“อียู” ปิดประตูใส่กัมพูชา อ้าแขนต้อนรับเวียตนาม เซ็นข้อตกลง “เอฟทีเอ”

วันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2563 สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า สหภาพยุโรป(อียู) เปิดประตูการค้าให้กับเวียดนามมากขึ้นจากการที่อีกฝ่ายมีพัฒนาการในการปรับปรุงด้านสิทธิแรงงานในประเทศที่ดีขึ้น แต่กลับปิดประตูใส่กัมพูชา เหตุจากสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนในกัมพูชาที่ยังคงย่ำแย่ โดยเมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ สมาชิกสภานิติบัญญัติอียูผ่านความเห็นชอบในการทำข้อตกลงการค้าเสรีกับเวียดนาม ซึ่งจะเป็นผลให้อัตราภาษีศุลกากรสูงถึง 99 เปอร์เซ็นต์ ที่เรียกเก็บจากสินค้านำเข้าจากเวียดนามที่เข้าสู่ตลาดอียู จะถูกขจัดทิ้งไป ส่งผลให้เวียดนามเป็นชาติที่ 2 ในกลุ่มประเทศอาเซียน นอกเหนือจากสิงคโปร์ ที่ได้รับสิทธิพิเศษในข้อตกลงการค้าอันครอบคลุมนี้จากอียู

นายฟิล โฮแกน กรรมาธิการการค้าอียู กล่าวถึงกรณีอียูเห็นชอบทำข้อตกลงการค้าเสรีกับเวียดนามว่า เนื่องจากเวียดนามได้ดำเนินความพยายามอย่างเต็มที่ในการปรับปรุงสถานการณ์ด้านสิทธิแรงงาน และการเป็นหุ้นส่วนใหม่นี้จะเป็นการเพิ่มพูนศักยภาพของอียูในการส่งเสริมและเฝ้าสังเกตการณ์การปฏิรูปต่างๆ ต่อไป

ด้านนายจั่น ตวน อัน รัฐมนตรีอุตสาหกรรมและการค้าเวียดนาม กล่าวว่านี่เป็นเหตุการณ์อันสำคัญยิ่งในความสัมพันธ์ระหว่างกัน และว่า ข้อตกลงนี้ควรจะมีผลในเดือนกรกฎาคมที่จะถึง ซึ่งกลุ่มอุตสาหกรรมเสื้อผ้า รองเท้า และเฟอร์นิเจอร์ไม้ของเวียดนาม จะเป็นภาคการผลิตที่ได้รับประโยชน์อย่างสำคัญ

ในส่วนของกัมพูชานั้นจะถูกตัดสิทธิพิเศษทางการค้าลง 20 เปอร์เซ็นต์ ภายใต้โครงการ “Everything But Arms” (EBA) หรือการให้สิทธิพิเศษด้วยการยกเว้นภาษีนำเข้าและยกเลิกการกำหนดโควต้านำเข้าสินค้าทุกประเภท ยกเว้นอาวุธยุทโธปกรณ์ ซึ่งอียูมอบให้กับ 48 ประเทศที่ยากจนที่สุดในโลก โดยท่าทีนี้จะกระทบต่อสินค้าส่งออกของกัมพูชาไปยังตลาดอียู มีมูลค่าราว 100,000 ล้านยูโร (ราว 3.4 ล้านล้านบาท) ผู้บริหารของอียูชี้ว่าการตัดลดสิทธิพิเศษทางการค้านี้ต่อกัมพูชา เป็นผลจากการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงและอย่างเป็นระบบของรัฐบาลสมเด็จฯฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา

ด้านกระทรวงต่างประเทศกัมพูชาตอบโต้ทันทีว่ารู้สึกเสียใจกับการตัดสินใจที่ไม่เป็นธรรมนี้ซึ่งมีแรงจูงใจทางการเมือง และว่า อำนาจอธิปไตยของกัมพูชา เป็นสิ่งที่ไม่อาจนำมาเจรจาต่อรองเพื่อสิทธิพิเศษทางการค้าได้