สธ.ยัน ‘ไวรัสโคโรนา’ ละอองใหญ่ ไม่กระจายในอากาศ เผยจำนวนผู้เข้าเกณฑ์ไทย-จีน ครึ่งต่อครึ่ง

เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.ยงยศ ธรรมวุฒิ รองปลัด สธ. พร้อมด้วย นพ.ณรงค์ อภิกุลวนิช รองอธิบดีกรมการแพทย์ นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน สาธารณสุขนิเทศก์ เขตสุภาพที่ 10 นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค รศ.(พิเศษ) นพ.ทวี โชติพิทยสุนนท์ ผู้ทรงคุณวุฒิ คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ และที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการ สธ.แถลงความคืบหน้าของสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคปอดอักเสบจากเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019

นพ.ยงยศกล่าวว่า สถานการณ์ผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อรักษาในโรงพยาบาล (รพ.) 22 ราย กลับบ้านแล้ว 10 ราย รวมสะสม 32 ราย ผู้ป่วยเข้าเกณฑ์สอบสวนโรคต้องเฝ้าระวัง ตั้งแต่วันที่ 3 มกราคม-วันที่ 9 กุมภาพันธ์ สะสมทั้งหมด 689 ราย คัดกรองจากสนามบิน 51 ราย ไปรับการรักษาที่โรงพยาบาลด้วยตัวเอง 638 ราย อนุญาตให้กลับบ้านได้แล้ว 334 ราย ส่วนใหญ่เป็นไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล ยังคงรักษาในโรงพยาบาล 355 ราย สถานการณ์ทั่วโลกใน 26 ประเทศ ข้อมูลตั้งแต่วันที่ 5 มกราคม– วันที่ 9 กุมภาพันธ์ พบผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อจำนวน 40,553 ราย เสียชีวิต 909 ราย และรักษาหายแล้ว 2,970 ราย ส่วนสาธารณรัฐประชาชนจีน พบผู้ป่วย 40,171 ราย เสียชีวิต 907 ราย ซึ่งจะพบว่าสถานการณ์ของโลกและประเทศไทยมีข่าวดีเพิ่มขึ้นในเรื่องของการชะลอการเพิ่มขึ้นของผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 แต่ในส่วนของอัตราการเสียชีวิตในประเทศยังเป็นศูนย์ และคนไทยกลับบ้าน 138 คน ยืนยันว่าพบผู้ป่วยติดเชื้อเพียง 1 ราย และไม่มีการแพร่ระบาดไปยังผู้อื่นที่เดินทางมาพร้อมกัน

นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า โดยสรุป ประเด็นที่ 1 ขณะนี้สถานการณ์ในประเทศจีนมีแนวโน้มว่าจะคงที่หรือเริ่มจะลงลด แต่ยังน่าเป็นห่วงในรายที่มีอาการรุนแรงและมีอัตราการเสียชีวิตในแต่ละวันสูง และสถานการณ์ในประเทศไทยพบผู้ป่วยเข้าเกณฑ์สอบสวนโรคต้องเฝ้าระวังเป็นชาวจีนและคนไทยในอัตราที่ 50 ต่อ 50 เนื่องจากนักท่องเที่ยวจีนลดลง แต่ในจำนวนคนไทยเข้าเกณฑ์สอบสวนมากขึ้น เพราะว่าประชาชนให้ความตระหนักมากขึ้น เมื่อมีอาการป่วยก็จะไปรักษาที่โรงพยาบาล แต่โดยส่วนมากเป็นเพียงอาการของไข้หวัดใหญ่ ประเด็นที่ 2 การจำหน่ายหน้ากากอนามัย สธ.ได้ร่วมกับกระทรวงพาณิชย์ องค์การเภสัชกรรม (อภ.) สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และกองสาธารณสุขฉุกเฉิน สำรวจความต้องการใช้หน้าการอนามัยในสถานพยาบาลของ สธ.ทั่วประเทศกว่า 1,000 แห่ง พบว่ารายงานมีการสำรองอยู่ประมาณ 1,000,000 ชิ้น ซึ่งมีความเพียงพอต่อความต้องการใช้ ทั้งนี้ มีการนำไปเพิ่มวันละ 70,000 ต่อวัน และหน้ากาก N95 มีเพียงพอสำหรับการใช้ทางการแพทย์ โดยไม่แนะนำให้ประชาชนทั่วไปใช้ โดยหากมีภาวการณ์ขาดแคลน จะมีระบบการรายงานไปยังสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) เพื่อนำสิ่งสำรองไปให้ในที่ขาดแคลน

