เตะภรรยาดีกว่าเตะสุนัข เพราะอัตราโทษปรับถูกกว่า ? เปิดข้อมูลจริงเปรียบเทียบปรับ การทารุณกรรมสัตว์ vs ทำร้ายร่างกายผู้อื่น

ดร.สาธิต ปรัชญาอริยะกุล เลขาธิการและผู้อำนวยการสมาคมป้องกันการทารุณสัตว์แห่งประเทศไทย เปิดเผยข้อมูลอัตราการเปรียบเทียบปรับ ในกรณีการทารุณกรรมสัตว์กับการทำร้ายร่างกายผู้อื่น ว่า บ่อยครั้งจะได้ยินวลีเตะภรรยาดีกว่าเตะสุนัข เพราะอัตราโทษปรับคดีทำร้ายร่างกายผู้อื่นปรับ เพียง 500 บาท แต่ทำร้ายสุนัขปรับ 40,000 บาท และจำคุกอีกไม่เกิน 2 ปี จนเป็นที่เข้าใจหรือขำๆ กัน แต่จริง ๆ แล้ว ข้อมูลดังกล่าว อาจจะคลาดเคลื่อนไม่ตรงกับความจริงสักทีเดียว ซึ่งอัตราการเปรียบเทียบ ในกรณีการทารุณสัตว์โดยไม่มีเหตุอันสมควร กับทำร้ายร่างกายผู้อื่น ถ้าจะเปรียบเทียบกันรายมาตราตามกฎหมาย ปัจจุบันพบว่า

1. การทำร้ายร่างกายผู้อื่น ธรรมดาที่ไม่เกิดอันตรายแก่ร่างกายและจิตใจ ที่กล่าวว่า ปรับ 500 บาท ตาม ป.อาญา มาตรา 391 นั้นอาจจะไม่จริง เพราะปัจจุบัน กฎหมายกำหนดโทษ ปรับไม่เกิน 10,000 บาท และจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งถ้าเปรียบเทียบในอัตราดังกล่าวโทษดังกล่าว จะเท่ากับการกระทำทารุณสัตว์ หรือฆ่าสัตว์ หรือใช้สัตว์ทำงานเกินกำลัง ตาม ป.อาญา มาตรา 381 และ 382 ซึ่งเป็นความผิดลหุโทษเหมือนกัน

2. ส่วนการทำร้ายผู้อื่นเป็นเหตุให้เกิดอันตรายต่อกายและจิตใจ ตาม ป.อาญา มาตรา 295 นั้นจะมีโทษ จำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งมีอัตราโทษ เท่ากับ การทารุณกรรมสัตว์โดยไม่มีเหตุอันสมควร ตาม พ.ร.บ.ป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ.2557 มาตรา 20 ประกอบ มาตรา 31

3. ส่วนการฆ่าผู้อื่น ตามมาตรา 288 นั้น ต้องระวางโทษ ประหารชีวิตจำคุกตลอดชีวิต หรือจำคุกตั้งแต่ 15-20 ปี หรือ ซึ่งการฆ่าผู้อื่นโดยทรมานหรือกระทำการโหดร้าย ตาม ป.อาญา มาตรา 289 (5) ต้องระวางโทษประหารชีวิต สถานเดียว

สำหรับข้อเท็จจริงตามข้อกฎหมาย เมื่อพิจารณาเปรียบเทียบกันรายมาตรา จะพบว่า การทารุณกรรมสัตว์ให้ได้รับความทุกข์ทรมานอันอาจจะทำให้สัตว์นั้นตายได้ โดยไม่มีเหตุอันสมควร ซึ่งมีอัตราโทษสูงสุด จำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตาม พ.ร.บ. ป้องกันการทารุณกรรมฯ พ.ศ.2557 แต่หลังจากประกาศใช้กฎหมายดังกล่าว มา 5 ปี ยังไม่มีคดีไหน ปรับหรือจำคุกสูงสุดตามที่กฎหมายกำหนดแม้แต่คดีเดียว ส่วนใหญ่ศาลจะพิจารณาลงโทษสถานเบาและรอลงอาญา
ในส่วนการกระทำความผิดฐานทำร้ายผู้อื่นนั้น อัตราโทษขึ้นอยู่กับพฤติการณ์ความหนักเบาของแต่ละกรณี แต่ถ้าก้าวล่วงมาถึงการฆ่าผู้อื่นโดยทรมานหรือกระทำการทารุณโหดร้าย ต้องระวางโทษประหารชีวิต

จากข้อเท็จจริงดังกล่าวแล้ว จึงไม่ควรมีการเปรียบเทียบและเปรียบเปรยกัน ระหว่างความผิดเกี่ยวกับการทารุณกรรมสัตว์หรือการทำร้ายผู้อื่น เช่น “เตะภรรยาดีกว่าเตะสุนัข” “กฎหมายคุ้มครองสัตว์มากกว่าคุ้มครองคน” เพราะสภาพบริบทช่วงเวลาการประกาศใช้กฎหมายที่แตกต่างกัน พ.ร.บ.ให้ใช้ประมวลกฎหมายอาญา ประกาศ พ.ศ.2499 ซึ่งในขณะประกาศใช้นั้น ทองคำ มีมูลค่าบาทละ 400 บาท ส่วน พ.ร.บ.ป้องกันการทารุณกรรมฯ ประกาศ เมื่อ พ.ศ. 2557 ขณะนั้นทองคำบาทละ 20,000 บาท ที่สำคัญเจตนารมณ์กฎหมายแต่ละฉบับก็มีความแตกต่างกัน ดังนั้น กฎหมายจึงเป็นเครื่องมือ ในการรักษาความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน สำคัญคือผู้ใช้หรือผู้รักษากฎหมายจะต้องใช้กฎหมายนั้น ให้เกิดความเป็นธรรมทั้งต่อมนุษย์และสรรพสัตว์น้อยใหญ่ ซึ่งเป็นสิ่งมีชีวิตที่มีความรู้สึกและเป็นองค์ประกอบสำคัญของสิ่งแวดล้อม จึงควรได้รับการคุ้มครองมิให้ถูกทารุณกรรมโดยไม่มีเหตุอันสมควร และเจ้าของ สัตว์ซึ่งนำสัตว์มาเลี้ยงจะต้องจัดสวัสดิภาพให้เหมาะสม อย่างมีความรับผิดชอบทั้งต่อสัตว์เองและผู้อื่นด้วย