นักวิเคราะห์ชี้ ยิ่งบริหารประเทศแบบอ่อนแอ-ไม่เป็นประชาธิปไตย ยิ่งทำลายสุขภาพประชาชน

วันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2563 ที่ผ่านมา เว็บไซต์ Council on Foreign Relations ซึ่งเป็นเว็บไซต์บทความวิชาการด้านความมั่นคงและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ได้เผยแพร่บทวิเคราะห์ Weak and Undemocratic Governance is Dangerous for Your Health (บริหารรัฐอย่างอ่อนแอและไม่เป็นประชาธิปไตย คือภัยร้ายต่อสุขภาพของประชาชน) ได้มองภาวะการรับมือของรัฐบาลประเทศต่างๆต่อการแพร่ระบาดของโคโรน่าไวรัสสายพันธุ์ใหม่ โดยเฉพาะท่าทีการรับมือการระบาดของประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีความสัมพันธ์กับจีนอย่างใกล้ชิด และเปรียบเทียบการรับมือภาวะวิกฤตด้านสาธารณสุขระหว่างการบริหารแบบเผด็จการอำนาจนิยมกับประชาธิปไตย แบบไหนมีประสิทธิภาพมากกว่า

นักวิเคราะห์มองว่า มีหลายชาติในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีความสัมพันธ์อย่างกว้างขวางทั้งการค้า การขนส่งและติดต่อผ่านเขตแดนกับจีน จึงทำให้เป็นภูมิภาคแรกของชาตินอกประเทศจีนและฮ่องกงที่เจอกรณีการพบผู้ป่วยติดเชื้อโคโรน่าไวรัสสายพันธุ์ใหม่ และมีความเป็นไปได้สูงมากที่ไม่มีการเตรียมระดับภูมิภาคใดๆ ที่จะหยุดยั้งการแพร่กระจายของไวรัส นอกจากรัฐบาลของแต่ละประเทศปกป้องตัวเอง

อีกทั้ง เอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวที่ใหญ่ที่สุดสำหรับนักเดินทางชาวจีนและเนื่องจากวันหยุดตรุษจีนหลายคนได้ออกเดินทางไปยังหวู่ฮั่นก่อนที่เมืองจะเริ่มปิดตัวลง

แน่นอนว่าไม่สามารถช่วยอะไรได้ เพราะทางการจีนปล่อยข้อมูลการแพร่ระบาดให้กับประเทศอื่นช้ามาก ตามที่รายงานข่าวก่อนหน้านี้ระบุว่า รายงานการแพร่ระบาดกว่าจะไปถึงองค์กรอนามัยโลกก็เมื่อวันที่ 31 ธันวาคม ปีที่แล้ว หลังเกิดการแพร่ระบาดในเมืองอู่ฮั่นตั้งแต่กลางเดือนธันวาคมปีที่แล้ว

นักวิเคราะห์ได้มองการตอบสนองของรัฐบาลชาติอาเซียนต่อการแพร่ระบาดจากจีนว่า ถึงแม้ว่าฝ่ายจีนจะมีความรอบคอบมากขึ้น แต่ในความเป็นจริง ยังคงมีรัฐบาลชาติอาเซียนที่อ่อนด้อยต่อการตอบสนองในเรื่องการแพร่ระบาดอย่างมีประสิทธิภาพ

อย่างไรก็ตาม สิงคโปร์ เป็นประเทศเดียวในกลุ่มอาเซียนที่นอกจากมั่งคั่งสุดเมื่อเทียบกับทุกประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาค ยังมีความต่อเนื่องการรณรงค์ด้านสาธารณสุขอย่างเป็นระบบ ซึ่งเป็นผลจากการเรียนรู้เมื่อครั้งเผชิญการระบาดของโรคซาร์สในปี 2003

ขณะที่ บางประเทศในอาเซียน อย่างกัมพูชาและเวียตนาม มีทรัพยากรด้านสาธารณสุขที่จำกัดมาก หรือบางประเทศอย่างพม่าที่มีเขตแดนติดกับจีน พื้นที่ธรรมชาติทำให้ยากต่อการรับมือคลื่นมนุษย์ที่หลั่งไหลเข้าพม่า อีกทั้งพื้นที่เขตแดนระหว่างพม่ากับจีนก็ไม่ได้อยู่ในการปกครองของรัฐบาลกลาง ซึ่งก็คือรัฐคะฉิ่นและรัฐฉาน ที่ปกครองด้วยกลุ่มชาติพันธุ์ แต่ถือเป็นเรื่องดีที่จนถึงตอนนี้ยังไม่มีรายงานยืนยันพบผู้ติดเชื้อ ต่างจากที่อื่นอย่างกัมพูชาและเวียตนาม

