‘ทวี’ แซะ รถประจำตำแหน่ง ครม. ตอกย้ำความเหลื่อมล้ำสังคมไทย

ทวี แซะ รถประจำตำแหน่ง ครม. ตอกย้ำความเหลื่อมล้ำสังคมไทย
วันที่ 16 ก.พ. พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคประชาชาติ ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กระบุว่า งบประมาณ ปี 63 ที่เพิ่งผ่าน 3 วาระ หลังจากต้องนำมาเข้ามาโหวตใหม่ตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งการจัดสรรงบประมาณ 63 เรียกว่ามีความเหลื่อมล้ำแบ่งแยกชนชั้นระหว่างรัฐ กับประชาชน จึงขอนำประเด็นของ อาจารย์ จิระพันธ์ เดมะ คณบดีคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยฟาฎอนี ที่โพสต์เฟซบุ๊กเมื่อหลายวันที่ผ่านมา ที่ ว่า

“นักเศรษฐศาสตร์อาจารย์แห่งมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งของสวีเดน พื้นเพเดิมชาวปัตตานี เดินทางกลับเยี่ยมบ้านหลังจากจากบ้านไปอยู่สวีเดน ร่วม 30 กว่าปี ทันทีที่ลงสนามบินสุวรรณภูมิ ต่อบินลงสนามบินหาดใหญ่ นั่งรถกลับปัตตานี ในวงสนทนาท่านพูดว่า ไม่สงสัยเลยว่าทำไมประเทศไทยไม่เจริญ สาธารณูปโภค ขนส่งสาธารณะ โรงพยาบาลไม่ค่อยดี เมื่อเทียบกับกลุ่มประเทศแสกนดิเนเวีย

ท่านได้คำตอบจากที่ได้เห็นรถประจำตำแหน่ง รถราชการมากมาย คอยรับบรรดาหัวหน้าหน่วยราชการที่สนามบิน เห็นสถานที่ราชการใหญ่โตหรูหรา ก็เพราะ ครม.ได้ใช้ภาษีลงทุนไปยังภาครัฐ มากกว่าการทุ่มงบประมาณไปยังสวัสดิการของประชาชน เช่น โครงถนนหนทาง โรงพยาบาล และสวัสดิการประชาชน เป็นหลักคิดสำคัญของแต่ละรัฐบาลว่า จะใช้เงินงบประมาณของประเทศไปให้อะไรมากกว่า ระหว่างราชการกับประชาชน

ในกลุ่มประเทศแสกนดิเนเวียเขาทุ่มให้กับประชาชนมากกว่าภาคราชการ เช่น สาธารณูปโภค สวัสดิการ การเรียนฟรี รักษาพยาบาลฟรี จัดที่อยู่อาศัยในราคาถูก เน้นให้ทุกคนมีสิทธิที่พึงมีพึงได้ในฐานะความเป็นมนุษย์ และประชาชนของชาติ เป็นต้น ผมถามว่า นายกฯสวีเดนใช้รถอะไรไปทำงาน ท่านบอกว่า ส่วนใหญ่ใช้รถสาธารณะ (รถเมล์, รถไฟฟ้า) ไปไหนมาไหนมีรถนำไหม ท่านบอกว่า ที่สวีเดนเน้นเคารพสิทธิและความเท่าเทียมกัน จะไม่รบกวนสาธารณะ ถ้ามีก็เล็กมาก ก็เป็นอีกหลักคิดหนึ่งในการบริหารประเทศ”

จากโพสต์ของอาจารย์จิระพันธ์ เป็นประเด็นและมุมมองที่ดีมากครับ โดยส่วนตัวเห็นว่าการที่ รัฐมนตรี นักการเมืองและข้าราชการในประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างประเทศสวีเดนพยายามที่จะทำตัวให้เรียบง่ายเหมือนพลเมืองทั่วไปที่สุด พวกเค้าไม่ต้องการมีอภิสิทธิ์เหนือคนทั่วไป ส่วนในประเทศไทยที่ต้องการก้าวไปสู่การเป็นประเทศที่พัฒนาในระยะเวลาอันใกล้นี้ แต่ระบบราชการได้สถาปนาให้รวมศูนย์ไว้ส่วนกลาง อำนาจรวมอยู่กับรัฐมนตรีและผู้บริหารมากยิ่งขึ้น รวมถึงสวัสดิการที่เป็นรถยนต์พาหนะด้วย จึงไม่สอดคล้องกับการเป็นประเทศที่พัฒนาที่ให้ความสำคัญเรื่องการกระจายอำนาจเป็นสำคัญ!!!

ตัวอย่างเช่น เมื่อเราพิจารณาการจัดสรรงบประมาณให้องค์กรรัฐในกรณี “การเช่ารถ และรถประจำตำแหน่ง “ ที่หน่วยงานนิยมเช่ารถต่อเนื่องมากนานนั้น ส่วนรถประจำตำแหน่งคือผู้บริหารที่ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีในคณะรัฐมนตรี และข้าราชการรัฐผู้ดำรงตำแหน่งระดับรองอธิบดี อธิบดี รองปลัดกระทรวง และปลัดกระทรวงหรือเทียบเท่า รวมไปถึงข้าราชการทหาร ตำรวจ อัยการ ผู้พิพากษา ตุลาการ องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญฯ ซึ่งมีอัตราเป็นเงิน ดังนี้ :

