พัฒนาได้! นักวิชาการแนะกองทัพ เปิดโอกาสภาคสังคม ‘มีส่วนร่วม’ ปฎิรูป ตรวจสอบความโปร่งใส

พัฒนาได้! นักวิชาการแนะกองทัพ เปิดโอกาสภาคสังคม ‘มีส่วนร่วม’ ปฎิรูป ตรวจสอบความโปร่งใส

เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ นายยุทธพร อิสรชัย นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช (มสธ.) เปิดเผยว่า การประกาศแนวทางจัดการปัญหาในกองทัพบกของ ผบ.ทบ.ถือเป็นเรื่องที่ดี อย่างน้อยที่สุดจะลดเสียงวิจารณ์ของสังคมได้ หลังจาก ผบ.ทบ.ชี้แจงเหตุรุนแรงที่ จ.นครราชสีมา มีการพูดถึงปัญหาในเชิงโครงสร้างของกองทัพ และไม่ต้องการเห็นสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้น ถือเป็นการเริ่มต้นในการแก้ปัญหาทั้งระบบ ไม่เฉพาะตัวบุคคล เนื่องจากระบวนการต่างๆ ในกองทัพยังมีเรื่องของความอาวุโส ลำดับชั้นในการบังคับบัญชา ขณะที่กองทัพเป็นหน่วยที่อาวุธ มีกำลังพลจำนวนมาก มีผลกระทบที่จะเกิดกับสังคมหากมีสิ่งใดที่เป็นปัญหาจากภายใน ดังนั้นกองทัพควรได้รับการปฎิรูปไปสู่กองทัพสมัยใหม่ มีเทคโนโลยี ไม่จำเป็นต้องมีกำลังพลมากมาย มีบุคลากรที่มีความพร้อมที่จะเข้าไปทำหน้าที่เพื่อให้เกิดประโยชน์กับสังคม

 

“ การพูดถึงความโปร่งใส สวัสดิการของกำลังพล การลดความเหลื่อมล้ำในกองทัพเป็นสิ่งที่ดี เพื่อสร้างระบบให้มีธรรมาภิบาลให้เกิดขึ้น แต่ถ้าไม่ปฏิรูปทั้งที่กองทัพเป็นส่วนหนึ่งในระบบราชการ ขณะที่จะมีการปฏิรูปการเมือง โอกาสที่จะเกิดสัมฤทธิ์ผลในภาพรวมของประเทศคงเป็นไปได้ยาก แต่เมื่อ ผบ.ทบ.ประกาศแล้ว แม้ว่าจะเหลือเวลาในการทำหน้าที่อีกไม่กี่เดือน แต่เชื่อว่าถ้ามีการเริ่มต้นที่ดี หากทำได้จริงมีผลรูปธรรมจะได้รับเสียงสนับสนุนจากสังคมอย่างแน่นอน แต่การเริ่มต้นในระยะสั้นเชื่อว่ายังไม่เห็นความเปลี่ยนแปลงอะไร

ขณะที่หลายประเด็นที่ ผบ.ทบ.ต้องการสะสางมีลักษณะเชื่อมโยงเป็นเครือข่าย เป็นปัญหาในเชิงโครงสร้างในกองทัพ ดังนั้น ผบ.ทบ.คนเดียวอาจจะไม่สามารถแก้ปัญหาได้ฉับพลันทันที แต่ต้องอาศัยการมีส่วนร่วมของกองทัพ เสียงสะท้อนและการตรวจสอบจากภาคประชาสังคมที่จะเข้าไปช่วยเหลือเพื่อพัฒนาหรือปฏิรูปกองทัพให้ทำงานเพื่อประชาชน “นายยุทธพร กล่าว

นายยุทธพร กล่าวอีกว่า ต้องยอมรับว่าปัญหาที่ ผบ.ทบ.ต้องการเข้าไปแก้ไขไม่ใช่เรื่องใหม่และไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้นในยุคนี้ ที่สำคัญมีผู้คนเข้ามาเกี่ยวข้องมากมาย ทั้งในแง่ของวัฒนธรรมองค์กร ระบบของกองทัพและปัจจัยอื่น จึงเห็นว่าการปฏิรูปให้สำเร็จไม่ใช่เรื่องง่าย ในระยะยาวเชื่อว่าจะต้องใช้เวลาไม่น้อยกว่า 5 ปีเพื่อเปลี่ยนผ่านไปถึงคนรุ่นใหม่ ทำให้วิธีคิดทั้งระบบอุปถัมภ์ ระบบอาวุโส แต่ต้องชื่นชม ผบ.ทบ.ที่เปิดช่องทางให้เจ้าหน้าที่ทหารมีการสื่อสารถึงโดยตรงหรือจะเกิดโอกาสให้ประชาชนร่วมสะท้อนมุมมองได้ก็ถือว่าเป็นสิ่งที่ดีมาก ถ้าทำได้จริงในทางปฏิบัติ

“ขณะนี้ในหลายประเทศ มีประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมในการที่จะกำหนดทิศทางในการปฏิรูปกองทัพ ทุกอย่างก็ไปได้ดี เช่น ประเทศเกาหลีใต้ในอดีตกองทัพก็มีบทบาทที่จะเข้ามาสู่การเมืองคล้ายประเทศไทย แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์ที่ประชาชนต้องการเข้าไปปรับปรุง ทุกวันนี้กองทัพเกาหลีใต้ไม่เข้าไปแทรกแซงการเมืองอีก เช่นเดียวกับประเทศอินโดนีเซียก็เคยประสบปัญหาแต่ได้รับการพัฒนาให้ดีขึ้น”นายยุทธพร กล่าว