม่ แต่ตัดสินใจล่วงหน้าและทำทันท่วงทีรับความเสี่ยงก่อน

ดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ภายหลังจากธปท.ได้ผ่อนคลายเกณฑ์การจัดชั้นหนี้ และการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้กับธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา ปัจจุบันพบว่าสถาบันการเงินได้เข้าไปช่วยเหลือเพิ่มขึ้น เนื่องจากที่ผ่านมาผู้ประกอบการให้ความสนใจน้อย โดยเฉพาะผู้ประกอบการที่อยู่ในต่างจังหวัด ซึ่งธปท.ได้ขอให้ธนาคารตั้งทีมพิเศษเพื่อเร่งติดตามอย่างใกล้ชิด รวมถึงเร่งกระบวนการอนุมัติภายใน เพื่อให้การช่วยเหลือทำได้เร็วขึ้น โดยเฉพาะทีมงานลูกค้าสัมพันธ์ (Relationship Management) หรือ RM ที่จะต้องมีแนวทางการปฏิบัติที่ชัดเจน เพื่อให้การปรับปรุงโครงสร้างหนี้ทำได้เร็วขึ้น และมีกระบวนการตัดสินใจที่รวดเร็วขึ้น ตลอดจนทำงานในเชิงรุกมากขึ้น

อย่างไรก็ดี ธนาคารได้เข้ามาปรึกษาแนวทางการช่วยเหลือเพิ่มเติม เช่น กรณีมีเจ้าหนี้หลายราย จะต้องมีแนวทางการปฏิบัติอย่างไรให้ธนาคารสามารถทำงานได้เร็วขึ้น และชาวยกันแก้ไขได้มีประสิทธิภาพ ซึ่งเป็นโจทย์ที่ต้องพูดคุยกันต่อ เพื่อหาแนวทางการปฏิบัติที่ชัดเจนขึ้น ขณะเดียวกัน ภายใต้การปรับปรุงโครงสร้างหนี้จะต้องทำควบคู่กับการควบคุมความเสี่ยงจากการปล่อยสินเชื่อที่มีประสิทธิภาพ

“การปรับโครงสร้างหนี้ของแบงก์ วันนี้ พบว่ามีการเข้าไปช่วยเหลือเพิ่มขึ้น เพราะที่่ผ่านมาจะพบว่าผู้ประกอบการอาจมีความสนใจน้อย โดยเฉพาะที่อยู่ต่างจังหวัด แต่วันนี้ผลกระทบกระจายสู่ทั่วประเทศ ไม่ได้จำกัด ซึ่งสถาบันการเงินก็มีการปรับแนวทางที่ดี ที่จะช่วยกันทำงานในลักษณะที่เป็นเชิงรุกมากขึ้นในรอบนี้”

สำหรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ปรับ 1 ครั้งมีความเพียงพอหรือไม่นั้น ดร.วิรไท กล่าวว่า ธปท.ประเมินสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง มีหลายเรื่องที่ต้องติดตาม โดยเฉพาะไวรัสโควิด-19 ภัยแล้ง และการติดตามสถานการณ์งบประมาณ แต่ปัจจุบันพบว่าภาครัฐบาล และสถาบันการเงิน เห็นความสำคัญและช่วยกันที่จะดำเนินมาตรการอย่างรวดเร็ว ขณะที่ธนาคารก็ให้ความร่วมมือในการเข้าไปเร่งการปรับโครงสร้างหนี้ ไม่ใช่เฉพาะผู้ประกอบการ แต่รวมไปถึงลูกจ้างในอุตสาหกรรมต่างๆ ด้วย หากช่วยกันทำก็จะลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นได้ และรัฐบาลก็มีหลายมาตรการที่กำลังเร่งดำเนินการอยู่ที่จะช่วยลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้น

ขณะที่ในส่วนธปท.ได้ทำหลายเรื่อง โดยที่ผ่านมาธปท.มีการแก้กฏเกณฑ์การจัดชั้นหนี้ การปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ไม่ให้เป็นอุปสรรคต่อสถาบันการเงิน และการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ให้ลูกค้า เพราะในสภาวะแบบนี้ทุกคนต้องทำงานเชิงรุก โปรเอกทีฟ หรือแม้กระทั่งหนี้ครัวเรือน คลินิกแก้หนี้ ก็ต้องเร่งทำ ที่มีการขยายเกณฑ์ไปเพื่อให้ผู้ประกอบการได้ประโยชน์ หรือแม้กระทั่งการลดดอกเบี้ยลง ก็เป็นการตัดสินใจที่เป็นเอกฉันท์ในภาวะแบบนี้ เนื่องจากธปท.เห็นสัญญาณหลายอย่างมีความเสี่ยงมากขึ้น ซึ่งจะดีกว่าหากธปท.ทำไว้ล่วงหน้าและทำด้วยความเร็ว

“เราจะไม่ไปนั่งดูสถานการณ์แล้วประเมินข้างหน้าไม่ได้ ดังนั้น สิ่งเหล่านี้ต้องทำเลย เพราะเห็นสัญญาณหลายอย่างที่มีความเสี่ยงเยอะมาก ซึ่งจะดีกว่าถ้าเราทำล่วงหน้าแล้วเราทำด้วยความเร็ว และก็จะส่งผลทันที เช่น ตลาดตราสารหนี้ ตลาดพันธบัตรรัฐบาลที่ดอกเบี้ยต่ำสุดในประวัติการณ์ ไม่เคยมีดอกเบี้ยพันธบัตร 10 ปีที่อัตราดอกเบี้ยต่ำกว่า 1.03-1.05% ขณะที่แบงก์พร้อมที่จะลดอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงลงทันที

อย่างไรก็ดี เราไม่อยากให้ไปดูว่าดอกเบี้ยลดเพียงพอหรือไม่ เพราะสถานการณ์วันนี้ค่อนข้างไดนามิกซ์ ดังนั้นต้องมีการประเมินสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง”