EXIM BANK ชี้ พิษไวรัส-ภัยแล้งฉุดส่งออกติดลบหนัก 2-3% จ่อหั่นเป้าสินเชื่อปี 63 โตไม่ถึง 7-8%

EXIM BANK จ่อทบทวนสินเชื่อปี 63 หดตัวจากเป้าเดิมมอง 7-8% หลังประเมินการส่งออกติดลบลึก 2-3% เหตุไวรัสโควิด-19-ภัยแล้ง-สงครามการค้ากระทบหนัก รับสัญญาณหนี้เอ็นพีแอลเพิ่มจากปี 62 อยู่ที่ 4.6% ชี้ เน้นช่วยประคองให้อยู่รอด-เสริมสภาพคล่อง เผยผลงานปี 62 เติบโตแกร่งมีกำไรสุทธิ 507 ล้านบาท ยอดสินเชื่อคงค้าง 1.21 แสนล้านบาท สูงสุดตั้งแต่ดำเนินงานมา

นายพิศิษฐ์ เสรีวิวัฒนา กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) เปิดเผยว่า ตอนนี้ธนาคารอยู่ระหว่างปรับแผนการดำเนินธุรกิจในปี 2563 จากเดิมตั้งเป้าเติบโตสินเชื่อเฉลี่ยอยู่ที่ 7-8% ต่อปี เนื่องจากมีปัจจัยความเสี่ยงมากขึ้น ทั้งไวรัส Covid-19 ภัยแล้ง และสงครามการค้าที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง ส่งผลให้ปีนี้ถือเป็นปีที่ท้าทายในการปล่อยสินเชื่อใหม่ ขณะเดียวกัน ธนาคารประเมินการส่งออกปีนี้เดิมอยู่ที่ ติดลบ 2-0% แต่คาดว่ากรณีที่สถานการณ์ดีขึ้นจะอยู่ที่ 0% และกรณีเลวร้ายอยู่ที่ ติดลบ 2-3%

ดังนั้น แผนในปีนี้ธนาคารจะเน้นช่วยเหลือผู้ประกอบการให้สามารถมีกระแสเงินสด (Cash Flow) อยู่รอดภายใต้สถานการณ์ความไม่แน่นอนมากกว่าเน้นการเติบโตสินเชื่อ โดยธนาคารจึงวางแผนสำรองในการช่วยเหลือลูกค้า เนื่องจากธนาคารเห็นสัญญาณลูกค้าเริ่มสะดุดตั้งแต่ปีก่อน จึงออกมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการที่มียอดขายลดลง 15% สามารถมาขอสินเชื่อเสริมสภาพคล่องและยืดอายุหนี้ 6 เดือน โดยลูกค้าที่มีปัญหาสามารถขอคำแนะนำจาก AO ซึ่งจะพิจารณาเป็นรายกรณี

และจากปัจจัยความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้น ธนาคารเห็นสัญญาณหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ทยอยเพิ่มขึ้นนับตั้งแต่ปี 2561 ต่อเนื่องมาถึง 2562 โดยอยู่ที่ระดับ 4.6% หรือคิดเป็นสินเชื่อด้อยคุณภาพจำนวน 5,606 ล้านบาท และคาดว่าจะในปี 2563 แนวโน้มเอ็นพีแอลจะยังคงเร่งตัวได้อีก ซึ่งธนาคารได้ตั้งคณะทำงานเพื่อดูแลลูกค้าที่มีปัญหา

“ธนาคารอยู่ระหว่างวิเคราะห์ว่าไวรัสจะรุนแรงแค่ไหน ซึ่งจากเดิมคาดว่าจะกระทบระยะสั้น แต่ปัจจุบันขยายวงกว้าง ทำให้เป็นปัจจัยความเสี่ยงช่วงสั้นที่มีความรุนแรง โดยปีนี้เราเป็นปีที่ท้าทายอย่างมากต่อผู้ประกอบการ ซึ่งเราต้องการช่วยลูกค้าให้อยู่รอด ยืดอายุหนี้ให้ลูกค้าหายใจได้ และมีโอกาสไปต่อได้”

นายพิศิษฐ์ กล่าวว่า สำหรับผลดำเนินงานปี 2562 ธนาคารฯ มีสินเชื่อคงค้าง 121,868 ล้านบาท สูงสุดตั้งแต่ดำเนินงานมา โดยเพิ่มขึ้น 13,279 ล้านบาท หรือ 12.23% เมื่อเทียบกับปีก่อน แบ่งเป็นสินเชื่อเพื่อการค้า 38,900 ล้านบาท และสินเชื่อเพื่อการลงทุน 82,968 ล้านบาท ทำให้เกิดปริมาณธุรกิจ 197,106 ล้านบาท ซึ่งจำนวนนี้เป็นปริมาณธุรกิจของ SMEs เท่ากับ 106,749 ล้านบาท คิดเป็น 54.16% โดยสินเชื่อคงค้าง SMEs เท่ากับ 43,123 ล้านบาท

และธนาคารฯ มีกำไรสุทธิ 507 ล้านบาท ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2562 มีเงินสำรองหนี้สงสัยจะสูญจำนวน 11,171 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1,787 ล้านบาทเมื่อเทียบกับปีก่อน เป็นสำรองหนี้พึงกันตามเกณฑ์ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จำนวน 7,804 ล้านบาท คิดเป็นอัตราส่วนเงินสำรองที่กันไว้ แล้วต่อสำรองพึงกัน 143.15%

ส่วนการดำเนินงานด้านการประกันการส่งออกและการลงทุนในปี 2562 มีปริมาณธุรกิจสะสมเท่ากับ 121,372 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 28,924 ล้านบาทเมื่อเทียบกับปีก่อน โดยเป็นปรมาณธุรกิจของ SMEs จำนวน 22,592 ล้านบาท หรือ 18.61% ของปรมาณธุรกิจสะสม

ทั้งนี้ การสนับสนุนผู้ประกอบการไทยขยายฐานการค้าและการลงทุนไปยังต่างประเทศในปี 2562 ธนาคารฯ มีวงเงินที่ให้การสนับสนุนแก่สินเชื่อโครงการระหว่างประเทศรวม 92,367 ล้านบาท โดยเป็นสินเชื่อคงค้าง 47,454 ล้านบาท รวมทั้งสนับสนุนผู้ประกอบการไทยขยายฐานการค้าและการลงทุนไปยังกลุ่มประเทศ CLMV ซึ่งในปี 2562 ผู้ประกอบการไทยมีสินเชื่อคงค้าง 30,774 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1,333 ล้านบาทเมื่อเทียบกับปีก่อน