นอกจากนี้ รูปแบบการปกครองก็มีส่วนต่อการรับมือวิกฤตโรคระบาด โดยนักวิเคราะห์มองว่า สถานการณ์ในตอนนี้ หลายประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นระบอบอำนาจนิยม หรือระบอบลูกผสม ซึ่งไม่ชอบในการแบ่งปันข้อมูลข่าวสารหรือเปิดเผยความจริงทั้งหมด ด้วยข้อเท็จจริงที่ว่า รัฐบาลที่เป็นเผด็จการจะกังวลว่าหากแสดงความโปร่งใส จะสร้างความขุ่นเคืองให้กับประชาชน แน่นอนว่ารัฐบาลเหล่านี้ กลัวประชาชนตัวเอง มากกว่าโคโรน่าไวรัสระบาด

ดังนั้น ความเข้าไม่สามารถจัดการข้อมูลและการขาดความเร่งด่วนในการวางมาตรการควบคุมที่มีประสิทธิภาพ กำลังทำให้ประชาชนหวาดกลัว ความพยายามใดในการเข้าควบคุมข้อมูลข่าวสารของรัฐบาล กลับทำให้เชื้อไวรัสยิ่งแพร่ระบาดมากขึ้น

สำหรับประเทศไทย นักวิเคราะห์ถือเป็นกรณีศึกษาที่ดีของรัฐบาลที่ล้มเหลวในการเผชิญกับโรคระบาด ด้วยประเทศที่เศรษฐกิจการท่องเที่ยวพึ่งพานักท่องเที่ยวจากจีนเป็นหลัก มีหลายบริษัทที่ขยายการค้าและการลงทุนกับจีน นั้นทำให้พบกรณีการติดเชื้อที่เกิดขึ้นมากขึ้น โดยทุกกรณีล้วนมาจากนักท่องเที่ยวชาวจีน ถึงกระนั้น ประเทศไทยตอบสนองช้ามากในการตัดการเชื่อมต่อกับจีน เป็นไปได้ว่าอาจกังวลที่จะกระทบความสัมพันธ์ทางการทูตกับรัฐบาลจีนและทำลายการเชื่อมต่อด้านการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นแหล่งรายได้เดียวที่ไทยมีในตอนนี้

รวมถึงรัฐบาลไทยก็เลือกย่ำอยู่กับที่ในการตั้งศูนย์ข้อมูลเพื่อสอนคนไทยเกี่ยวกับไวรัส แต่กลับล้มเหลวในการส่งผ่านข้อมูลในการป้องกันที่ถูกต้องให้กับประชาชน  แม้ว่ารัฐบาลปัจจุบันของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่เข้ามาผ่านกลไกการเลือกตั้ง แต่เพราะอำนาจที่วางไว้จากการรัฐประหารปี 2557 การปรับใช้เพื่อรับมือกลับพบแต่ข้อจำกัด อีกทั้ง ตัวพล.อ.ประยุทธ์ ยังคงได้รับความนิยมน้อยลงจากประชาชนเมื่อเทียบกับผู้นำฝ่ายค้านชั้นนำ และพรรคร่วมรัฐบาลของพล.อ.ประยุทธ์ที่เข้ามาในสภาด้วยวิธีการอันผิดปกติทั้งระหว่างและหลังการเลือกตั้งปี 2562 แม้ว่าจะมีอำนาจจากกองทัพหนุนหลัง แต่พรรครัฐบาลของพล.อ.ประยุทธ์ ก็ยังคงไม่เป็นที่ยอมรับ

ทั้งนี้ นักวิเคราะห์มองการรับมือของรัฐบาลไทยกับข้อมูลเกี่ยวกับการแพร่ระบาดว่า เมื่อข้อมูลออกสู่สาธารณะ บ่อยครั้งรัฐบาลจะตีความว่าเป็นข้อมูลเท็จซึ่งทำให้ประชาชนสับสนหรือประเมินการแพร่ระบาดต่ำเกินไป เจ้าหน้าที่รัฐเองก็ดูเหมือนขุ่นเคืองเมื่อพวกเขาต้องมีความโปร่งใสว่าพวกเขารับมือการแพร่ระบาดอย่างไร ผลลัพธ์ที่ได้จึงน่ากลัว เมื่อเจ้าหน้าที่ไทยเตือนว่าอาจมีการระบาดของไวรัสในศูนย์การท่องเที่ยวขนาดใหญ่เช่น กรุงเทพ และภูเก็ตซึ่งจะนำไปสู่การเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในบางกรณี ยิ่งไวรัสแพร่ระบาด การลงมืออย่างกระอักกระอ่วมของประเทศนี้ก็ยิ่งมีแต่สิ้นเปลืองต้นทุนมากขึ้น