ผู้ป่วยโควิด-19 หายป่วยเพิ่มอีก 2 ราย เตรียมปล่อยคนไทยที่สัตหีบกลับ 137 ราย ยังกักอีก 1 ราย

วันที่ 18 กุมภาพันธ์ ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค พร้อมด้วย นพ.ณรงค์ อภิกุลวนิช รองอธิบดีกรมการแพทย์ และ นพ.รุ่งเรือง กิจผาติ โฆษก สธ.แถลงความคืบหน้าสถานการณ์โรคไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19

นพ.ธนรักษ์กล่าวว่า วันนี้มีทั้งหมด 3 ประเด็นใหญ่ๆ คือ ประเด็นที่ 1 สถานการณ์ทั่วโลกยอดผู้ป่วย 73,332 ราย เสียชีวิต 1,873 ราย และ มีประเทศที่มีการแพร่ระบาดภายในประเทศที่มีวงกว้างขึ้น คือ ญี่ปุ่น สิงคโปร์ เวียดนาม และฮ่องกง ดังนั้นพื้นที่ที่มีความเสี่ยงจะมีการคัดกรองผู้โดยทางที่เข้มข้นขึ้น คือ จะต้องมีการคัดกรองในทุกเที่ยวบินที่เดินทางมาจากประเทศฮ่องกง ญี่ปุ่น และสิงคโปร์ ด้านความเสี่ยงของประเทศไทย กรณีผู้ป่วยนำเข้าขึ้นอยู่กับจำนวนผู้ติดเชื้อของประเทศต้นทาง และจำนวนของผู้เดินทางเข้ามาในประเทศ ทั้งประชาชนของประเทศนั้นๆ และคนไทยที่เดินทางไปท่องเที่ยว หากจำนวนผู้เดินทางลด ผู้ติดเชื้อในประเทศต้นทางลด ความเสี่ยงของประเทศไทยก็จะลดลงไปด้วย

นพ.ธนรักษ์กล่าวว่า สำหรับสถานการณ์ของประเทศไทยผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อสะสม 35 ราย และในวันนี้จะมีผู้ป่วยที่แพทย์อนุญาตให้กลับบ้านเพิ่มอีก 2 ราย จากสถาบันโรคทรวงอก 1 ราย และที่โรงพยาบาล (รพ.) ราชวิถี 1 ราย รวมกลับบ้านสะสม 17 ราย และยังอยู่ในการรักษาอีก 18 ราย จากรายงานจะพบว่าจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นค่อนข้างช้า เมื่อเทียบกับประเทศอื่น เนื่องจากประเทศอื่นเริ่มมีการแพร่ระบาดภายในประเทศชัดเจน และประเทศไทยมีความพยายามสูงมากในการตรวจหาผู้ติดเชื้อในประเทศ ขยายการเฝ้าระวังและยังไม่พบการแพร่ระบายในวงกว้าง

“อยากยืนยันว่า สธ.พยายามทุกวิถีทาง ในการยืดระยะ 2 ออกไปในนานที่สุดและทางเดียวที่จะทำได้คือการรีบหาผู้ป่วยให้เร็วที่สุด และเข้าควบคุมโรคโดยเร็ว เราทำเต็มที่เท่ากับว่ายังไม่พบการแพร่ระบาดในประเทศจริงๆ หวังว่าเมื่อใดที่มีการแพร่ระบาดเราจะเจอได้เร็วๆ” นพ.ธนรักษ์กล่าว และว่า กรณีผู้ป่วยอาการรุนแรง 2 ราย ในสถาบันบำราศนราดูร ทั้ง 2 ราย ใส่ท่อช่วยหายใจและใช้เครื่องช่วยหายใจ และมี 1 ราย คือ รายที่มีอาการปอดอักเสบรุนแรงแพทย์ใช้เครื่องช่วยพยุงการทำงานของปอดหรือเครื่องเอคโม (ECMO) ในการดูแลรักษา มีแนวโน้มอาการดีขึ้นแต่ยังอยู่ในภาวะวิกฤต ส่วนในรายที่มีอาการวัณโรคร่วมด้วย ขณะนี้อาการทรงตัว โดยรวมทั้ง 2 รายยังอยู่ในภาวะวิกฤต

