6 องค์กรวิชาชีพสื่อ เห็นพ้อง ลั่นยกระดับแนวทางการกำกับดูแล ถ้าละเมิดมาตรฐานจริยธรรม กสทช. ลงโทษตามกฎหมาย

เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ ตัวแทน 6 องค์กรวิชาชีพสื่อ ประกอบด้วย สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย, สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย, สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย, สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ, สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ และ สหภาพแรงงานกลางสื่อมวลชนไทย ประชุมร่วมกับ ดร.ธวัชชัย จิตรภาษ์นันท์ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และ กิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)

โดยที่ประชุมมีความเห็นและข้อเสนอแนะร่วมกันว่า ทั้งสองฝ่าย คือ กสทช. และ องค์กรวิชาชีพสื่อ “จะส่งเสริมยกระดับแนวทางการกำกับดูแลร่วม เพื่อแก้ปัญหาช่องว่างในการกำกับดูแลสื่อในภาวะวิกฤติฉุกเฉิน โดยจะมีการวางกรอบแนวทางการปฏิบัติของสื่อมวลชน และในระหว่างที่กรอบแนวทางการปฏิบัติยังไม่แล้วเสร็จ จะวิธีการสื่อสารประสานงานร่วมกันระหว่าง กสทช. และ องค์กรวิชาชีพสื่อในกรณีที่การทำหน้าที่ของสื่อมวลชนเกินกว่าการควบคุมส่งเสริมด้านจริยธรรมและจรรยาบรรณ ก็ต้องเป็นบทบาทหน้าที่ของ กสทช.ในการดำเนินการตามระเบียบข้อบังคับประกาศต่างๆ ของ กสทช. จากเบาไปหาหนัก”

โดย ดร.ธวัชชัย จิตรภาษ์นันท์ กล่าวว่า “ที่ประชุมเห็นตรงกันในการยกระดับแนวทางการกำกับดูแลร่วม เพื่อแก้ปัญหาช่องว่างในการกำกับดูแลในภาวะวิกฤติฉุกเฉิน”

นายพีระวัฒน์ โชติธรรมโม นายก สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ในฐานะตัวแทน 6 องค์กรวิชาชีพสื่อ กล่าวสรุปภายหลังการประชุมหารือร่วมกันว่า ผลการประชุมวันนี้ได้ข้อสรุปร่วมกันว่า จะมีการการกำกับดูแลร่วมกัน ระหว่าง องค์กรวิชาชีพสื่อ และ กสทช. โดยทั้ง 6 องค์กรวิชาชีพสื่อ จะทำงานร่วมกันในเชิงมาตรฐานด้านจริยธรรมการกำกับดูแลกันเอง ในสถานการณ์วิกฤติฉุกเฉินและสื่อเข้าไปทำหน้าที่ในการนำเสนอข่าว ต่อไปองค์กรวิชาชีพสื่อจะต้องมีการสื่อสารด้วยกันเพื่อประเมินสถานการณ์ร่วมกันถึงบทบาทหน้าที่การทำข่าวและการนำเสนอข่าวของสื่อมวลชน ถ้าสถานการณ์ยกระดับความเสี่ยงในเหตุการณ์และการนำเสนอข่าวและภาพข่าวที่ละเมิดจริยธรรมจรรยาบรรณในวิชาชีพสื่อมวลชน องค์กรวิชาชีพสื่อจะติดต่อประสานไปตามช่องทางต่างๆ เพื่อส่งข้อความถึงสมาชิกทั้งหมด รวมทั้ง ผู้ผู้อำนวยการฝ่ายข่าว บรรณาธิการบริหาร บรรณาธิการ โปรดิวเซอร์ข่าวและรายการข่าว ว่าให้ระมัดระวังในการนำเสนอข่าวไม่ละเมิดจริยธรรม จะต้องควบคุมอย่างเคร่งครัดระมัดระวัง ต่อจากนั้นองค์กรวิชาชีพสื่อจะส่งเรื่องต่อให้ทาง กสทช. ว่า องค์กรวิชาชีพสื่อได้ทำอะไรไปแล้วกับกรณีนั้น ณ เวลานั้น ซึ่งต่อไปเป็นหน้าที่ของ กสทช. ตามกฏหมายในฐานะองค์กรกำกับดูแล ที่จะมีมาตรการกลไกขั้นตอนต่างๆ ตามกฎหมายที่จะนำมาใช้กับกับเหตุการณ์นั้น