“ฝ่ายค้าน” มีมติไม่ร่วมสังฆกรรม พ.ร.บ.งบฯ ชี้ เพื่อให้สภาพิจารณาผ่านงบได้เร็วขึ้น

“ฝ่ายค้าน” มีมติไม่ร่วมสังฆกรรม พ.ร.บ.งบฯ ชี้ เพื่อความรวดเร็วในการพิจารณา พร้อมจี้ถามหาความรับผิดชอบจาก ส.ส.ที่เสียบบัตรแทนกัน ด้าน “ปิยบุตร” ตั้งคำถามปมคำวินิจฉัยของศาลรธน. ขยายอำนาจให้กลายเป็นคนอยู่เหนือ รธน.

เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ ที่รัฐสภา มีการประชุมหารือเกี่ยวกับการดำเนินการพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณฯ ปี 63 ในวาระ 2-3 โดยมีหัวหน้าพรรคจาก 6 พรรคร่วมฝ่ายค้าน นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย (พท.) และผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ตัวแทนวิปฝ่ายค้าน และตัวแทนจากวิปรัฐบาล อาทิ นายนิกร จำนง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคชาติไทยพัฒนา นายนริศ ขำนุรักษ์ ส.ส.พัทลุง พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) และนายวิเชียร ชวลิต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) มาประชุมร่วมด้วย

จากนั้นเวลา 12.00 น. นายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม ในฐานประธานวิปฝ่ายค้าน แถลงว่า วันนี้เราจะเสนอญัตติสด 2 เรื่อง คือ 1. เรื่องคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญว่าชอบหรือไม่ชอบ และเราควรจะปฎิบัติกันอย่างไร 2. ญัตติเหตุการณ์กราดยิงประชาชนที่จ.นครราชสีมา เพื่อหาแนวทางการป้องกันในอนาคต ขณะที่วันพรุ่งนี้ (13 กุมภาพันธ์) จะมีการพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณ ปี63 ในวาระ 2-3 ใหม่

ด้านน.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ เลขาธิการพรรคพท. กล่าวว่า ที่ประชุม 6 พรรคร่วมมีมติสำหรับการพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณฯ ปี 63 ว่าส.ส.พรรคฝ่ายค้านทุกคนจะมาปฎิบัติหน้าที่ตามปกติ โดยการร่วมเป็นองค์ประชุม แต่การดำเนินการพิจารณาเรื่องดังกล่าวจะปล่อยให้เป็นหน้าที่ของฝ่ายรัฐบาล ตามคำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญ ในส่วนของการเสียบบัตรแทนกันนั้น ในเมื่อศาลรัฐธรรมนูญชี้ว่าไม่สุจริตและส.ส.พรรคภูมิใจไทยไม่รู้ในที่ประชุมจริงและมีการเสียบบัตรแทนกันจึงถือว่าเป็นการออกเสียงที่ไม่สุจริตดังนั้นเรารอความรับผิดชอบส่วนตนและรัฐบาลจะต้องแสดงความรับผิดชอบสูงสุดคือลาออก เพราะความรับผิดชอบทางการเมืองเป็นสิ่งที่นักการเมืองต้องมี เพราะสภาฯเสียหายากการกระทำที่รับผิดชอบแบบนี้

