‘สุริยะ’ชี้’เกรท วอลล์ มอเตอร์’ซื้อโรงงาน’จีเอ็ม’ดันไทยฐานผลิตเอเชีย

‘สุริยะ’ชี้’เกรท วอลล์ มอเตอร์’ ซื้อโรงงาน’จีเอ็ม’ ตั้งเป้าผลิตรถเอสยูวี-ปิคอัพแสนคันภายในปี 65 ดันไทยฐานผลิตเอเชีย

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยถึงกรณีเกรท วอลล์ มอเตอร์
ซื้อศูนย์การผลิตรถยนต์ของเจเนอรัล มอเตอร์(จีเอ็ม) ประเทศไทย ว่า เป็นกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของโลก โดยเฉพาะการเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยียานยนต์จากเครื่องยนต์สันดาปภายใน ไปสู่รถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้า  ตลอดจนนโยบายทั้งสองบริษัทพบว่าต่างวางแผนการผลิตและการจำหน่ายยานยนต์ในสาขาทั่วโลก อาทิ ยุโรป อาเซียน ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์รวมถึงประเทศไทย กลยุทธ์ดังกล่าวจึงถือเป็นเรื่องปกติของการทำธุรกิจ ต้องปรับตัวเพื่อรองรับการเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยี(ดิสรัปทีฟ เทคโนโลยี) ที่เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว แนวทางยังเกิดขึ้นกับบริษัทรถยนต์หลายค่ายทั่วโลก อาทิ เฟียต-ไครสเลอร์ และเกรท วอลล์ มอเตอร์ ยังเพิ่งซื้อโรงงานผลิตยานยนต์ในประเทศอินเดียก่อนหน้านี้ด้วย

นายสุริยะ กล่าวว่า ที่ผ่านมา เกรท วอลล์ มอเตอร์ ได้เข้ามาหารือกับสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม(สศอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม เกี่ยวกับการลงทุนสร้างฐานการผลิตยานยนต์ในประเทศไทยมาระยะหนึ่งแล้ว โดยบริษัทเป็นผู้ผลิตรถยนต์สัญชาติจีนรายใหญ่ และเป็นผู้ผลิตรถยนต์อเนกประสงค์ (เอสยูวี) และรถปิกอัพรายใหญ่ที่สุดของจีน ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมาบริษัทมีปริมาณการจำหน่ายในจีนเฉลี่ย 1 ล้านคันต่อปี สำหรับการลงทุนในประเทศไทยนั้นทราบว่าบริษัทวางแผนการผลิตรถยนต์เอสยูวีและรถปิกอัพ รวมถึงการผลิตรถยนต์ปลั๊กอินไฮบริด(พีเอชอีวี) และรถยนต์ไฟฟ้า(บีอีวี) ด้วย กำลังการผลิตประมาณ 100,000 คันต่อปี โดย 50% เป็นการผลิตเพื่อการส่งออก

“จากการซื้อโรงงานผลิตรถของจีเอ็มครั้งนี้ คาดว่าเกรท วอลล์ มอเตอร์ จะเริ่มต้นผลิตรถยนต์ในไทยภายในไตรมาส 1 ปี 2565 ขนาดกำลังการผลิต 100,000 คันต่อปี จากปัจจุบันจีเอ็มมีกำลังผลิตประมาณ 50,000 คันต่อปี เมื่อเกรท วอลล์ มอเตอร์ลงทุน 100% จะส่งผลให้อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยมีความสามารถในการแข่งขันเพิ่มขึ้น ส่งผลดีต่อภาคการผลิต โดยเฉพาะผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไทยและ ซัพพลายเชนของอุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศ การส่งออก และการจ้างแรงงานในภาคอุตสาหกรรม”นายสุริยะกล่าว

นายสุริยะ กล่าวว่า นอกจากนี้บริษัทยังมีแผนลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาเกี่ยวกับยานยนต์ไฟฟ้าในหลายประเทศ อาทิ จีน เกาหลีใต้ และเยอรมนี ในเทคโนโลยีแบตเตอรี่ประเภทลิเทียมไอออน และเทคโนโลยีเซลล์เชื้อเพลิง คาดว่าจะเป็นส่วนสนับสนุนสำคัญต่อนโยบายการสร้างฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยของรัฐบาลอีกด้วย

นายสุริยะกล่าวว่า อย่างไรก็ตาม จากการปรับตัวของผู้ผลิตรถยนต์ของโลกครั้งนี้ กระทรวงฯอยากให้ผู้ประกอบการยานยนต์ในประเทศไทย ทั้งผู้ผลิตยานยนต์ และผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ เร่งปรับตัวตามทิศทางการพัฒนาเทคโนโลยีโลกดังกล่าว เพื่อรักษาการเป็นฐานการผลิตยานยนต์ในอาเซียน และเป้าหมายการเป็นฐานการผลิตยานยนต์ในระดับโลก