เอ็กซิมแบงก์ชี้ส่งออกไทยปีนี้ยังติดลบ งัดสารพัดมาตรการช่วยผู้ส่งออก เผยปี’62 สินเชื่อคงค้างสูงเป็นประวัติการณ์

นายพิศิษฐ์ เสรีวิวัฒนา กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (เอ็กซิมแบงก์) เปิดเผยในโอกาส เอ็กซิมแบงก์ เปิดดำเนินการครบรอบ 26 ปี ว่า ปี 2563 ถือเป็นปีแห่งการปรับสมดุลของโลก เพื่อลดความเสี่ยง โดยเฉพาะปัจจัยจากภายในและนอกประเทศที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย ได้แก่ สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน ความผันผวนของค่าเงิน ราคาสินค้าโภคภัณฑ์อยู่ในระดับต่ำ การขัดแย้งด้านการเมืองในหลายประเทศ ภัยแล้ง และโรคไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ หรือ โควิด-19 ดังนั้นในปีนี้ธนาคารจึงคาดว่าการส่งออกไทยจะติดลบ 2-0% จากเดิมคาดว่าจะเติบโตถึง 2%

นายพิศิษฐ์ กล่าวว่า ธนาคารวางแผนงานในระยะสั้น เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการให้ก้าวต่อไปได้และปรับตัวได้ท่ามกลางสภาวะที่มีแต่ปัจจัยเสี่ยง โดยจะใช้เครื่องมือทางการเงิน ทั้งการปล่อยสินเชื่อและประกันความเสี่ยงด้านการค้าและการลงทุน การคุ้มครองความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน รวมทั้งโปรแกรมสินเชื่อพิเศษและมาตรการต่าง ๆ เพื่อช่วยบรรเทาผลกระทบในระยะสั้นให้แก่ผู้ส่งออกและนักลงทุนไทย

นายพิศิษฐ์ กล่าวว่า ขณะที่ในระยะยาว ธนาคารมีบริการทางการเงินที่จะช่วยผู้ประกอบการไทยปรับสมดุลโครงสร้างการส่งออกและนำเข้าของไทยเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน โดยสนับสนุนการปรับเปลี่ยนเครื่องจักรและพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าไทย สนับสนุนการลงทุนในโครงการพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และการพัฒนา 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย หรือ S-curve เพื่อสร้างฐานการผลิตด้านนวัตกรรมของประเทศ รวมทั้งเปิดตลาดใหม่ในกลุ่ม New Frontier อาทิ รัสเซียและกลุ่มประเทศเครือรัฐเอกราช(CIS) ตะวันออกกลาง เป็นต้น

“ส่วนในปี 2563 ธนาคารฯ ตั้งเป้าสินเชื่อเติบโตในอัตรา 7-8% ซึ่งเป็นตัวเลขที่ไม่สูงมากนัก โดย เติบโตลดลงจากปี 62 ซึ่งอยู่ที่ 12.23% เนื่องจากปี 2563 มีปัจจัยลบที่กระทบกับผู้ประกอบการจำนวนมาก ธนาคารฯ จึงหวังช่วยให้ผู้ประกอบการอยู่รอดเสียก่อน โดยจะส่งผลดีกับการเติบโตของธนาคารในระยะยาว”นายพิศิษฐ์ กล่าว

นายพิศิษฐ์ กล่าวว่า ขณะที่ผลการดำเนินงานปี 2562 ธนาคารมีสินเชื่อคงค้าง 121,868 ล้านบาท สูงสุดเป็นประวัติการณ์นับตั้งแต่เปิดดำเนินการ โดยเพิ่มขึ้น 13,279 ล้านบาทหรือ 12.23% เมื่อเทียบกับปีก่อน แบ่งเป็น สินเชื่อเพื่อการค้า 38,900 ล้านบาทและสินเชื่อเพื่อการลงทุน 82,968 ล้านบาท ทำให้เกิดปริมาณธุรกิจ จำนวน 197,106 ล้านบาท ซึ่งในจำนวนนี้เป็นธุรกิจของผู้ประกอบการเอสเอ็มอี (SMEs)ประมาณ 106,749 ล้านบาท คิดเป็น 54.16%

นายพิศิษฐ์ กล่าวว่า ส่วนสินเชื่อคงค้างผู้ประกอบการเอสเอ็มอี เท่ากับ 43,123 ล้านบาท ส่งผลให้ ณ สิ้นเดือนธ.ค.2562 ธนาคารมีกำไรสุทธิ 507 ล้านบาท มีอัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพ (NPLs Ratio) อยู่ที่ 4.60% หรือจำนวน 5,606 ล้านบาท และมีเงินสำรองหนี้สงสัยจะสูญจำนวน 11,171 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1,787 ล้านบาทเมื่อเทียบกับปีก่อน เป็นสำรองหนี้พึงกันตามเกณฑ์ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)จำนวน 7,804 ล้านบาท

นายพิศิษฐ์ กล่าวว่า งานด้านประกันการส่งออกและการลงทุนของในปี 2562 มีปริมาณธุรกิจสะสมเท่ากับ 121,372 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 28,924 ล้านบาทเมื่อเทียบกับปีก่อน นอกจากนี้ธนาคารมีวงเงินที่ให้การสนับสนุนแก่สินเชื่อโครงการระหว่างประเทศรวมทั้งสิ้น 92,367 ล้านบาท โดยเป็นสินเชื่อคงค้างจำนวน 47,454 ล้านบาท รวมทั้งสนับสนุนให้ผู้ประกอบการไทยขยายฐานการค้าและการลงทุนไปยังกลุ่มประเทศ CLMV(กัมพูชา ลาว พม่า และเวียดนาม) ซึ่งมีการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2562 ผู้ประกอบการไทยมีสินเชื่อคงค้าง 30,774 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1,333 ล้านบาทเมื่อเทียบกับปีก่อน

“นอกจากนี้ธนาคารอยู่ระหว่างเตรียมการเปิดสำนักงานตัวแทนของธนาคาร ในประเทศเวียดนาม หลังจากเปิดให้บริการสำนักงานผู้แทนในย่างกุ้ง ในประเทศเมียนมาร์ เวียงจันทน์ ประเทศลาวและพนมเปญ ประเทศกัมพูชา แล้ว โดยคาดว่าสาขาที่เวียดนามจะเปิดให้บริการได้ภายในปีนี้”นายพิศิษฐ์ กล่าว