โดยนายสุทิน กล่าวเพิ่มเติมว่า มติดังกล่าวที่ออกมา เพื่อให้การพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณฯ ปี 63 เกิดความรวดเร็ว ตามความต้องการของประชาชน เพราะหากฝ่ายค้านร่วมประชุมด้วยในวันพรุ่งนี้เราได้สงวนคำแปรญัตติไว้จำนวนมาก เราก็จะต้องใช้สิทธิในการอภิปราย ซึ่งจะต้องใช้เวลานาน 2-3 วัน เพราะต้องยืนยันตามที่เคยลงมติไว้ อย่างไรก็ตามเรื่องนี้หากย้อนไปที่มูลเหตุของการเกิดปัญหา ฝ่ายค้านให้ความร่วมมือมาโดยตลอด แต่รัฐบาลกลับมีปัญหาเรื่ององค์ประชุม แต่ฝ่ายค้านก็อยู่ร่วมประชุมด้วย ทั้งนี้หากเช็คองค์ประชุมการประชุมก็จะล่มทันที แต่กลับเกิดเหตุการมีคนเสียบบัตรแทนกันทำให้พ.ร.บ.ฉบับนี้สะดุด ซึ่งมูลเหตุเกิดจากรัฐบาลทำเสียของเอง ซึ่งฝ่ายค้านไม่ได้มีส่วนร่วมในการกดบัตรแทนกันเลย ดังนั้นครั้งนี้เราจะให้ความร่มมือเหมือนเดิม เพียงแต่ไม่สามารถร่วมอยู่ประชุมด้วยได้ โดยจะเปิดทางให้รัฐบาลพิจารณางบฯ ได้โดยสะดวก แต่เราจะไม่สุ่มสี่ยงที่จะร่วมในการกระทำที่ไม่ชัดเจน เพราะคำวินิจฉัยไม่ชัดเจนในหลายข้อ จึงจะไม่ทำอะไรที่สุ่มเสี่ยงในเรื่องความถูกผิด อย่างไรก็ตามส.ส.ฝ่ายค้านมีความกังวลว่า เนื่องจากบทบัญญัติรัฐธรรมนูญมาตรา 143 กำหนดให้การพิจารณากฎหมายของสภาฯ และวุฒิสภาฯ เสร็จภายใน 105 วัน ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้พูดเรื่องนี้ และการพิจารณาพรุ่งนี้จะเกินเวลา ดังนั้นส.ส.จึงกังวลในว่าหากร่วมประชุมในวันพรุ่งนี้จะเป็นการทำผิดกฎหมายหรือไม่ ดังนั้นการร่วมทำงานตามมารยาทที่พองามพอดีเป็นวิถีทางที่เราทำได้เพียงเท่านี้

ด้านนายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ (อนค.) กล่าวว่า กรณีที่มีสื่อมวลชนรายงานว่า นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ระบุว่า เจรจากับพรรคพท.ได้ แต่จะมีปัญหากับพรรคอนค.นั้น ตนขอเรียนว่าตนไม่เคยได้รับการติดต่อจากบุคคลในใดฟากรัฐบาลเลย ดังนั้นรู้ได้อย่างไรว่าคุยยาก ในเมื่อไม่เคยมาพูดคุยกันเลย รัฐมนตรีคงคิดเอาเอง ทั้งนี้ สำหรับคำร้องที่ฝ่ายค้านได้ส่งไปยังศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยตามมาตรา 148 วรรค 3 นั้น มีการเขียนไว้ชัดเจนว่าหากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่ากระบวนการตราไม่ชอบด้วยกฎหมาย ศาลรรัฐธรรมนูญสามารุทำได้อย่างเดียวคือการวินิจฉัยให้ร่างกฎหมายนั้นตกไปทั้งฉบับ แต่หากวินิจฉัยว่าชอบก็เดินหน้าต่อ แต่กรณีที่ออกมานั้น จะงงในตัวเอง เพราะท่อนแรกบอกว่า การเสียบบัตรแทนกัน ย่อมมีผลในการออกเสียงลงะแนนที่ไม่สุจริต ทำให้ผลการลงมิร่างพ.ร.บ.งบประมาณฯ ปี63 ไม่สอดคล้องกับหลักนิติธรรมและไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ แต่พอมาถึงตอนท้ายกลับบอกว่าร่างนี้ไม่ตกไปทั้งฉบับ เพราะต้องคำนึงถึงสภาพการณ์และเหตุผลความจำเป็นในการใช้งบประมาณ สรุปแล้วเป็นคำวินิจฉัยที่ผสมผสานกันทุกเรื่อง แถมท้ายด้วยการสั่งให้สภาฯ ลงมติกันใหม่ในวาระ 2-3 ซึ่งตนเห็นว่าเป็นคำวินิจฉัยที่เกินกว่ารัฐธรรมนูญกำหนด และหากปล่อยไว้เช่นนี้วันข้างหน้าศาลรัฐธรรมนูญจะสามารถสั่งอะไรก็ได้โดยที่ทุกองค์กรต้องปฎิบัติตาม กลายเป็นซุปเปอร์รัฐธรรมนูญ กลายเป็นคนที่อยู่เหนือรัฐธรรมนูญ ซึ่งผิดในหลักการถ่วงดุลอำนาจ เป็นเหตุให้ฝ่ายค้านต้องมานั่งคิดกันว่าเราจะปฎิบัติตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญอย่างไร

