‘ชวน’ เตือนผู้บริหาร อย่าเกรงใจทำตามคำสั่งที่ผิดกม. ชี้ทำรมต.-บิ๊กขรก.ติดคุกมาแล้ว

เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ ที่สถาบันพระปกเกล้า นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวบรรยายให้กับนักศึกษาหลักสูตรประกาศนียบัตรชั้นสูงการบริหารงานภาครัฐและกฎหมายมหาชน สถาบันพระปกเกล้า ในหัวข้อ “ความรับผิดทางกฎหมายอันเกิดจากการบริหาร : ความรับผิดทางการเมือง” ตอนหนึ่งว่า หลักการบริหารที่ดีต้องมีธรรมาภิบาล 6 ข้อ ได้แก่ 1.หลักนิติธรรม 2.หลักความซื่อสัตย์สุจริต 3.หลักความโปร่งใส 4.หลักความรับผิดชอบตรวจสอบได้ 5.หลักการมีส่วนร่วม และ 6.หลักความคุ้มค่า ตนมองว่าควรมีหลักธรรมาภิบาล ข้อที่ 7 คือ หลักไม่เกรงใจ ไม่ยอมทำในสิ่งที่ไม่ควรทำ ยอมรับคำสั่งการของผู้บริหารมาปฏิบัติ จนทำให้เกิดภัยกับตนเอง เพราะคนที่สั่งการไม่มีใครได้รับผิด แต่คนที่ทำตามคำสั่งที่ไม่ถูกต้อง ทั้งข้าราชการ เป็นฝ่ายที่ต้องรับผิดแทน ซึ่งการไม่ยอมหรือไม่เกรงใจต้องยึดมั่นทั้งภาครัฐและเอกชน ทั้งนี้ในการเมืองตามระบบประชาธิปไตยใช้การตรวจสอบถ่วงดุล ส.ส.มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ส่วนนายกรัฐมนตรีของไทยมาจากเสียงข้างมากในสภาฯ ทำให้มีกลไกตรวจสอบถ่วงดุลทั้งการอภิปรายฝ่ายบริหาร ขณะที่ฝ่ายบริหารมีอำนาจถ่วงดุลสภาฯ ผ่านการประกาศยุบสภา เป็นต้น

“วันที่ 24 กุมภาพันธ์ สภาฯจะมีการอภิปรายไม่ไว้วางใจ เป็นบทบาทของฝ่ายนิติบัญญัติมีสิทธิตรวจสอบฝ่ายบริหาร ทั้งกระทู้ถาม เสนอญัตติ และหนักสุดคือ ไม่ไว้วางใจ กฎหมายระบุว่าเมื่อเสนอญัตติแล้ว รัฐบาลไม่มีสิทธิยุบสภา และการทำหน้าที่ของฝ่ายบริหาร หรือ การตรวจสอบของสภาฯ ไม่มีสิทธิชี้ความผิดของการบริหาร เพราะเป็นหน้าที่ของฝ่ายตุลาการ ตามหลักการแบ่งแยกอำนาจ ก่อนหน้านี้เคยมีข้อเสนอให้สภาฯ สรรหาหรือแต่งตั้งฝ่ายตุลาการ แม้เป็นความหวังดี แต่วัฒนธรรมการเมืองของไทยไม่เหมือนประเทศอื่น ผมมองว่าบทบาทของศาลมีส่วนช่วยประคับประคองบ้านเมืองหลายเรื่อง ไม่ยอมรับการวิ่งเต้น เช่น กรณีการยุบพรรคการเมือง ที่ผ่านมาเคยมีคนในกระบวนการยุติธรรมเกรงใจ ทำให้ต้องติดคุก ดังนั้นการคัดตัวบุคคลให้ทำหน้าที่ดังกล่าวจึงสำคัญอย่างยิ่ง” นายชวน กล่าว

นายชวน กล่าวด้วยว่า ปัญหาของการรับผิดชอบฝ่ายบริหารเกิดจากเข้ารับหน้าที่และมีกฎหมายควบคุมฝ่ายบริหารให้ทำหน้าที่ หากละเมิดต้องรับผิดชอบ เช่น ประมวลกฎหมายเพ่งและพาณิชย์, กฎหมายว่าด้วยการรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 ,ประมวลกฎหมายอาญา โดยเฉพาะมาตรา 157 ที่ทำให้ฝ่ายบริหารระดับสูงของรัฐบาลติดคุก ที่ผ่านมามีอดีตนักการเมือง ระดับรัฐมนตรี ข้าราชการระดับสูง กระทำผิด และถูกลงโทษติดคุกหลายปี เหตุผลส่วนหนึ่งเพราะความเกรงใจ ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย อย่างไรก็ตามตนมองว่าปัญหาทุจริต คอร์รัปชั่นยังมีทุกวงการ จึงต้องขอความร่วมมือทุกฝ่ายอย่ายอมทำในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ผิดกฎหมาย ด้วยการเกรงใจเจ้านายหรือรุ่นพี่ รวมถึงฝ่ายการเมือง ความรับผิดชอบทางการเมือง แม้ไม่ใช่ความผิดทางกฎหมาย แต่คือความรับผิดชอบหลังจากมีเหตุการณ์ร้ายแรงเกิดขึ้นด้วย ซึ่งต้องพิจารณาด้วยว่าสิ่งที่จะต้องรับผิดชอบนั้นเป็นหน้าที่โดยตรงหรือไม่ และนอกจากการปฏิบัติที่ต้องรับผิดชอบแล้ว ต้องรับผิดชอบกับคำพูดด้วย

นายชวน กล่าวอีกว่า ส่วนกรณีสังคมวิจารณ์ เรื่องการกดดบัตรแทนกัน อย่างกรณีที่พบว่ากดบัตรแทนกัน เพราะคนมีสิทธิ ไม่สะดวกกดบัตรเอง แต่ยืนอยู่ใกล้ๆ ให้เพื่อนส.ส.กดให้ ถือว่าไม่มีเจตนา แต่เป็นเรื่องที่ไม่ควรมองเป็นเรื่องเล็ก ต้องมีความรับผิดชอบทางการเมือง แม้จะไม่ใช่เรื่องที่ผิดกฎหมาย แต่ต้องมองถึงคุณธรรม จริยธรรม ที่ต้องมีความรับผิดชอบทางการเมืองด้วยเช่นกัน