“โรคนี้ถึงว่าเราจะพูดว่าผู้ป่วยส่วนใหญ่ อาการไม่รุนแรง แต่โรคนี้ด้วยตัวของมันเองไม่ได้เกิดจากภาวะแทรกซ้อนใดๆ สามารถก่อให้เกิดอาการรุนแรงได้ ในหลายประเทศจึงเริ่มเห็นว่ามีจำนวนผู้เสียชีวิต อาการเบาไม่ได้แปลว่าจะไม่เกิดความสูญเสียเกิดขึ้น สิ่งที่เราทำได้ดีที่สุดคือการเราทุ่มเทการรักษาเต็มที่ ใช้ความรู้และทฤษฎีมาใช้” นพ.ธนรักษ์กล่าว

นพ.ธนรักษ์กล่าวว่า ประเด็นที่ 2 การเฝ้าระวังที่ด่าน ในด่านอากาศยังมีความเข้มข้น และด่านน้ำที่มีเรือขนาดใหญ่และมีผู้โดยสารเข้ามา ยังมีการเฝ้าคัดกรองเต็มที่ หากเรือลำใดที่มีความเสี่ยงก็พร้อมจะปฏิเสธการเข้าจอด ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความเสี่ยง เช่น เรือไม่ได้ผ่านประเทศที่มีความเสี่ยงเลย ก็อนุญาตจอดได้และดำเนินการคัดกรองอย่างเข้มข้น สำหรับผู้โดยสารเรือสำราญเวสเตอร์ดัมที่เข้ามาในประเทศไทยเมื่อ 14 กุมภาพันธ์ ก่อนที่ทางการไทยจะสั่งยกเลิกเข้าประเทศมีทั้งสิ้น 95 คน โดยส่วนใหญ่ได้ต่อเครื่องไปต่างประเทศทั้งหมดแล้ว ที่เข้ามาในประเทศมีเพียง 4 คน เป็นคนไทย 2 คน ต่างชาติ 2 คน ทุกคนได้รับการตรวจด้วยเจ้าหน้าที่ควบคุมโรค เก็บสิ่งส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ ผลเป็นลบทุกคนและยังมีการติดตามอยู่ต่อเนื่อง 14 วัน ส่วนผลการหารือ ระหว่าง สธ.กับกระทรวงการต่างประเทศ และการท่าอากาศยานไทย สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ มีมติตรงกันว่าไม่รับเครื่องบินเช่าเหมาลำ (charter flight ) ที่รับผู้โดยสารจากเรือสำราญลำนี้จนถึงปลายเดือนกุมภาพันธ์ และ ประเด็นที่ 3 การเตรียมพร้อมครั้งสุดท้ายก่อนที่คนไทยที่กลับจากเมืองอู่ฮั่น จำนวน 137 ราย จะเดินทางกลับภูมิลำเนา ยืนยันว่าเมื่อคนกลุ่มนี้กลับบ้านได้สามารถใช้ชีวิตร่วมกับผู้อื่นได้ และไม่เป็นบุคคลแพร่โรค และใน 1 ราย ที่เป็นผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อ ขณะนี้ยังรอผลจากห้องปฏิบัติการให้เป็นลบ เพื่อมั่นใจว่าไม่สามารถแพร่โรคได้ จึงจะอนุญาตให้กลับบ้าน

