สภาฯ ถกร่าง งบ 63 อีกรอบ ฝ่ายค้านลงชื่อองค์ประชุมให้ ก่อนวอล์กเอาต์

สภาฯ ถกร่าง งบ 63 อีกรอบ ฝ่ายค้าน วอล์กเอาต์ ทำประชุมป่วนตั้งแต่มาตรา 1 ‘ประธานชวน’ เน้นย้ำ ‘ห้ามเสียบบัตรแทนกัน’

เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร นัดพิเศษ ที่มีนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นประธานการประชุม เพื่อพิจารณาร่าง พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ในวาระ 2 และวาระ 3 ตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ

ทั้งนี้ก่อนเปิดการประชุมสภาฯ คณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) ได้มีการประชุมร่วมกันและมีมติออกมา 4 ข้อ ได้แก่ 1.ลงชื่อเข้าร่วมประชุม 2.ระหว่างประชุมสภาฯ ฝ่ายค้านจะไม่อยู่ร่วมในห้องประชุม ยกเว้น ส.ส.ที่ได้รับมอบหมายให้อภิปรายก่อนเข้าวาระ และ 3.ให้ส.ส.เก็บบัตรลงคะแนน ห้ามทิ้งไว้ที่เครื่องลงคะแนน 4.การลงมติเป็นรายมาตรา ส.ส.ฝ่ายค้านจะไม่แสดงตนเป็นองค์ประชุมและไม่ลงมติ

ต่อมาเมื่อมีการเปิดประชุมสภาฯ อย่างเป็นทางการ นายชวน ได้เปิดโอกาสให้ส.ส. ได้หารือก่อนเข้าสู่การพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณฯ โดย นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ส.ส. กทม. พรรคเพื่อไทย อภิปรายว่า ขณะนี้ฝ่ายค้านได้ลงชื่อมาประชุมเพื่อร่วมเป็นองค์ประชุมสภาฯ เพื่อให้สามารถเปิดประชุมสภาฯ ได้แล้ว และเพื่อให้ฝ่ายรัฐบาลได้พิจารณาอย่างเต็มที่ ทางฝ่ายค้านจะไม่ขอเข้าร่วมประชุมแต่อย่างใด นอกจากนี้ ยังมีความสงสัยว่าทำไมนายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ อดีตเลขานุการคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ ถึงยังเข้ามาร่วมประชุมสภาฯ

ทำให้นายเรืองไกร ลุกขึ้นกล่าวว่า สาเหตุที่เข้ามาประชุมสภาฯ ด้วย เนื่องจากได้รับจดหมายจากทางสภาฯเมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ให้เข้ามาร่วมประชุมเพื่อชี้แจงในนามคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ

ขณะที่ นายบุญสิงห์ วรินทร์รักษ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ได้สอบถามนายชวนว่า หากโซนที่นั่งของส.ส.รัฐบาลไม่เพียงพอ ส.ส.รัฐบาลจะสามารถไปนั่งในโซนของฝ่ายค้านเพื่อใช้เครื่องลงคะแนนได้หรือไม่ ทั้งนี้ นายชวน กล่าวว่า เป็นเรื่องที่ไม่สมควรจะทำแบบนั้น เพราะอาจถูกกล่าวหาได้ว่ามีการเสียบบัตรแทนกัน อย่างไรก็ตามจะเผื่อเวลาให้กับส.ส.ในการใช้เครื่องลงคะแนนในการพิจารณาแต่ละมาตราต่อไป

เมื่อเข้าสู่การพิจารณา ส.ส.ฝ่ายค้านเริ่มเดินออกจากห้องประชุม และทิ้งส.ส.เพียงไม่กี่คน ไว้คอยคุมเชิงในห้องประชุม หากเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้น

จากนั้นนายชวน ได้ดำเนินการประชุมตามระเบียบวาระในการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ เป็นรายมาตรา โดยนายชวน กล่าวถึงที่มาของการประชุมวันนี้ว่า เป็นผลมาจากการที่มีข่าวออกมาว่ามีการเสียบบัตรแทนกันของส.ส. จนทำให้ส.ส.รัฐบาล และฝ่ายค้านเข้าชื่อเพื่อส่งให้ประธานสภาฯ ส่งไปให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ของร่างพ.ร.บ.งบประมาณฯ ตามมาตรา 148 (1) ของรัฐธรรมนูญ ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยออกมาแล้วว่ากระบวนการพิจารณาไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญเฉพาะการลงมติในวาระที่ 2 และวาระที่ 3 ของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา แต่กำหนดคำบังคับให้สภาฯ ดำเนินการใหม่ในวาระที่ 2 และ 3 ใหม่