นพ.โสภณกล่าวว่า ในความกังวลว่าจะมีการติดต่อผ่านการแพร่เชื้อทางอากาศนั้น จากข้อมูลในประเทศไทยมีผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อ 32 ราย ส่วนใหญ่มาจากต่างประเทศ 23 ราย คนไทย 9 ราย และมี 3 ราย ที่เป็นคนไทยและติดภายในประเทศ โดยกรณีของการติดเชื้อในประเทศเป็นการติดเชื้อลักษณะที่อยู่ใกล้ชิดกับผู้ป่วยมาก เช่น รถแท็กซี่ ห้องแอร์ หรือการทำงานกับนักท่องเที่ยวต่างชาติ เป็นต้น ซึ่งยืนยันได้ว่าไม่ได้เป็นการติดกันโดยง่าย

“ในข้อมูลนี้ สามารถพิสูจน์ได้จากการเก็บตัวอย่างเชื้อในคอของผู้สัมผัสใกล้ชิดของผู้ป่วยแล้วไม่พบการติดเชื้อ เมื่อเวลาการใช้คำว่า Airborne transmission เป็นการใช้คำที่กว้างไป ซึ่งก่อให้เกิดความเข้าใจว่าสามารถติดทางอาการได้ง่าย แต่หากดูข้อมูลที่แท้จริงจะพบว่า เชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ขนาดละอองฝอยที่เล็กมากกว่า 5 ไมครอน จะไม่เกิดในภาวะปกติแต่จะเกิดในการรักษาหัตถการทางการแพทย์ ดังนั้น บุคลากรทางการแพทย์จึงจะต้องใช้ชุดปฏิบัติการและการใช้หน้ากาก N95 ในการดูแลผู้ป่วย ซึ่งในกรณีที่ติดเชื้อในรถแท็กซี่เนื่องจากละอองฝอยขนาดใหญ่มีความใกล้ชิดกันระยะไม่เกิน 1 เมตร ดังนั้น ในประชาชนทั่วไปสามารถใช้หน้ากากอนามัยทางการแพทย์ หรือหน้ากากแบบผ้าได้ และการปฏิบัติตัวเมื่อไอจาม คือ การปิดปาก หากมีกระดาษทิชชูสามารถทิ้งได้ทันที แต่หากไม่มีให้ใช้บริเวณท้องแขนปิดปาก เนื่องจากส่วนนี้จะไม่ค่อยสัมผัสกับภายนอก เป็นการลดการแพร่เชื้อได้” นพ.โสภณกล่าว

ด้าน รศ.(พิเศษ) นพ.ทวีกล่าวว่า Airborne transmission หรือการแพร่เชื้อทางอากาศ มีเพียงไม่กี่โรคที่สามารถแพร่เชื้อโดยละอองฝอยเล็กกว่า 5 ไมครอน โดยจะต้องป้องกันด้วยหน้ากาก N95 เท่านั้น แต่การแพร่เชื้อแบบละอองฝอยขนาดใหญ่หรือ Droplet transmission จะแพร่กระจายได้ประมาณ 1 เมตร ส่วนคำถามว่าละอองฝอยขนาดเล็กนี้จะอยู่ในอากาศได้นานแค่ไหน ขึ้นอยู่กับขนาดและพื้นที่ของการแพร่เชื้อ เช่น การอยู่ในที่โล่งแจ้งก็จะถูกลมพัด ซึ่งหากอยู่ในระยะใกล้ก็จะสามารถติดตามเสื้อผ้าและหากไม่สวมหน้ากากป้องกันก็จะสามารถเข้าจมูกหรือปากได้ ดังนั้น การสวมใส่หน้ากากอนามัยทางการแพทย์จะมีประโยชน์ในผู้ที่ป่วยและผู้ที่ทำงานใกล้ชิดกับผู้ที่มีโอกาสป่วย

“เรื่องนี้เป็นเรื่องใหม่ ก็จะมีความเห็นออกมา แล้วแต่คนเลือกจะเชื่อ การเชื่อจะต้องมีเหตุผลและมีการศึกษาวิจัย จึงจะเชื่อได้มาก การเกิดละอองฝอยขนาดเล็กในอากาศจะเกิดขึ้นได้ในผู้ป่วยที่อยู่ใน รพ.มีอาการรุนแรง มีการใส่ท่อช่วยหายใจ ดูดเสมหะ ดังนั้นฝ่ายการแพทย์ที่เข้าไปทำงานจะต้องมีการป้องกันอย่างเต็มที่ รวมไปถึงผู้ที่จะเข้าไปทำความสะอาดห้องความดันลบ จะต้องมีการฝึกอบรมด้วย” รศ.(พิเศษ) นพ.ทวีกล่าว

นอกจากนี้ รศ.(พิเศษ) นพ.ทวีกล่าวว่า มีข้อมูลว่าการใช้หน้ากากอนามัยในผู้ที่แข็งแรงดีไม่มีประโยชน์ หากจะถูกต้องกล่าวว่ามีประโยชน์บ้างในกรณีที่สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ที่แพร่เชื้อ แต่จะต้องล้างมือด้วย 2 วิธีหลัก คือ การล้างด้วยเจลแอลกอฮอล์ที่ความสะดวก และการล้างด้วยน้ำสบู่ ดังนั้นจึงต้องเรียนไปยังสถานประกอบการที่มีคนเข้าออกมาก ให้เตรียมสบู่เหลวสำหรับบริการประชาชนด้วย

