‘วิษณุ’ โยนกรมป่าไม้พิจารณาคดีที่ดินปารีณา หลังกฤษฎีกาส่งคำตอบ

‘วิษณุ’ โยนกรมป่าไม้พิจารณาคดีที่ดินปารีณา หลังกฤษฎีกาส่งคำตอบ

วันที่ 12 กุมภาพันธ์ ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่คณะกรรมการกฤษฎีกาสรุปความเห็นกรณีที่ดินของ น.ส.ปารีณา ไกรคุปต์ ส.ส.ราชบุรี พรรคพลังประชารัฐว่ายังเป็นพื้นที่ป่า ว่า ยังไม่แน่ใจว่าคำตอบของคณะกรรมการกฤษฎีกาว่าอย่างไร ทราบเพียงว่าตอบมาแล้ว และได้มีการแจ้งไปยังกรมป่าไม้ และสำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) ที่เป็นเจ้าของคำถาม ซึ่งเรื่องนี้ก็ต้องให้ทางกรมป่าไม้ ลองไปพิจารณาเองก็แล้วกันว่า สุดท้ายจะสามารถปรับให้เข้ากับคดีต่างๆ ได้อย่างไร เพราะการที่ตั้งคำถามไปยังคณะกรรมการกฤษฎีกาเป็นคำถามที่ใช้กับในหลายๆ กรณี ไม่ใช่เฉพาะกรณีที่เป็นข่าวอยู่ในขณะนี้เท่านั้น เพราะฉะนั้นคำตอบบางอย่างใช้กับกรณีที่เป็นข่าวอยู่ในปัจจุบันได้ แต่กรมป่าไม้มีการถามไปประมาณ 5-6 ข้อ ซึ่งบางข้ออาจจะไปใช้กับกรณีอื่นๆ ด้วย เรื่องนี้ต้องให้กรมป่าไม้เป็นผู้พิจารณาเพราะเป็นองค์กรที่เป็นผู้สงสัย “แต่หลักใหญ่ไม่ว่าจะเป็นคำถามกี่ข้อก็ตาม แต่สามารถสรุปหัวข้อที่กรมป่าไม้สงสัยหนักที่สุดตรงที่ว่ากรมป่าไม้หรือสำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) กันแน่ ที่จะเป็นผู้ที่มีอำนาจเข้าไปดำเนินคดี และขอย้ำอีกครั้งว่าไม่ใช่เฉพาะกรณีของคุณปารีณา ความหมายคือ ที่ดินที่เข้าในลักษณะดังกล่าวไม่ว่าจะอยู่ในมือใครก็ตาม กรมป่าไม้ หรือ ส.ป.ก. กันแน่ที่มีอำนาจ ตรงนี้คือคำถามหลัก ที่เหลือเป็นคำถามรอง ซึ่งคำตอบในข้อนี้คณะกรรมการกฤษฎีกาได้ตอบแล้วว่าเป็นอำนาจของทั้งสองฝ่าย เพียงแต่ ส.ป.ก.ไม่มีอำนาจจับ เพราะไม่ได้เป็นเจ้าพนักงาน กฎหมายไม่ได้ให้อำนาจในการจับ ดังนั้นจึงจับใครไม่ได้ แต่กรมป่าไม้มีอำนาจจับได้ โดยเฉพาะถ้าที่ดินนั้นเป็นที่ดินป่าไม้” นายวิษณุกล่าว อย่างไรก็ตามก็ต้องไปดูว่าแต่ละคนได้ครอบครองที่ดินมาตั้งแต่เมื่อไหร่ และ ส.ป.ก.เข้าดำเนินการในที่ดินดังกล่าวในขั้นขนาดไหนแล้ว เกณฑ์ที่คณะกรรมการกฤษฎีกาใช้ประกอบกับที่เคยมีคำพิพากษาของศาลฎีกาเมื่อปี 2558 คือ ที่ดินนั้นจะเปลี่ยนไปเป็นที่ดินของ ส.ป.ก.ก็ต่อเมื่อ 1.มีพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตพื้นที่ 2.คณะรัฐมนตรีจะต้องมีมติว่าที่ดินแปลงนั้นเข้าสู่กระบวนการปฏิรูป 3.ส.ป.ก. จะต้องมีการออกแผนงานปฏิรูปสำหรับที่ดินแปลงนั้น และ 4.ได้มีงบประมาณสำหรับการเข้าไปดำเนินการปฏิรูป ซึ่งถ้าครบทั้ง 4 ข้อดังกล่าวที่ดินแปลงนั้นก็จะตกเป็นที่ดินของ ส.ป.ก. และพ้นสภาพจากการเป็นป่าสงวนทันที แต่ถ้ายังไม่ครบใน 4 ข้อดังกล่าวก็จะยังเป็นพื้นที่ป่าสงวน และเมื่อเพิกถอนการเป็นป่าสงวนก็จะกลายเป็นพื้นที่ของ ส.ป.ก. แต่ศาลฎีกาก็ดี คณะกรรมการกฤษฎีกาก็ดี ครั้งนี้ได้วินิจฉัยย้ำสำคัญว่า สมมุติว่ามีที่ดินทั้งหมด 682 ไร่ เฉพาะแปลงที่ได้ดำเนินการครบตามคุณสมบัติ 4 ข้อ นี้เท่านั้น แปลงอื่นที่ยังไม่ได้ดำเนินการครบแม้จะคลุมเครือหรือเข้าข่ายก็ยังไม่เป็นการเพิกถอนพื้นที่ป่าสงวน หลักสำคัญมีอยู่แค่นี้ ดังนั้นกรมป่าไม้จึงต้องนำกลับไปพิจารณาว่าที่ดินของแต่ละบุคคลที่เกี่ยวข้องเข้าข่ายอยู่แค่ไหน ทางคณะกรรมการกฤษฎีกาไม่ตอบ เพราะเขาไม่ใช่ผู้วินิจฉัยคดี

