จี้ขีดเส้นเกิน 60 ปีห้ามนั่งอธิการฯ แนะ ‘รมว.อว.’ ยึดคำสั่งศาล ปค.สูงสุด

เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ นายเชษฐา ทรัพย์เย็น อาจารย์คณะมนุษศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) ธนบุรี ในฐานะประธานที่ประชุมประธานสภาอาจารย์และข้าราชการแห่งประเทศไทย (ทปสท.) เปิดเผยว่า ตามที่นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ระบุว่า มหาวิทยาลัยรัฐเตรียมประชุม เพื่อหารือเรื่องการกำหนดอายุผู้ดำรงตำแหน่งอธิการบดี โดยระบุว่าอายุเป็นเพียงตัวเลข มหาวิทยาลัยต้องการคนมีประสบการณ์เป็นอธิการบดี ขณะที่ศาลปกครองแต่ละแห่งมีคำตัดสินไปคนละแนวทาง จึงไม่สามารถใช้เป็นบรรทัดฐานได้นั้น ส่วนตัวคิดว่าความเห็นของนายสุวิทย์ถูกต้องเพียงครึ่งเดียว เพราะเมื่อปี 2560 ศาลปกครองสูงสุดเคยมีคำตัดสินกรณีสภา มรภ.กาญจนบุรี แต่งตั้งอธิการบดี หรือรักษาการอธิการบดี ที่มีอายุเกิน 60 ปีไม่ได้ โดยพิจารณากฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ทั้งหมด ทั้ง พ.ร.บ.มรภ., พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา, พ.ร.บ.บำเหน็จบำนาญข้าราชการ และคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 37/2560 เรื่องการแก้ไขปัญหาการบริหารงานของสถาบันอุดมศึกษา ซึ่งถือเป็นการพิจารณาประมวลกฎหมายที่เชื่อมโยงกันตามหลักการพิจารณากฎหมายมหาชน ทำให้เนื้อหาคำตัดสินดังกล่าว ถือเป็นบรรทัดฐานที่มีมาตรฐานให้หน่วยงานราชการปฏิบัติตาม

นายเชษฐากล่าวต่อว่า ขณะนี้ศาลปกครองชั้นต้นมีกระจายตามกลุ่มจังหวัด แต่ศาลปกครองสูงสุดมีเพียงศาลเดียว ครอบคลุมทั้งประเทศ และอยู่เหนือกว่าศาลปกครองชั้นต้น ซึ่งกระจายอยู่ทั่วประเทศ ดังนั้น แนวคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด จึงต้องเป็นมาตรฐานที่ใช้เป็นแนวปฏิบัติราชการที่ถูกต้อง และชอบด้วยกฎหมายอย่างแท้จริง รัฐมนตรีว่าการ อว.ซึ่งเป็นผู้บริหารสูงสุดของกระทรวง จึงไม่มีเหตุอื่นใดที่จะไม่นำคำตัดสินของศาลปกครองสูงสุดมาเป็นแนวปฏิบัติ โดยออกเป็นนโยบายเพื่อใช้กับมหาวิทยาลัยของรัฐ เพื่อให้เป็นแบบอย่างที่ดีในการปฏิบัติตามกฎหมาย ซึ่งสามารถดำเนินการได้ทันที เพราะมีคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดรองรับไว้แล้ว

“ผมเห็นว่า อว.ควรจะออกประกาศยึดตามแนวคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดดังกล่าว เพื่อใช้เป็นมาตรฐานในมหาวิทยาลัยของรัฐในขณะนี้ เพื่อลดความสับสนในปัจจุบัน จะปล่อยแบบนี้ต่อไปไม่ได้ ส่วนในอนาคตจะศึกษาแนวทางอย่างไรเพื่อปรับปรุง ก็ค่อยพิจารณากัน แต่ต้องยึดถือหลักการที่ถูกต้องเหมาะสม ไม่ใช่แก้ไขให้ผิดจากหลักราชการที่ปฏิบัติกันทั่วประเทศ หรือแก้ไขเพื่อคนเพียงกลุ่มเดียว” นายเชษฐากล่าว