สธ.แถลงผู้ป่วยติดเชื้อ 1 ราย หายดีแล้ว ยอดเฝ้าระวัง 202 ราย รอผลแล็บ “2คนขับแท็กซี่”

เมื่อวันที่ 30 มกราคม ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อทั่วไป ในฐานะผู้บัญชาการศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉิน พร้อมด้วย นพ.วิทูรย์ อนันกุล ผู้อำนวยการกองสาธารณสุขฉุกเฉิน แถลงความคืบหน้าของสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคปอดอักเสบจากเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019

นพ.โสภณ แถลงว่า สถานการณ์ถึงวันที่ 30 มกราคม ข้อมูล เวลา 08.00 น. ยังคงพบผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อจากต่างประเทศ 14 ราย ที่รักษาตัวอยู่ที่สถาบันบำราศนราดูร ซึ่งในจำนวนนี้แพทย์อนุญาตให้กลับบ้านเพิ่มอีก 1 ราย รวมเป็นจำนวนทั้งหมด 6 ราย อีก 8 ราย ยังอยู่ในการรักษาที่โรงพยาบาล (รพ.) ยืนยันว่ายังไม่มีผู้ป่วยติดเชื้อในประเทศไทย ทั้งนี้มีผู้ป่วยเข้าเกณฑ์สอบสวนโรคต้องเฝ้าระวัง ตั้งแต่วันที่ 3-29 มกราคม มีผู้ป่วยเข้าเกณฑ์สอบสวนต้องเฝ้าระวังสะสมทั้งหมด 202 ราย เป็นการคัดกรองจากสนามบิน 31 ราย ไปขอรับการรักษาที่โรงพยาบาลด้วยตัวเอง 171 ราย อนุญาตให้กลับบ้านได้แล้ว 67 ราย ส่วนใหญ่ติดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล ยังคงรักษาในโรงพยาบาล 135 ราย โดยในวันที่ 29 มกราคม พบผู้ป่วยเช้าเกณฑ์สอบสวนโรค รายใหม่ จำนวน 44 ราย

นพ.โสภณ กล่าวถึงสถานการณ์ทั่วโลกใน 17 ประเทศ และ 2 เขตปกครองพิเศษ ข้อมูลตั้งแต่วันที่ 5 – 29 มกราคม พบผู้ป่วย 6,066 ราย ส่วนสาธารณรัฐประชาชนจีน ข้อมูลเมื่อวันที่ 27 มกราคม พบผู้ป่วย 5,974 ราย เสียชีวิต 132 ราย และผลการดำเนินงานที่ด่านควบคุมโรคจากการตรวจคัดกรอง 5 สนามบิน ได้แก่ สนามบินสุวรรณภูมิ ดอนเมือง เชียงใหม่ ภูเก็ต กระบี่ ได้ตรวจคัดกรองผู้เดินทางเข้าประเทศด้วยเครื่องวัดอุณหภูมิ สะสมตั้งแต่วันที่ 3-25 มกราคม จำนวน 137 เที่ยวบิน คัดกรองผู้โดยสารและลูกเรือ จำนวน 21,522 คน นอกจากนี้ ในวันที่ 24-29 มกราคม ท่าอากาศยานเชียงราย ท่าอากาศยานเชียงใหม่ ท่าอากาศยานภูเก็ต ท่าอากาศยานกระบี่ ท่าอากาศยานดอนเมือง และท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ คัดกรองผู้โดยสารสายการบิน จากประเทศจีน 92 เที่ยวบิน ผู้เดินทางและลูกเรือได้รับการคัดกรอง จำนวน 6,953 ราย สธ.ได้จัดเจ้าหน้าที่หมุนเวียนไปสนับสนุนเจ้าหน้าที่ที่ด่าน เพื่อให้การทำงานมีประสิทธิภาพตลอด 24 ชั่วโมง ทั้งนี้นักท่องเที่ยวทุกคนจะได้รับแจกคำแนะนำสุขภาพ (health beware card) จากเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมือง และเจ้าหน้าที่ด่านควบคุมโรค