นายปิยบุตร กล่าวอีกว่า นอกจากนี้เราได้เสนอให้มีการตั้งคณะกรรมาธิการศึกษาเรื่องการเสียบบัตรแทนกัน เพื่อหาทางป้องกันเพราะการทำเรื่องไม่ถูกต้องของส.ส. ควรต้องมีการพูดกันในสภาฯ แต่กลไกของรัฐธรรมนูญที่ออกมา ถ้ามีเรื่องอะไรเกิดขึ้นจะโยนไปให้องค์กรอิสระเราไม่เคยคิดถึงเรื่องการพิจารณาวินัยกันเอง เรื่องจรรยาบรรณ หรือการทำตัวให้ถูกต้องในสภาฯ ดังนั้นตนคิดว่าเบื้องต้นยังไม่ต้องไปถึงการฟ้องร้องกันที่ไหน แต่เริ่มที่จิตสำนึกส่วนบุคคลของส.ส.แต่ละคนที่ควรต้องมี เพราะเวลานี้เป็นเรื่องเหลือเชื่อและมหัศจรรย์จากที่ทั้งสภาฯ ต้องมาวุ่นวายและมานั่งคิดอ่านกันใหม่หมดเพื่อแก้ปัญหาให้กับส.ส.ไม่กี่คนที่เสียบบัตรแทนกัน แล้วจนถึงวันนี้เรายังไม่เคยได้ยินเสียงส.ส.คนนั้นพูดสักคำ แม้กระทั่งขอโทษก็ไม่มี ความรับผิดชอบอะไรก็ไม่มี ทำเป็นเงียบๆ เฉยๆ เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้นเลย ซึ่งตนมองว่าสิ่งนี้ไม่ยุติธรรมต่อทั้งสภาผู้แทนราษฎร ต่อตัวรัฐบาล และต่อประชาชน โดยตนก็ไม่แน่ใจว่าวันพรุ่งนี้ในที่ประชุมท่านจะรู้สึกอะไรหรือไม่ที่คนทั้งสภาฯ จะต้องมาแก้ปัญหาที่ท่านเป็นคนก่อขึ้นมา

เมื่อถามว่า การที่ฝ่ายค้านไม่ร่วมในการพิจารณาพ.ร.บ.งบประมาณปี 63 ในวาระ 2 และ 3 จะทำให้การดำเนินการไม่เป็นไปตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ให้พิจารณาทั้ง 2 วาระใหม่หรือ นายสุทิน กล่าวว่า เราไม่มีความเห็น เอาเป็นว่าเรายกให้รัฐบาลได้ทำโดยสะดวก ซึ่งทางรัฐบาลก็มีนักกฎหมายและวุฒิภาวะพอ

เมื่อถามว่า จะไม่เป็นเหตุให้นำไปร้องศาลรัฐธรรมตามหลังใช่หรือไม่ นายสุทิน กล่าวว่า เหตุยังไม่เกิดเราจึงยังไม่รู้ ถึงวันนั้นเราจะมาหารือกันอีกครั้งว่าจะทำอย่างไร