นอกจากนี้ นพ.ธนรักษ์กล่าวว่า ขณะนี้คนไทยมีความเสี่ยงที่จะสัมผัสเชื้อกับผู้ป่วยค่อนข้างต่ำ เนื่องจากประเทศไทยพบผู้ป่วยติดเชื้อยังน้อย แต่ยังคงต้องป้องกันตัวเองอย่างเข้มงวด กรณีอาชีพของกลุ่มเสี่ยงที่จะต้องสัมผัสกับผู้เดินทางเข้าประเทศไทย เช่น คนขับรถโดยสาร ร้านขายของในแหล่งนักท่องเที่ยว เลี่ยงการเข้าใกล้ผู้มีอาการไอ จาม สวมหน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อยๆ

“พลังอำนาจในการหยุดเชื้อไวรัส คือ ตัวผู้ป่วยเป็นหลัก บางครั้งเราแยกยากว่าเรากำลังสู้กับผู้ป่วยหรือสู้กับไวรัส ถ้าผู้ป่วยให้ความร่วมมือดี มีอาการไข้ไอเจ็บคอ ให้พักอยู่บ้าน หรือสวมใส่หน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อยๆ แต่ไม่สามารถหาหน้ากากอนามัยได้จริงๆ หากเวลาไอ จาม ให้ใช้ท้องแขนปิดปากแทนการใช้ฝ่ามือ ล้างมือบ่อยๆ แยกตัวเองออกจากที่ที่มีคนเยอะๆ ยืนยันว่าการติดเชื้อทางการสัมผัส ไม่ว่าเชื้อจะอยู่ในสภาพแวดล้อมได้นานแค่ไหน เราสามารถด้วยการดูแลพื้นผิว เช็ดด้วยแอลกอฮอล์หรือน้ำสบู่ และหลีกเลี่ยงการนำมือมาสัมผัสใบหน้า” นพ.ธนรักษ์กล่าว

นพ.ณรงค์กล่าวว่า ขณะนี้แพทย์อนุญาตให้ผู้ป่วยที่สถาบันโรคทรวงอก ผู้ป่วยชาวจีน กลับบ้าน 1 ราย ซึ่งอยู่ในระหว่างการดำเนินการ และอีก 1 ราย เป็นรายที่มีอาการหนักใน รพ.ราชวิถี ที่ก่อนหน้านี้แพทย์ได้ให้การรักษาด้วยยาต้านไวรัสเอดส์ 2 ชนิด แพทย์อนุญาตให้กลับบ้านแล้ว รวมเป็น 2 ราย ยอดผู้ป่วยหายดีและกลับบ้านสะสมอยู่ที่ 17 ราย ทั้งนี้ มาตรการที่สำคัญคือ กลไกลการเฝ้าระวัง คัดกรอง เพื่อแยกผู้ป่วยเข้าเกณฑ์การสอบสวนโรคออกจากสังคม ชุมชน และนำเข้าสู่ระบบการรักษา นอกจากนี้ ที่ประชุมศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉิน ได้สั่งการให้ทุกพื้นที่เตรียมความพร้อมของ รพ.ในเพื่อรองรับในการระบาดระดับเล็กไปจนถึงการเพิ่มจำนวนของผู้ป่วย ซึ่งเป็นการทำงานร่วมกันทุกภาคส่วน รวมไปถึงกลไกของการควบคุมป้องกันการติดเชื้อภายใน รพ. คือการจัดตั้งคลินิกไข้หวัด เพื่อแยกผู้ป่วยที่มีอาการไข้หวัดออกจากผู้ป่วยทั่วไป เพื่อลดการแพร่ระบาดและการแพร่กระจายของเชื้อ

ผู้สื่อข่าวถามถึงสาเหตุเพิ่มการเฝ้าระวังผู้เดินทางจากประเทศญี่ปุ่น และประเทศเสี่ยง และมาตรการที่เพิ่มขึ้นจากเดิมในการคัดกรองมีอะไรบ้าง รวมถึงคำแนะนำคนไทยที่จะเดินทางไปยังประเทศที่มีการเฝ้าระวัง