ด้าน นพ.ณรงค์กล่าวว่า กรมการแพทย์ได้ดำเนินการจัดตั้งคลินิกโรคไข้หวัด เพื่อแยกผู้ป่วยออกจากคลินิกทั่วไป จะมีคำจำกัดของผู้ป่วยคือ จะต้องมีไข้สูงกว่า 37.5 องศาเซลเซียส ขึ้นไป รวมกับมีประวัติการเดินทางไปต่างประเทศหรือพื้นที่มีการระบาด หรือกรณีผู้ป่วยปอดอักเสบที่หาสาเหตุไม่ได้ ซึ่งจะตรงกับคำนิยามของผู้ป่วยเข้าเกณฑ์สอบสวนของโรคไวรัสโคโรนา 2019 ส่วนในเรื่องสถานที่จัดตั้งคลินิก จะมีการเรื่องเข้าที่ประชุมศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินสาธารณสุขในวันที่ 11 กุมภาพันธ์นี้ และคาดว่าจะจัดตั้งในกรุงเทพมหานคร  จังหวัดเสี่ยงหรือพื้นที่เสี่ยงที่มีนักท่องเที่ยวมาก โดยจะขอความร่วมมือกับทุกภาคส่วนในการจัดตั้งคลินิกโรคทางเดินหายใจ ทั้งนี้ ในผู้ป่วยจีนใน รพ.ราชวิถี มีผลทางห้องปฏิบัติการ (แล็บ) เป็นลบ คาดว่าจะให้ออกจากห้องแยกโรคในวันที่ 11 กุมภาพันธ์นี้

 

ผู้สื่อข่าวถามว่า ผู้ป่วยคนไทย 1 รายที่กลับมาจากเมืองอู่ฮั่นโดยทางการไทยได้ไปรับมาเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ ขณะนี้อาการเป็นอย่างไร นพ.ยงยศ กล่าวว่า มีอาการแข็งแรงดี อาการปกติ แต่รอการตรวจเชื้อจากห้องปฏิบัติการว่าไม่มีเชื้อ จึงจะให้ออกจากห้องแยกโรค รวมถึงเพื่อนร่วมห้องก็จะต้องเฝ้าดูอาการแต่ในเบื้องต้นไม่มีการติดเชื้อ

เมื่อถามถึงผู้ป่วยเข้าเกณฑ์สอบสวนที่พบในประเทศไทยมีจำนวนอัตราครึ่งต่อครึ่งกับชาวจีน ในส่วนของคนไทยนั้นยังคงเป็นกลุ่มเสี่ยงสูงยังเป็นกลุ่มที่สัมผัสกับนักท่องเที่ยวเป็นหลักหรือไม่ นพ.โสภณกล่าวว่า เนื่องจากนักท่องเที่ยวจีนลดลงมาตามลำดับ ขณะนี้เราไม่มีผู้ป่วยรายใหม่ที่เป็นชาวจีนที่เดินทางเข้าประเทศ แต่ขณะเดียวกันจะพบว่าคนไทยที่ทำงานใกล้ชิดกับชาวต่างชาติเริ่มป่วย ประเด็นนี้คือหัวใจสำคัญของการทำงานคือต้องเฝ้าระวังและติดตามกลุ่มเสี่ยงที่เป็นคนไทยให้ได้มากที่สุดและเร็วที่สุด เพื่อนำมาสู่การรักษาและวินิจฉัย เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการแพร่เชื้อไปยังคนไทยกลุ่มถัดไป

รศ.(พิเศษ) นพ.ทวีกล่าวเพิ่มเติมว่า ปัญหาขณะนี้เปลี่ยนจากชาวจีนมาเป็นคนไทย โดยผู้ที่ป่วยจะเกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวใกล้ชิดกลุ่มทัวร์ แต่เราไม่สามารถรับคนไทยที่ป่วยเป็นไข้หวัดทุกคนได้ เนื่องจากมีคนไทยป่วยเป็นไข้หวัดประมาณ 200,000 ต่อวัน ซึ่งในจำนวนนี้เราจะต้องหาวิธีให้คนกลุ่มนี้ออกมาตรวจว่าเข้าหลักเกณฑ์โรคโคโรนา2019 จึงตั้งหลักเกณฑืไว้ว่า 1.ต้องเป็นผู้ทำงานเกี่ยวข้องกับนักท่องเที่ยว 2.กรณีผู้ป่วยปอดอักเสบที่หาสาเหตุไม่ได้ ซึ่งส่วนใหญ่จะอยู่ในการรักษาที่โรงพยาบาลแล้ว ดังนั้น การตั้งจัดคลินิกจะเป็นด่านหน้าในการคัดกรองที่สามารถเน้นหาผู้ป่วยให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้