‘สศช.’ หั่นเป้าจีดีพีปี 63 โต 1.5% หลังตัวเลขปี 62 โต 2.4% ต่ำสุดรอบ 5 ปี

นายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยว่า ประมาณการตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวม (จีดีพี) ไทยในปี 2563 คาดว่าจะโตเหลือ 1.5-2.5% จากเดิมคาดว่าจะโตที่ 2.7-3.7% เพราะมีความเสี่ยงหลักคือ การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 (โควิด-19) ปัญหาภัยแล้ง ที่ยังมีความไม่แน่นอนในส่วนของปริมาณน้ำฝนที่จะตกลงมามากหรือน้อยเท่าใด รวมถึงความล่าช้าของการเบิกจ่ายงบประมาณประจำปี 2563 ด้วย อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยในปีนี้ ยังคงได้รับปัจจัยสนับสนุนจาก 1.การปรับตัวดีขึ้นของเศรษฐกิจและการค้าโลก ตามแรงกดดันที่ลดลงหลังสหรัฐและจีน สามารถลงนามในข้อตกลงการค้า เฟส 1 และสถานการณ์การถอนตัวออกจากยุโรปของอังกฤษ (เบร็กซิท) ที่ชัดเจนขึ้น 2.การขยายตัวในเกณฑ์ที่น่าพอใจของการใช้จ่ายภาคเอกชนในประเทศและภาครัฐ 3.แรงขับเคลื่อนจากมาตรการภาครัฐ และ 4.ฐานการขยายตัวที่ต่ำในไตรมาส 4 ปี 2562 น่าจะช่วยสนับสนุนตัวเลขการเติบโตของเศรษฐกิจในช่วงสิ้นปี 2563 ได้

นายทศพรกล่าวว่าสำหรับเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 4 ของปี 2562 โตที่ 1.6% ลดลงจากไตรมาส 3 ปี 2562 ที่โตได้2.6% ซึ่งถือเป็นการโตต่ำสุดในรอบ 21 ไตรมาส ที่ผ่านมา โดยรวมทั้งปี 2562 เศรษฐกิจไทยโตได้ที่ 2.4% ลดลงจากเดิมที่คาดว่าจะโต 2.6% จากปี 2561 ที่โตกว่า 4.2% ซึ่งถือเป็นตัวเลขการเติบโตที่ต่ำสุดในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา สาเหตุมาจากผลกระทบของทั้งปัจจัยภายในและภายนอก ได้แก่ สงครามการค้า (เทรดวอร์) ระหว่างสหรัฐและจีน ที่ส่งผลกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจโลก และส่งต่อมายังภาคการส่งออกโตลดลง จนกระทบกับภาวะเศรษฐกิจไทย ส่วนปัจจัยในประเทศเป็นเรื่องความล่าช้าของงบประมาณประจำปี 2563 ที่ยังไม่สามารถเบิกจ่ายได้ ค่าเงินบาทที่แข็งค่าอย่างต่อเนื่อง รวมถึงปัญหาภัยแล้งที่ส่งผลกระทบต่อภาคการเกษตรด้วย

ภาคใช้จ่ายชะลอตัวลง ทั้งการใช้จ่ายในด้านการบริโภคและการลงทุน โดยการบริโภคแผ่วลงเพียงเล็กน้อย เพราะได้รับแรงหนุนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ อาทิ ชิมช้อปใช้ ส่วนการลงทุนที่ชะลอลงมาก เป็นผลมาจากการใช้จ่ายของภาครัฐที่หดตัวสูงขึ้น ทั้งหมวดก่อสร้าง และหมวดเครื่องมือเครื่องจักร ซึ่งมีสาเหตุหลักจากความล่าช้าของร่างงบประมาณปี 2563”นายทศพรกล่าว