นพ.ธนรักษ์กล่าวว่า การดำเนินการเฝ้าระวังในผู้เดินทางเป็นมาตรการป้องกันผู้ป่วยที่เดินทางมาจากประเทศที่มีกำลังเริ่มมีการแพร่ระบาด เพื่อให้เข้าระบบการรักษาได้โดยเร็วและไม่แพร่โรค โดยหลักการคือ จะเริ่มเฝ้าระวังประเทศที่น่าจะมีการแพร่ระบาดในประเทศ และมีจำนวนผู้ป่วยสูง ซึ่งสอดคล้องกับความเสี่ยงที่ประเทศจะพบใน 2 ปัจจัย คือ จำนวนผู้ป่วยในประเทศต้นทางและจำนวนผู้เดินทางจากประเทศเหล่านั้นเดินทางเข้าประเทศไทย หากพบว่าประเทศไทยมีความเสี่ยงที่จะพบผู้เดินทางที่มีการติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพิ่มขึ้น ก็จะมีการเริ่มดำเนินการด้วยมาตรฐานเดียวกันในทุกประเทศ เช่น การเฝ้าระวังในประเทศจีนตั้งแต่เริ่มแพร่ระบาด ที่มีการประกาศตั้งแต่บนเครื่องบิน หากผู้โดยสารมีอาการไข้ ไอ เจ็บคอให้แจ้งพนักงานบนเครื่อง และเมื่อถึงสนามบินจะมีการตรวจคัดกรองหากมีอาการไข้ อาการระบบทางเดินหายใจ หากยังไม่มีอาการก็จะให้คำแนะนำในการเฝ้าระวังและแจกการ์ดข้อมูล (Health Beware Card) เพื่อติดต่อเจ้าหน้าที่หากพบอาการป่วย รวมถึงการประสานงานกับบริษัทนำเข้าผู้เดินทาง เช่น บริษัททัวร์ มัคคุเทศก์ โรงแรมเพื่อให้ช่วยสอดส่องผู้เดินทาง หากพบว่ามีผู้ป่วยก็จะให้แจ้งกับสถานพยาบาลสาธารณสุข และคำแนะนำผู้ที่จะเดินทางไปประเทศเสี่ยงคือ เลี่ยงการเข้าพื้นที่แออัด สวมหน้ากากอนามัย ล้างมือเป็นประจำและเมื่อเดินทางกลับมาแล้วใน 14 วัน พบว่ามีอาการป่วยให้แจ้งกับแพทย์ เพื่อทำการรักษาอย่างดีที่สุด หากเลื่อนการเดินทางได้ ก็ให้เลื่อนออกไปก่อน แต่ถ้าหากจำเป็นต้องไปก็จะต้องดูแลตัวเอง ปฏิบัติตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด

“เราไม่ถึงกับประกาศห้ามเดินทางเข้าประเทศ หรือการประกาศมาตรการรุนแรงอย่างที่มีในบางประเทศทำ เช่น ให้ผู้เดินทางจากประเทศที่มีการระบาด ให้อยู่กับบ้านจำนวน 14 วัน ก่อนออกมาข้างนอกได้ เราไม่ได้ดำเนินถึงขนาดนี้ ประเทศไทยยังดำเนินการมาตรการกลางๆ ไม่ได้สุดโต่งไป และหวังว่าผู้ดินทางจะให้ความร่วมมืออย่างดี และเรายังเปิดกว้างอยู่” นพ.ธนรักษ์กล่าว