ผู้สื่อข่าวถามว่า หากกรมป่าไม้ดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งจะต้องรื้อทั้งประเทศหรือไม่ และอาจจะก่อให้เกิดความวุ่นวายขึ้น นายวิษณุกล่าวว่า เรื่องนี้กรมป่าไม้จะต้องเป็นผู้พิจารณาว่าจะทำอย่างไร และเมื่อวันที่ตนเชิญมาหารือกรมป่าไม้ก็ระบุว่าในวันที่ 12 กุมภาพันธ์ คือวันนี้จะเป็นวันที่ ส.ป.ก.จะเข้าไปสำรวจพื้นที่ “เนื่องจากคราวที่แล้ว น.ส.ปารีณาได้ทำหนังสือแจ้งว่าได้ส่งมอบพื้นที่ดินคืน แต่มีเงื่อนไขว่าถ้าหากมีการจัดที่ดินให้กับเกษตรกร ก็ขอให้ดิฉันก่อนนะคะ ซึ่งทาง ส.ป.ก. ก็บอกว่าตั้งเงื่อนไขเช่นนี้ไม่ได้ ก็ถือว่ายังไม่ได้ส่งมอบคืน และพอแจ้งกลับไปก็ น.ส.ปารีณาก็ทำหนังสือแจ้งกลับมาว่าขอส่งมอบให้โดยไม่มีเงื่อนไข ซึ่งก็เท่ากับว่าเป็นการส่งมอบแล้ว ส่วนจะเป็นการส่งมอบจริงหรือไม่จริงทาง ส.ป.ก.ก็ต้องเข้าไปในพื้นที่เพื่อดูว่ามีอะไรตรงไหนอย่างไร และทำอะไร แต่ปรากฏว่าเข้าไปแล้วเจ้าตัวไม่ยอมมาชี้เขต เจ้าหน้าที่จึงเข้าไม่ได้และไม่กล้าเข้า จึงนัดใหม่ในวันเดียวกันนี้ อย่างไรก็ตามเจ้าของที่ดินจะต้องมาชี้เขตถ้าไม่มาชี้หรือไม่มาบอกก็เท่ากับว่าคุณยังไม่ได้คืนที่ดิน” นายวิษณุกล่าว เมื่อถามว่า ถ้า น.ส.ปารีณา ไม่ไปชี้เขตจะมีปัญหาอย่างไร นายวิษณุกล่าวว่า สามารถมอบตัวแทนไปได้ แต่ถ้าไม่ไปชี้เขตและไม่ได้มอบหมายใครก็มีความผิดในฐานะไม่ให้ความร่วมมือในเรื่องดังกล่าว มีความผิดตามพระราชบัญญัติ ส.ป.ก.มาตรา 47 และประมวลกฎหมายที่ดินมาตรา 9 เป็นความผิดฐานไม่ให้ความร่วมมือ ขัดขวางโดยการนำชี้หลักเขต ไม่ใช่เรื่องการบุกรุก เพราะกฎหมาย ส.ป.ก. ไม่มีโทษอาญา มีโทษฐานเดียว คือ การขัดขวางเจ้าพนักงานตามมาตรา 47 อ่านข่าวเกี่ยวข้อง