‘อนุทิน’ คำขาด ‘ห้าม’ ผู้โดยสารจาก ‘เรือเวสเตอร์ดัม’ เข้าไทย สายการบินใดไม่ทำตามส่งบิลเก็บค่าใช้จ่าย

เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการ สธ.ให้สัมภาษณ์ว่า ขณะนี้ได้แจ้งรายชื่อผู้โดยสารบนเรือเวสเตอร์ดัมให้กับสายการบินที่มีเที่ยวบินจากประเทศกัมพูชามายังประเทศไทยแล้ว อาทิ สายการบินไทยแอร์เวย์ แอร์เอเชีย บางกอกแอร์ สายการบินของประเทศกัมพูชา ฯลฯ ที่บินตรงมาจากสนามบินหลักของประเทศกัมพูชา เช่น สนามบินพนมเปญ สนามบินเสียมเรียบ เป็นต้น จึงได้ขอความร่วมมือจากสายการบินไม่ให้ออกบอร์ดดิ้งพาร์ทให้แก่ผู้ที่มีรายชื่อเป็นผู้โดยสารจากเรือเวสเตอร์ดัม จนกว่าจะพ้นระยะการเฝ้าระวังโรค 14 วัน โดยเริ่มนับวันที่ 1 ตั้งแต่วันที่ 14 กุมภาพันธ์เป็นต้นไป จนครบกำหนด ส่วนคนไทยในเรือมีสิทธิ์กลับแต่เมื่อกลับมาแล้วจะต้องอยู่ในความดูแลของแพทย์ในการกักโรค 14 วัน

นายอนุทินกล่าวว่า ล่าสุด นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค ได้ทำการร่างหนังสือแนวปฏิบัติเพื่อขอความร่วมมือสายการบินแล้ว หากสายการบินไม่ปฏิบัติตามหรืออนุญาตให้ขึ้นเครื่องเดินทางมาก็จะต้องรับผิดชอบเอง เนื่องจากประเทศไทยไม่อนุญาตให้ผู้ที่มีรายชื่อในเรือเวสเตอร์ดัมเข้าเมือง รวมถึงการต่อหรือเปลี่ยนเครื่องในประเทศไทยด้วย เพราะว่าในกรณีการเดินทางมาด้วยเครื่องบิน ก็จะต้องเดินทางพร้อมกับผู้โดยสารคนอื่นๆ ซึ่งจะทำให้ต้องเฝ้าระวังมากยิ่งขึ้น ดังนั้น ผู้โดยสารที่อยู่บนเรือเวสเตอร์ดัมห้ามเดินทางมายังประเทศไทย จนกว่าจะครบ 14 วัน

“ถ้าเขาให้ขึ้นมา แต่เราไม่ให้เข้าเมือง สายการบินก็ต้องรับผิดชอบคนๆ นั้น เพราะเราไม่ให้เข้าเมือง สายการบินก็จะต้องรับผิดชอบ จ่ายค่าโรงแรม ค่าอาหาร ค่าที่พัก และต้องถูกกักกันโรค และถ้าไม่ทำตามเรา เราต้องมารักษา หากคนนั้นติดเชื้อขึ้นมาแล้วต้องรักษา เราส่งบิลเก็บนะ ไม่ได้รักษาให้ฟรี เพราะถือว่าไม่ทำตามแนวทางที่เราตั้งเอาไว้ เพราะถ้าเกิดเข้ามาในเครื่องแล้วมีเชื้อไวรัส เราต้องไปกักคนกี่คน ถ้าต้องเป็นผู้โดยสารทุกคนในเครื่อง เราไม่มีกำลังความสามารถพอ แต่ถ้ายอมอย่างงั้น เราก็ให้เรือเข้ามาง่ายกว่า เราอุตส่าห์ไม่ให้เรือเข้า แล้วเขาก็ไปที่อื่นแล้ว แต่ดันไปปรากฎว่าเรือนี้มีเชื้ออีก ถ้าเราให้ผู้โดยสารมาได้มันก็ไม่ใช่แล้ว ตอนนี้เรือนี้ถือว่าเป็นของเสียอยู่ เราให้คนในเรือเข้าเมืองไม่ได้” นายอนุทินกล่าว