เมื่อถามว่าประเทศอิสราเอลประกาศว่าประเทศไทยและอื่นๆ อาจจะมีความเสี่ยง ซึ่งอาจจะมีหมายความว่าต่างประเทศคิดว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่จะส่งออกผู้ป่วย นพ.ธนรักษ์กล่าวว่า ทุกประเทศมีเอกสิทธิ์ในการตัดสินใจดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งที่ได้วิเคราะห์ความเสี่ยงแล้ว ส่วนการจำกัดการเดินทางมีมาตรการหลายระดับ อาทิ มาตรการรุนแรงที่สุดคือการห้ามเดินทางเข้าประเทศ มาตรรองลงมาอย่างเช่นที่ประเทศอิสราเอลประกาศคือให้เข้าประเทศได้แต่ให้พักอยู่บ้านให้ครบ 14 วันก่อนออกไปข้างนอก และมาตรการแบบที่ประเทศไทยทำคือการข้อความร่วมมือบนเครื่องบิน ให้คำแนะนำกับผู้เดินทาง และน้อยที่สุดคือไม่มีมาตรการอะไรเลยรวมถึงไม่มีการคัดกรอง ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับแต่ละประเทศต่างๆ จะบริการจัดการกับความเสี่ยงนั้นๆ

เมื่อถามว่า กรณีที่มีกระแสข่าวว่า ในบางจังหวัดไม่มีการตรวจผู้ป่วยในห้องปฏิบัติการเพื่อไม่ให้เกิดการรายงานจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้น นพ.ธนรักษ์กล่าว การกระทำเช่นนี้ไม่ส่งผลดี กลับเป็นผลร้ายกับจังหวัดนั้นอย่างแน่นอน คือการที่ไม่ตรวจคือการที่ไม่สามารถลงไปควบคุมโรคได้ ดังนั้นจังหวัดใดที่กระทำเช่นนี้ ก็จะเป็นจังหวัดแรกๆ ที่มีการแพร่ระบาด

“ไม่คิดว่าจะมีคนที่คิดได้เช่นนี้ คิดที่จะให้บ้านเมืองที่ตัวเองดูแลอยู่ เป็นพื้นที่แพร่ระบาดจังหวัดแรกของประเทศไทย เพราะมาตรการการควบคุมโรคและยืดระยะเวลาของการแพร่ระบาดออกไปให้นานที่สุด คือ การพยายามตรวจจับให้เร็วที่สุดและลงไปควบคุมโรคให้ได้เร็วที่สุด ยิ่งตรวจช้าก็ยิ่งมีการควบคุมโรคช้า” นพ.ธนรักษ์กล่าว

เมื่อถามว่าการเลื่อนจัดงานหรืออีเว้นต์ต่างๆ ในประเทศไทยมีความจำเป็นหรือยังในขณะนี้ นพ.ธนรักษ์กล่าวว่า หลักการคือ ระยะที่มีการแพร่ระบาดทั่วไป การที่นำคนมารวมตัวกันจำนวนมากจะเป็นการสร้างโอกาสให้มีการแพร่ระบาดของโรคมากขึ้น

“หากย้อนกลับไปเมื่อการเกิดโรคไข้หวัดใหญ่และมีการเริ่มแพร่ระบาดจริงๆ คือ คอนเสิร์ตของศิลปินเกาหลีที่มีผู้เข้าชมจำนวนมาก คำแนะนำโดยทั่วไปคือ ขณะนี้งานใดที่สามารถเลื่อนได้ให้เลื่อนออกไปก่อน โดยพิจารณาตามความเสี่ยง ซึ่งในขณะนี้อยู่ในจุดที่สมดุลอย่างมาก และไม่สามารถคาดเดาได้ว่าจะเริ่มแพร่กระจายการระบาดช่วงไหน แต่หากมีการแพร่ระบาดมากขึ้นคำแนะนำให้เลื่อนจัดกิจกรรมก็จะหนักแน่นมากขึ้นไปด้วย หากจะมีการจัดกิจกรรมก็แนะนำให้มีการคัดกรองผู้เข้างานด้วยการวัดอุณหภูมิร่างกาย สวมหน้ากากอนามัย รวมไปถึงมีบริการเจลแอลกอฮอล์ล้างมือในงานอย่างทั่วถึง” นพ.ธนรักษ์กล่าว