“ศักดิ์สยาม”สั่งกรมราง เร่งศึกษาจุดตัดระบบราง รถไฟระนอง-ชุมพร เชื่อมสองฝั่งทะเล

“ศักดิ์สยาม”  วางยุทธศาสตร์ทั่วประเทศ-เชื่อมเพื่อนบ้าน เร่งศึกษาจุดตัดระบบราง-รถไฟระนอง-ชุมพร-แลนด์บริดจ์เชื่อมสองฝั่งทะเล

ที่กรมการขนส่งทางราง นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้ตรวจเยี่ยมและมอบนโยบายแก่กรมการขนส่งทางราง โดยนายศักดิ์สยาม เปิดเผยว่า ขณะนี้พระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.) การขนส่งทางราง พ.ศ. … อยู่ในขั้นตอนขั้นตอนคณะกรรมการกฤษฎีกา คาดว่าจะส่งกลับมาให้กระทรวงฯ ช่วงเดือนเมษายน ซึ่งจะนำเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) และประกาศเป็นกฎหมายต่อไป อย่างไรก็ดี ได้มอบนโยบายให้กรมรางที่ทำหน้าที่เป็นหน่วยงานกำกับดูแล(เรกูเรเตอร์) ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับรางทั้งหมด ทั้งรัฐและเอกชน ให้มีการวางยุทธศาสตร์ระบบขนส่งทางรางให้สมบูรณ์ทั่วประเทศและมีการเชื่อมต่อกับต่างประเทศเพราะไทยเป็นประเทศศูนย์กลางในภูมิภาค รวมทั้ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้นโยบายการพัฒนาระบบรางด้วยการสร้างเน็ตเวิร์คเพื่อกระจายการพัฒนา โดยโครงการหนึ่งที่นายกรัฐมนตรีอยากให้มีการเร่งรัดศึกษาคือ โครงการรถไฟสายชุมพร-ระนอง ซึ่งจะสามารถเชื่อมต่อทางน้ำกับโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(อีอีซี) ได้ด้วย โดยโครงการนี้ขอจัดสรรงบประมาณไปในงบปี 2563 แต่สำนักงบประมาณให้ชะลอไปก่อน และในปี 2564 ไม่ได้ของบประมาณจะไปขอในปี 2565 นายกรัฐมนตรีสั่งให้กระทรวงฯ ของบกลางปี 2563เพิ่อดำเนินการ ซึ่งงบประมาณโครงการนี้เพื่อศึกษาและอกแบบอยู่ที่ 90 ล้านบาท และให้กรมการขนส่งทางรางและกรมเจ้าท่า เร่งศึกษารถไฟทางคู่ชุมพร-ท่าเรือน้ำลึกระนอง–ชุมพร ซึ่งจะเป็นโครงการสะพานเศรษฐกิจเชื่อมสองฝั่งทะเลอ่าวไทยและอันดามัน (แลนด์บริดจ์) ซึ่งอาจจะขยับแนวให้เหมาะสมไปในพื้นที่ที่ประชาชนให้ความร่วมมือ ทั้งนี้ อยากให้โครงการต่างๆ ที่จะดำเนินการต้องโปร่งใส อธิบายแก่ทั่วโลกและประชาชนไทยได้ว่ามีกำลังพัฒนาอะไร มีแนวทางอย่างไร เปิดใจรับฟังความคิดเห็นทุกภาคส่วน เพื่อให้การพัฒนาระบบรางตอบโจทย์ทั้งด้านการคมนาคมของคนและการขนส่งสินค้า

นายศักดิ์สยาม กล่าวว่า ได้สั่งการให้กรมการขนส่งทางราง มีการศึกษา 2 เรื่องได้แก่ 1.จุดตัดระบบรางและการจราจรต่างๆ ว่าจะแก้ไขหรือยกระดับอย่างไร เพราะอาจจะมีผลต่อกระทบให้การจราจรติดขัดหรืออุบัติเหตุ และ2.ให้วางนโยบายให้หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับกรมการขนส่งทางรางให้มีการดำเนินการที่บูรณาการกัน และมีการนำเทคโนโลยี ระบบและซอฟแวร์ เช่น เอไอ ที่ทันสมัยเข้ามาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของบุคคลากร