ผู้เชี่ยวชาญชี้ “ไวรัสอู่ฮั่น” ระบาดพีคสุดเดือนก.พ.นี้ “ฮู” เตือนภัยคุกคามร้ายแรงต่อโลก

นายจง หนานชาง นักระบาดวิทยา และหัวหน้าทีมสอบสวนการระบาดของของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ของคณะกรรมการสาธารณสุขแห่งชาติจีน (รอยเตอร์)

เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ สำนักข่าวรอยเตอร์อ้างความเห็นของนายจง หนานชาง นักระบาดวิทยาและเป็นที่ปรึกษาทางการแพทย์ของรัฐบาลจีนชี้ว่า สถานการณ์ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่อาจถึงจุดสูงสุดภายในเดือนกุมภาพันธ์นี้หลังจากนั้นจึงค่อยทรงตัวก่อนที่จะลดลง โดยนายจงซึ่งเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการรับมือกับการแพร่ระบาดของโรคซาร์สในประเทศจีนในปี 2546 กล่าวว่า สถานการณ์ในบางพื้นที่เริ่มดีขึ้นบ้างแล้วจากการที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ลดลง ซึ่งการคาดการณ์นี้เป็นการพิจารณาจากรูปแบบและพัฒนาการของสถานการณ์ในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา ตลอดจนการดำเนินการของรัฐบาลเองด้วย “ดังนั้นเราอาจคาดการณ์ได้ว่าช่วงจุดสูงสุดของการแพร่ระบาดอาจเป็นช่วงกลางเดือนหรือปลายเดือนกุมภาพันธ์ หลังจากนั้นสถานการณ์จะทรงตัวอยู่เช่นนั้น แล้วจะค่อยๆ ลดลง”

นายจงกล่าวอีกว่า มาตรการควบคุมโรคในเมืองอู่ฮั่น ซึ่งเป็นศูนย์กลางการระบาดของโรค เป็นสิ่งจำเป็นและทั้งประเทศควรจะต้องห้ามการค้าสัตว์ป่าเป็นการถาวร นอกจากนี้ยังมีความจำเป็นที่จะต้องปรับปรุงกลไกควบคุมโรคและจัดตั้งระบบเตือนภัยทั่วโลกถึงการแพร่ระบาดของโรคตั้งแต่เนิ่นๆด้วย

วันเดียวกัน เอเอฟพีรายงานว่า นายทีโดรส อัดฮานอม กีบรีเยซุส ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก(ฮู) กล่าวในการประชุมว่าด้วยการต่อสู้กับโรคระบาด ที่มีนักวิทยาศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญราว 400 คน เข้าร่วมที่นครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ โดยกล่าวเตือนว่าการระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ เป็นภัยคุกคามร้ายแรงอย่างมากต่อโลก สิ่งสำคัญที่สุดในขณะนี้คือการหยุดยั้งการแพร่ระบาดและรักษาชีวิตผู้คนเอาไว้ด้วยการสนับสนุนการทำงานร่วมกัน

ผู้อำนวยการฮูยังกล่าวเรียกร้องให้ประเทศต่างๆ ที่ได้รับผลกระทบร่วมกันแบ่งปันข้อมูลตัวอย่างไวรัส เพื่อที่จะได้มีการศึกษาค้นคว้าวิจัยในโรคนี้มากขึ้น พร้อมแสดงความหวังว่าเหล่านักวิทยาศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญจะสามารถตกลงในแผนยุทธศาสตร์ที่จะทำงานร่วมกันได้
ฮูยังระบุอีกว่ากำลังใช้พิมพ์เขียวการวิจัยและพัฒนาซึ่งจะเผยให้เห็นการทำงานด้านการวิจัยและพัฒนาในระหว่างที่มีการเกิดการแพร่ระบาดของโรค ซึ่งในขณะนี้ทีมผู้เชี่ยวชาญทั้งในออสเตรเลีย อังกฤษ จีน ฝรั่งเศส เยอรมนี และสหรัฐอเมริกา กำลังเร่งพัฒนาวัคซีนกันอยู่ ที่โดยปกติแล้วเป็นกระบวนการที่จะใช้เวลาหลายปี