“เป็นเรื่องที่เราใช้สิทธิ์ไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย สิ่งที่เราต้องทำ คือ คำวินิจฉัยมีผลผูกพันรัฐสภา เราไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ส่วนเรื่องความชอบหรือไม่ชอบก็ขึ้นอยู่กับความคิดเห็นของแต่ละคน และกรณีนี้ไม่ได้เป็นเรื่องที่ศาลรัฐธรรมนูญเข้ามาก้าวก่ายฝ่ายนิติบัญญัติ เพราะมาจากการที่ประธานสภาฯ ส่งเรื่องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ผมต้องร่วมรับผิดชอบ ถ้าการทำงานผิดพลาดก็ร้องเรียนกันมาได้ครับ” นายชวน กล่าว

นายชวนกล่าวต่อว่า ยืนยันว่าการดำเนินการประชุมวันนี้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ ส่วนเรื่องกรอบเวลา 105 วันที่สภาฯ ต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จ และสิ้นสุดไปตั้งแต่เดือนมกราคมแล้วนั้น ขอชี้แจงว่าประเด็น 105 วัน สภาฯ ได้ดำเนินการครบถ้วนแล้วตั้งแต่ 11 มกราคม 2563 แต่การประชุมวันนี้ไม่ได้เกี่ยวข้องกับเรื่อง 105 วัน เพราะเป็นกระบวนการใหม่ที่เกิดมาจากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ขออย่าไปกังวลว่าเราเสียเกียรติหรือไม่ เพราะการเคารพกฎหมายบ้านเมืองเป็นการกระทำที่มีเกียรติอยู่แล้ว

จากนั้นนายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ กล่าวนำเสนอร่างพ.ร.บ.งบประมาณฯ ที่คณะกรรมาธิการวิสามัญฯ พิจารณาเสร็จแล้วว่า เมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยออกมาแล้วในฐานะประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ จึงขอนำเสนอรายงานการพิจารณาของคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ให้ที่ประชุมสภาฯได้พิจารณา

ต่อมาเป็นการพิจารณาเรียงรายมาตรา โดยเริ่มจากมาตรา 1 ชื่อร่าง พ.ร.บ.งบฯ นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล อดีตรองประธานกรรมาธิการวิสามัญฯ และนายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ อดีตเลขานุการกรรมาธิการวิสามัญฯ ก็เริ่มใช้สิทธิ์อภิปราย ว่าร่าง พ.ร.บ.งบฯ พ้นกรอบเวลา 105 วัน ตามรัฐธรรมนูญ ไม่สามารถพิจารณาวาระที่ 2 และ 3 แล้ว วันนี้จึงเป็นการดำเนินการที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 143 อย่างชัดเจน และอาจมีการยื่นขอให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความตามรัฐธรรมนูญอีก

ทำให้นายศุภชัย ใจสมุทร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย และนายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ต่างลุกขึ้นประท้วง ว่าอภิปรายนอกประเด็น

จนนายชวนต้องปรามว่า ขอให้กรรมาธิการฯ ช่วยอภิปรายอยู่ในประเด็น ไม่เช่นนั้นประชาชนจะมองว่า เป็นการยื้อเวลางบประมาณฯ

และก่อนที่จะประท้วงกันไปมานายชวน ได้ให้สมาชิกนับองค์ประชุมและลงมติในมาตรา 1 ซึ่งการนับองค์ประชุมในมาตรา 1 นี้ มีจำนวน 250 เสียง ซึ่งหวุดหวิดที่จะไม่ครบ เนื่องจากองค์ประชุมต้องใช้เสียง 249 เสียงขึ้นไป และลงมติเห็นชอบในมาตรา 1 ด้วยคะแนน 245 ต่อ 0 เสียง งดออกเสียง 6 เสียง

ซึ่งในระหว่างการลงมตินายชวน ได้เตือนตลอดว่า ให้ระมัดระวังในการเสียบบัตร เดี๋ยวจะมีปัญหาอีก และขอให้สมาชิกอดทน เพราะเราจะต้องลงมติอย่างนี้ไปอีกหลายมาตรา เหนื่อยหน่อยแต่ไม่เหนื่อยเท่าตอนหาเสียง จึงขอให้อดทนอีกซักพัก เดือน พฤษภาคม เราก็จะย้ายไปให้ห้องประชุมสุริยันแล้ว

ทั้งนี้ในการแสดงตนและลงมติ นายสะถิระ เผือกประพันธุ์ ส.ส.ชลบุรี พรรคพลังประชารัฐ ลำดับที่ 401 ต้องขานชื่อตลอดโดยอ้างว่าลืมนำบัตรประจำตัวมา

ต่อมาเป็นการพิจารณาในมาตรา 2 ถึงมาตรา 8 นายเรืองไกร ยังคงขออภิปรายทุกมาตราตามที่ขอสงวนความเห็นไว้ โดยบางมาตรา นายเรืองไกร อภิปรายนอกประเด็น จนถูกส.ส.ฝ่ายรัฐบาลประท้วงเป็นระยะๆ และจากมาตรา 9 นายเรืองไกร เริ่มถอนสิ่งที่สงวนความเห็นไว้ ทำให้การประชุมเป็นไปด้วยความรวดเร็วมากขึ้น