นักวิชาการด้านรธน. ชี้ คำร้องพรรคร่วมรบ.ยื่นศาลวินิจฉัย ไม่สอดคล้องหลักการ ม.148

OLYMPUS DIGITAL CAMERA

เมื่อวันที่ 27 มกราคม ผศ.ดร.พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย อ.คณะนิติศาสตร์ สาขากฎหมายมหาชน จุฬาฯ โพสต์ข้อความแสดงความเห็น กรณีการส่งศาลรธน.ให้ตีความวินิจฉัยหลังมีปัญหาการเปิดเผยข้อมูลการกดบัตรแทนกันในขั้นตอนโหวตพรบ.งบ ว่าขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ โดยระบุว่า

หากเนื้อความที่ปรากฏอยู่ตามสื่อต่างๆ สรุปมาได้อย่างถูกต้อง กรณีพรรคร่วมรัฐบาลที่มีการทำหนังสือส่งไปยังประธานสภาผู้แทนราษฎรเพื่อยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัย พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 โดยตั้งเป็นประเด็นไว้ 3  ประเด็น สรุปความได้ว่า 1.กระบวนการตราขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ 2.หากขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญจะตกไปทั้งฉบับ หรือเฉพาะมาตรา และจะถือว่าสภาพิจารณาไม่แล้วเสร็จภายใน 105 วัน ตามเงื่อนไขกรณีการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ และ 3.หากร่างตกไปทั้งฉบับ หรือบางมาตราจะต้องดำเนินการอย่างไร

ด้วยความเคารพ ผมเห็นว่าการทำคำร้องข้างต้นไม่น่าจะสอดคล้องกับหลักการใน ม.148 ของรัฐธรรมนูญที่มีลักษณะเป็นการที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเห็นว่าร่างกฎหมายขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญเพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย “ความมีอยู่ของร่างกฎหมาย” ดังกล่าวตามหลักการตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมาย หาใช่การทำคำร้องในลักษณะของการ “สอบถามความเห็นทางกฎหมาย” (Legal advisory opinion)

อย่างไรก็ดี ลักษณะของการทำคำร้อง หรือหนังสือเพื่อสอบถามความเห็นทางกฎหมายต่อศาลรัฐธรรมนูญนั้นสามารถกระทำได้ในกรณีที่รัฐธรรมนูญมีการบัญญัติเขตอำนาจศาลรัฐธรรมนูญไว้ตามมาตรา 210 อาทิ กรณีปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งเป็นคนละช่องทางกับกรณีที่กำลังดำเนินการครับผม