ธปท.จ่อหั่นจีดีพีปี 63 ต่ำกว่า2.8% พิษ “ไวรัสโคโรน่า-งบฯล่าช้า-ภัยแล้ง” ทุบศก.ไทย

“ไวรัสโคโรน่า-งบฯล่าช้า-ภัยแล้ง” ทุบศก.ไทย ธปท. จ่อหั่นจีดีพีปี’63 โตต่ำกว่า 2.8% แจงเอฟเฟ็กต์แรงกระทบ “ท่องเที่ยว-บริโภค-ลงทุน” ส่อฉุดจีดีพีไตรมาสแรก ตัวเลขนักท่องเที่ยวมีแววติดลบ ส่วนเศรษฐกิจไตรมาส 4 ปีที่ผ่านมาชะลอตัวต่อเนื่อง คาดขยายตัวไม่ถึง 2.5%

นายดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ธปท.ประเมินว่าเศรษฐกิจไทย (จีดีพี) ปี 2563 มีโอกาสขยายตัวต่ำกว่าประมาณการที่ระดับ 2.8% จากปัจจัยลบเข้ามากระทบ ได้แก่ 1) การระบาดของไวรัสโคโรน่าที่กระทบภาคการท่องเที่ยว การบริโภค และการส่งออกบางส่วน 2) ความล่าช้าของการเบิกจ่ายงบประมาณปี 2563 ที่มีผลต่อการใช้จ่ายภาครัฐ และการตัดสินใจลงทุนภาคเอกชน และ 3) ภัยแล้ง ซึ่ง ธปท.จะทบทวนประมาณการอัตราการเติบโตเศรษฐกิจอีกครั้ง โดยจะเสนอรายละเอียดต่อคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ที่จะประชุมในวันที่ 5 ก.พ.นี้

สำหรับผลกระทบจากไวรัสโคโรน่า ธปท.มองว่ามีโอกาสทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวในไตรมาส 1 ติดลบ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนที่เติบโตได้ที่ 2.1% หรือมีจำนวนนักท่องเที่ยว 10.8 ล้านคน ซึ่งเป็นนักท่องเที่ยวจีนถึง 3.1 ล้านคน ทั้งนี้ โดยเฉลี่ยจะมีนักท่องเที่ยวจีนเข้าไทยประมาณ 1 ล้านคนต่อเดือน แต่สถานการณ์ไวรัสโคโรน่าระบาดน่าจะทำให้นักท่องเที่ยวจีนหายไป 1-2 ล้านคนต่อไตรมาส ส่วนงบประมาณล่าช้า หากไม่สามารถคลี่คลายได้ภายใน 2 เดือนหรือภายในเดือน เม.ย. จะส่งผลต่อเศรษฐกิจในไตรมาส 1 ให้ชะลอตัวลงลึกกว่าประมาณการเดิมที่มองไว้ว่าจะขยายตัวได้มากกว่า 2%

“เริ่มต้นปีนี้มา เศรษฐกิจก็เจอปัจจัยเสี่ยงต่อเนื่อง โดยจีดีพีที่เดิมคาดว่าจะโต2.8% เรายังไม่ได้รวมปัจจัยไวรัสโคโรน่าและงบประมาณล่าช้า ซึ่งถือเป็น 2 ปัจจัยที่มีนัยสำคัญต่อภาพรวมเศรษฐกิจของ ธปท.” นายดอนกล่าว

นายดอนกล่าวว่า ก่อนหน้านี้ในเดือน ธ.ค. 2562 เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น การส่งออกสินค้าหดตัวลดลงอยู่ที่ -1.7% จากระยะเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเดือนก่อนหน้านั้นหดตัวสูงถึง -7.7% ขณะที่การผลิตภาคอุตสาหกรรม เครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชน และการใช้จ่ายภาครัฐหดตัวน้อยลง อย่างไรก็ดี เครื่องชี้การบริโภคเอกชนขยายตัวใกล้เคียงกับเดือน พ.ย. และความเชื่อมั่นผู้บริโภคลดลงต่อเนื่อง

ขณะที่ภาพรวมเศรษฐกิจในไตรมาส 4 ปี 2562 ยังอยู่ในภาวะชะลอตัวต่อเนื่อง ทั้งการส่งออก การบริโภค รวมถึงภาคการผลิต โดยเศรษฐกิจไตรมาสดังกล่าวมีโอกาสขยายตัวต่ำกว่า 2.5%

ทั้งนี้ ธปท.ได้เริ่มเผยแพร่ข้อมูลรายละเอียดเงินให้กู้ยืมแก่ภาคครัวเรือน ณ สิ้นไตรมาส 3/2562 พบว่า มียอดคงค้างอยู่ที่ 13.2 ล้านล้านบาท คิดเป็น 79.1% ของจีดีพี ขยายตัว 5.5% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

อย่างไรก็ตาม สัดส่วนของเงินให้กู้ยืมแก่ภาคครัวเรือน ล่าสุด โดยประมาณ 1 ใน 3 เป็นการกู้ยืมเพื่อซื้ออสังหาริมทรัพย์ รองลงมาเป็นการกู้ไปเพื่อกินเพื่อใช้เพื่อการประกอบอาชีพ และเพื่อซื้อหรือเช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์ ในอัตรา 20%, 18% และ 13% ตามลำดับ

นายกอบศักดิ์กล่าวว่า สำหรับตัวเลขจีดีพีไตรมาส 4/2562 และเป้าหมายปี’63 นั้น ไตรมาส 4 มีตัวเลขอ่อนลงกว่าที่คาดการณ์ไว้ ทำให้แนวโน้มเศรษฐกิจปี’63 แผ่วลงกว่าคาดการณ์ เช่น MPI งบลงทุนไม่เป็นไปตามเป้าเพราะงบประมาณปี’63 ล่าช้า และปัญหาภัยแล้ง นอกจากนี้สภาพัฒน์ประเมินเศรษฐกิจปี’63 มีปัจจัยเสี่ยงเรื่องงบประมาณปี’63 ล้าช้า ไวรัสโคโรน่า และภัยแล้ง รวมถึงปัญหาเศรษฐกิจโลกถดถอย ทำให้ตัวเลขจีดีพีปี’63 ต่ำกว่าคาดการณ์ไว้ที่ 2.7-3.7%