– รถยนต์ประจำตำแหน่งของรองอธิบดีหรือเทียบเท่า (ปริมาณกระบอกสูบไม่เกิน 2,000 ซีซี) มีค่าเช่าไม่เกิน 26,100 บาท ต่อเดือน
– รถยนต์ประจำตำแหน่งของอธิบดี รองปลัดกระทรวงหรือเทียบเท่า (ปริมาณกระบอกสูบ 2,000-2,400 ซีซี) มีค่าเช่าไม่เกิน 35,280 บาท ต่อเดือน
– รถยนต์ประจำตำแหน่งของปลัดกระทรวงหรือเทียบเท่า (ปริมาณกระบอกสูบ 2,000-2,400 ซีซี) มีค่าเช่าไม่เกิน 53,640 บาท ต่อเดือน
– รถยนต์ประจำตำแหน่งของรัฐมนตรีหรือเทียบเท่า (ปริมาณกระบอกสูบไม่เกิน 3,000 ซีซี) มีค่าเช่าไม่เกิน 76,500 บาท ต่อเดือน
– รถยนต์ประจำตำแหน่งของรองนายกรัฐมนตรีหรือเทียบเท่า (ปริมาณกระบอกสูบ ไม่เกิน 3,000 ซีซี) มีค่าเช่าไม่เกิน 90,360 บาท ต่อเดือน

จากข้อมูลในงบประมาณปี พ.ศ.2563 (คำนวณเฉพาะบางหน่วยงาน ไม่ได้คำนวณครบทุกหน่วยงาน) พบว่ามีการใช้งบประมาณแผ่นดินในการจัดหารถประจำตำแหน่ง และงบประมาณตอบแทนเหมาจ่ายแทนการจัดหารถประจำตำแหน่ง รวมไปถึงค่าใช้จ่ายในการเช่ารถอื่น ๆ รวมเป็นเงินจำนวนไม่ต่ำกว่า 5,493,079,000 บาท

ควรมีการศึกษาวิจัยว่าจะดำเนินการมีต่อไปหรือไม่ ? เมื่อสถานการณ์บ้านเมืองได้เปลี่ยนไปมากจำเป็นต้องมีการปฏิรูปซึ่งอาจเปลี่ยนแปลงเป็นเงินเดือนหรือสวัสดิการอื่นที่เหมาะสมแทนอย่างไร และถึงเวลาที่จะต้องกระจายอำนาจและงบประมาณอย่างจริงจัง มุ่งสนับสนุนการจัดสรรงบประมาณแก้ปัญหาความเหลื่อล้ำและจำเป็นต้องนำไปสู่ระบบรัฐสวัสดิการ เช่น การศึกษาฟรีมีคุณภาพ การรักษาพยาบาลที่ดี ระบบน้ำเพื่อการเกษตรและบริโภคหรือระบบขนส่งมวลชนในต่างจังหวัดหรือชนบท เป็นต้น

รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ได้สร้างความเหลื่อมล้ำที่ทำให้โครงสร้างอำนาจของรัฐ (รวมถึงองค์กรตามรัฐธรรมนูญ) มีอำนาจเหนือประชาชน ที่แบ่งแยกตามชนชั้นการจัดสรรงบประมาณในลักษณะที่เป็นการเอื้อประโยชน์แก่กลุ่มคนแค่หยิบมือเดียวเพียงหวังให้โครงสร้างราชการมีอำนาจสูงสุดเพื่อค้ำจุนรัฐบาลนั้น ได้ทำให้เกิดความเหลือมล้ำอย่างสุดขั้วติดตามมา

การจะแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ความยากจน ความไม่เป็นธรรมในสังคม และความยากลำบากของชีวิตประชาชน หรือของข้าราชการด้วยกันที่เป็นชั้นผู้น้อย ที่หวังพึ่งงบประมาณจึงเป็นเรื่องยาก

สิ่งที่นักวิชาการ ผู้ทรงคุณวุฒิ และภาคประชาชนพยายามผลัดดันและเรียกร้องการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคมที่ประเทศไทยอยู่ในขั้นวิกฤติและเหลื่อมล้ำมากที่สุดในโลกขณะนี้ ด้วยระบบสวัสดิการถ้วนหน้าหรือรัฐสวัสดิการ ดังเช่นกลุ่มประเทศประชาธิปไตยในยุโรปประสบความสำเร็จ ที่รัฐต้องจัดให้ประชาชนอย่างเสมอหน้า ด้วย “สิทธิที่เสมอกัน” ไม่ว่ายากดีมีจน ภายใต้หลักการที่ว่า

สวัสดิการเป็น “สิทธิ” อันพึงมีของประชาชนมิใช่เพียงแค่ “หน้าที่” ของรัฐในการสงเคราะห์คนอนาถา

โครงสร้างการจัดสรรงบประมาณแผ่นดิน พ.ศ.2563 เป็นการสะท้อนถึงรัฐบาล ให้ความสำคัญ ความมั่นคงของรัฐบาลอยู่เหนือความมั่นคงของประชาชน ซึ่งผิดไปจากหลักการประชาธิปไตยที่ “ประชาชนดำรงอยู่ มิใช่เพื่อรับใช้รัฐบาล แต่รัฐบาลต่างหากที่ดำรงอยู่เพื่อรับใช้ประชาชน” การที่รัฐบาลไม่อยู่ข้างประชาชนจึงยากที่จะเห็นความอยู่ดีมีสุขของประชาชนเกิดขึ้นในประเทศได้

ที่มา

https://www.facebook.com/2631268303555462/posts/3384671268215158/?d=n