ผู้สื่อข่าวถามว่าข่าวที่ลือว่าขณะนี้มีคนขับรถแท็กซี่รับส่งผู้โดยสารในประเทศไทย ติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 มีข้อเท็จจริงอย่างไร นพ.โสภณ กล่าวว่า ขณะนี้มีผู้ป่วยเข้าเกณฑ์สอบสวนต้องเฝ้าระวังสะสมทั้งหมด 202 ราย ซึ่งมีคนไทยอยู่ในกลุ่มนี้จำนวนหนึ่งที่มาจากหลากหลายอาชีพ โดยเป็นคนขับแท็กซี่อยู่ในจำนวนนี้ 2 ราย ซึ่งหากเป็นอาชีพทำงานบริการก็จะหลีกเลี่ยงได้ยากที่จะไม่นักท่องเที่ยวต่างชาติ ดังนั้นกลุ่มนี้จึงอยู่ในกลุ่มที่เข้าเกณฑ์การสวบสวน คาดว่าภายใน 2 วันนี้ ผลการตรวจจากห้องปฏิบัติการที่กรมการแพทย์ และโรงพยาบาล (รพ.) จุฬาลงกรณ์ ที่เป็นศูนย์โรคอุบัติใหม่ จะทยอยออกมา หากมีผลการตรวจพบเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่2019 จากทั้ง 2 แห่ง จึงจะสามารถยืนยันได้

เมื่อถามว่าคนขับรถแท็กซี่ที่เป็นผู้ป่วยเข้าเกณฑ์การสวบสวน ได้เข้ารับการตรวจรักษาโรคตั้งแต่เมื่อใดนพ.โสภณ กล่าวว่า ทั้ง 2 รายเข้ารับการรักษาเมื่อ 2 วันที่แล้ว ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างการดูแลรักษา โดยอาการของทั้ง 2 ราย ไม่มีความรุนแรง เนื่องจากผู้ป่วยพบว่ามีอาการไข้ และอาการของระบบทางเดินหายใจ จึงตัดสินใจเข้าไปตรวจที่โรงพยาบาล ดังนั้นจึงจะต้องใช้เวลาในการรักษาประมาณหนึ่ง แต่ผลการรักษาขณะนี้ไม่มีความน่าเป็นกังวล เนื่องจากอาการไม่หนัก ซึ่งเหมือนกันกับผู้ป่วยที่ยืนยันการติดเชื้อทั้ง 14 ราย ที่มีการตรวจพบผู้ป่วยตั้งแต่เริ่มมีอาการ การรักษาจึงได้ผลดี แพทย์สามารถดูแลได้อย่างใกล้ชิดตลอดเวลา เช่น การดูแลสัญญาณชีพ อุณหภูมิร่างกาย ชีพจร ความดัน ดังนั้นจึงไม่มีความน่ากังวลแต่อย่างใด

นพ.โสภณ กล่าวถึงกรณีการติดต่อจากคนสู่คน ว่า ขณะนี้มีอย่างน้อย 4 ประเทศ ที่มีการรายงานว่าพบคนในพื้นที่ที่ไม่ได้เดินทางไปยังประเทศจีน แต่มีการติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 กรณีแรกพบที่ประเทศญี่ปุ่น โดยเป็นคนขับรถโดยสารรับส่งนักท่องเที่ยวชาวจีน กรณีที่ 2 ประเทศเวียดนาม ที่เกิดการติดต่อในครอบครัวโดยลูกสาวซึ่งเป็นสมาชิกในบ้านที่ไม่ได้เดินทางไปยังประเทศจีน แต่ได้รับเชื้อไวรัสจากพ่อที่เดินทางกลับมาจากประเทศจีน กรณีที่ 3 ประเทศเยอรมนีที่เป็นนักธุรกิจเดินทางไปประชุมที่ประเทศเยอรมนี กรณีที่ 4 ที่ไต้หวัน ดังนั้นจะเห็นได้ว่าเป็นกรณีที่เกิดขึ้นได้จากการอยู่ใกล้ชิดมาก เพราะฉะนั้นความเสี่ยงสามารถเกิดขึ้นได้ปกติ แต่ในความเสี่ยงที่ไม่ได้เกิดขึ้นในครอบครัวจะมีความเสี่ยงน้อยกว่า ซึ่งคล้ายกับโรคไข้หวัดใหญ่ที่สามารถติดต่อได้หากมีการสัมผัสใกล้ชิด ดังนั้นจึงต้องสวมหน้ากากอนามัยป้องกันสำหรับผู้ที่ป่วยและยังไม่ป่วย โดยทั้ง 4 รายที่ติดต่อจากคนสู่คน มีอาการที่ไม่รุนแรงเนื่องจากมีปริมาณเชื้อที่น้อยและเป็นระยะแรกของการป่วย

“เรื่องนี้เป็นธรรมชาติของการเกิดโรค จะต้องติดตามเป็นระยะ แต่แนวโน้มตั้งแต่วันแรกจนถึงวันนี้ ความรุนแรงของโรคลดลง จากวันแรกที่ดูน่ากลัวมาก วันนี้พบแล้วว่าการป่วย การตายเจอในคนที่มีความเสี่ยงสูง เหมือนไข้หวัดใหญ่ที่หากอายุมาก เป็นเบาหวาน ความดันสูง โรคหัวใจ โรคไต ก็จะมีโอกาสเสี่ยงมากกว่า” นพ.โสภณ กล่าว