“จตุพร”ชี้สอบปมเสียบบัตรแทนกัน อาจเหลว-ถูกยื้อเวลา เพราะปธ.กมธ.ยี่ห้อพปชร.คุม

“จตุพร” เงิบ ตั้ง กมธ.ที่มี ส.ส.พปชร.เป็นประธาน เข้าไปตรวจสอบปมเสียบบัตรแทนกัน เชื่อ ไม่สำเร็จและอาจจะถูกยื้อเวลา

เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) กล่าวในรายการหยิบข่าวมาคุย ทางสถานีโทรทัศน์ดาวเทียมพีซทีวีต่อกรณีส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลเสียบบัตรแทนกันในการลงมติร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2563 ว่า กระบวนการหลังจากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยนั้นศาลไม่ได้วินิจฉัยเรื่องบุคคล วินิจฉัยเพียงแค่กฎหมายจะมีผลอย่างไรดังนั้นตัวบุคคลจะเป็นเรื่องของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ซึ่งขณะนี้ก็มีคนส่งเรื่องไปยังป.ป.ช.แล้ว ในส่วนของสภาผู้แทนราษฎรนั้น ทางเจ้าหน้าที่สภาก็ประกาศแล้วว่า ไม่กล้าไปตรวจสอบส.ส.ที่เป็นต้นเรื่องซึ่งสังกัดพรรคการเมืองฝ่ายรัฐบาลเพราะเกรงกลัวอิทธิพล ดังนั้น นายชวน หลีกภัยประธานสภาผู้แทนราษฎร จึงมอบหมายให้คณะกรรมาธิการ (กมธ.) สามัญกิจการสภาผู้แทนราษฎรไปดำเนินการ แต่ประธานกมธ. กิจการสภาผู้แทนราษฎร ก็เป็น ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ และคนกดบัตรแทน มีทั้งส.ส. พรรคภูมิใจไทย (ภท.) และพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ซึ่งเป็นพรรคร่วมรัฐบาล แล้วจะตรวจสอบกันได้อย่างไร

ดังนั้น เมื่อเรื่องนี้เข้าสู่การพิจารณาในชั้นป.ป.ช.แล้ว ก็ควรปล่อยให้เป็นหน้าที่ของป.ป.ช.พร้อมทั้งยกตัวอย่างตัวเองตอนเป็นส.ส.ซึ่งขณะนั้นก็มีการชุมนุมกัน ตนก็ลาการประชุมทุกครั้ง โดยให้เหตุผลว่าไปชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตย ซึ่งประธานสภาก็เซ็นอนุญาตถูกต้องเรียบร้อย แต่ก็มีคนไปร้องเรียนต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน จนมีการตั้งคณะกรรมการเข้ามาตรวจสอบสุดท้ายก็ไม่ขัดต่อหลักจริยธรรม แต่กรณีการเสียบบัตรแทนกันนั้นเป็นการเอาเปรียบสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรรวมถึงเป็นการเอาเปรียบประชาชนและเป็นการทรยศต่อประชาชนในเรื่องความไว้เนื้อเชื่อใจในการเข้ามาทำหน้าที่แทนประชาชน ดังนั้น การที่ ประธานสภาผู้แทนราษฎรสั่งให้กมธ.เข้าไปตรวจสอบในเรื่องดังกล่าวนั้นตนเชื่อว่าไม่สำเร็จ และอาจจะถูกยื้อเวลาออกไปแรมปี จนนำไปสู่ภาวะวิกฤตศรัทธาของสภาผู้แทนราษฎร ดังนั้นสิ่งที่ควรทำคือ การทำให้กรณีนี้เป็นแบบอย่างของจริยธรรมทางการเมือง โดยให้ส.ส.หยุดปฏิบัติหน้าที่ในกรณีที่ ป.ป.ช.รับคำร้องหรือชี้มูลในเบื้องต้นแล้ว และป.ป.ช.ต้องดำเนินการโดยเร็ว

นายจตุพร กล่าวถึง กรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญนัดอ่านคำวินิจฉัยกรณียุบพรรคอนาคตใหม่ (อนค.) หรือไม่ในวันที่ 21 กุมภาพันธ์นี้ว่า นายปิยบุตร แสงกนกกุล ส.ส. บัญชีรายชื่อและเลขาธิการพรรคอนค. พยายามทำคำร้องส่งไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อขอให้มีการไต่สวนพยาน 17 ปาก แต่ศาลไม่รับคำร้องดังกล่าว เเละที่ผ่านมาในการยุบพรรคพลังประชาชน พรรคชาติไทย หรือพรรคมัชฌิมาธิปไตย ศาลตัดพยานออกทั้งหมดและอนุญาตให้พรรคไปแถลงการณ์ปิดคดีตอนเช้า ตกบ่ายศาลตัดสินยุบพรรค ดังนั้น กรณีของพรรคอนค. การที่ศาลให้ทำบันทึกถ้อยคำพยานส่งให้ศาลภายในวันที่ 12 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมาและขยายให้ถึงวันที่ 17 กุมภาพันธ์ แต่ยังคงนัดอ่านคำพิพากษาในวันที่ 21 กุมภาพันธ์นี้ สะท้อนให้เห็นว่าเป็นการล็อกหัวล็อกท้ายไว้แล้ว ทำให้มีการวิพากษ์วิจารณ์ในกรณีดังกล่าวเป็น 2 กรณี ศาลรัฐธรรมนูญจำนวน 5 คน ซึ่งต้องพ้นวาระตามกำหนดแล้ว แต่ยัง ปฏิบัติหน้าที่อยู่ได้เพราะคำสั่งของคสช.เพื่อรอการสรรหาใหม่มาได้ 4 คน ส่วนกรณีที่ 2 คือก่อนวันอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลเพียง 3 วัน แทนที่พรรคอนาคตใหม่จะได้เตรียมตัว กลับต้องมาพะวงกับคดีการถูกยุบพรรค

นายจตุพร กล่าวถึงกรณีที่ผลโพลระบุประชาชนให้ความสนใจกับการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลในครั้งนี้ว่า สาเหตุที่คนไทยให้ความสนใจเป็นเพราะต้องการรู้ว่าที่ผ่านมากว่า 5 ปีโดยไม่มีการตรวจสอบการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาลนั้นเกิดอะไรขึ้นบ้าง

เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่